‘วัฒนธรรมขงจื๊อ’ สิ่งที่ทำให้เอเชียก้าวสู่ ‘ผู้นำชิป’ จนแซงหน้าตะวันตก

‘วัฒนธรรมขงจื๊อ’ สิ่งที่ทำให้เอเชียก้าวสู่ ‘ผู้นำชิป’ จนแซงหน้าตะวันตก

แม้ “แนวคิดขงจื๊อ” อาจถูกบางส่วนมองว่า มีส่วนให้เกิดสังคมชายเป็นใหญ่ขึ้นในเอเชีย แต่ในอีกด้านหนึ่งของเหรียญ วัฒนธรรมนี้ก็เป็น “หัวใจสำคัญ” ที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กรด้านชิปในเอเชีย ไม่ว่า TSMC และ Samsung ให้รุดหน้า จนโดดเด่นเหนือฝั่งตะวันตกในปัจจุบัน

KEY

POINTS

  • บริษัท TSMC ของไต้หวัน ครองส่วนแบ่งตลาดผลิตชิปอันดับ 1 มากถึง 61.2% ของทั้งโลก และ Samsung ผู้ผลิตชิปจากเกาหลีใต้ มาเป็นอันดับ 2 ที่ 11.3%  
  • สิ่งที่ยากที่สุดในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์คือ กระบวนการผลิตที่ “มีมากกว่า 1,500 ขั้นตอน” ทุกขั้นตอนต้องการความแม่นยำสูง ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ของบุคลากร
  • ไต้หวัน” และ “เกาหลีใต้” เหมาะเป็นแหล่งผลิตชิปมากที่สุด เพราะมีกลุ่มบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี และมีพื้นฐานด้านวิศวกรรมที่แข็งแกร่ง

ท่ามกลางสมรภูมิชิปที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด หากเอ่ยถึงบริษัทชิปที่โด่งดังอันดับต้น ๆ ของโลก ชื่อแรกที่อาจโผล่ขึ้นมาในใจเราคือ “TSMC” บริษัทผลิตชิปของไต้หวันนั่นเอง ซึ่งขายชิปให้กับคนครึ่งโลกและยังเป็นผู้ผลิตส่วนมันสมองให้ Apple ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของสหรัฐ

คำถามต่อมาคือ อะไรทำให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ขึ้นมาโดดเด่นในแถบเอเชียนี้ แทนที่จะเป็นฝั่งตะวันตก ดังจะเห็นจากบริษัท TSMC ของไต้หวันครองส่วนแบ่งตลาดผลิตชิปอันดับ 1 มากถึง 61.2% ของทั้งโลก, Samsung ผู้ผลิตชิปจากเกาหลีใต้ มาเป็นอันดับ 2 ที่ 11.3%  หรือแม้แต่ SMIC ของจีนที่ 5.2% ก็กำลังมาแรงจนเป็นที่น่าจับตา

สำหรับคำตอบของเรื่องนี้ คอนราด ยัง (Konrad Young) ศาสตราจารย์บัณฑิตวิทยาลัยเทคโนโลยีขั้นสูงและโปรแกรมการเป็นผู้นำ แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ได้เผยความลับว่า “จุดสำคัญ” ที่ทำให้เอเชียขึ้นมาผงาดด้านชิปแทนฝั่งตะวันตกได้นั้น เป็นเพราะ “วัฒนธรรมขงจื๊อ”

‘วัฒนธรรมขงจื๊อ’ สิ่งที่ทำให้เอเชียก้าวสู่ ‘ผู้นำชิป’ จนแซงหน้าตะวันตก

- Konrad Young (เครดิต: DSET) -

วัฒนธรรมขงจื๊อ ช่วยดันเอเชียเป็นฮับด้านชิป

สำหรับ “แนวคิดแบบขงจื๊อ” แม้บางคนอาจมองว่า มีส่วนให้เกิด “สังคมชายเป็นใหญ่” ขึ้นในเอเชีย ไม่ว่าในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน

แต่ในอีกด้านหนึ่งของเหรียญ วัฒนธรรมนี้ก็เป็น “หัวใจสำคัญ” ที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กรด้านชิปในภูมิภาค ไม่ว่า TSMC และ Samsung ให้รุดหน้า จนโดดเด่นกว่าฝั่งตะวันตกในปัจจุบัน

ยังกล่าวว่า สิ่งที่ยากที่สุดในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์คือ กระบวนการผลิตที่มี “มากกว่า 1,500 ขั้นตอน” ทุกขั้นตอนต้องการความแม่นยำสูง ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ของบุคลากร

ด้วยเหตุนี้ วัฒนธรรมขงจื๊อที่ปลูกฝังสังคมให้ยึดกฎเกณฑ์ประเพณี ผู้น้อยเคารพผู้อาวุโสกว่า และเน้นความสามัคคีกลมเกลียว ร่วมแรงร่วมใจกัน จึงมีส่วนช่วยให้การผลิตชิปแต่ละขั้นตอนที่ซับซ้อนในองค์กร เป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นระเบียบเรียบร้อย

“การผลิตชิปมีกระบวนการที่ซับซ้อน ทุกอย่างต้องถูกต้อง ไม่ใช่เรื่องของการโต้เถียงกันมากมาย ทุกขั้นตอนต้องการความแม่นยำสูงและบุคลากรที่ฝึกฝนมาอย่างดี ปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ได้ชิปที่มีคุณภาพ” ยังกล่าว

‘วัฒนธรรมขงจื๊อ’ สิ่งที่ทำให้เอเชียก้าวสู่ ‘ผู้นำชิป’ จนแซงหน้าตะวันตก

‘วัฒนธรรมขงจื๊อ’ สิ่งที่ทำให้เอเชียก้าวสู่ ‘ผู้นำชิป’ จนแซงหน้าตะวันตก

- กระบวนการผลิตชิป (เครดิต: TSMC) -

สำหรับยัง ประสบการณ์ที่ผ่านมาของเขา เคยทำงานในบริษัทผลิตชิปในสหรัฐ สิงคโปร์ ไต้หวัน และจีน รวมถึงในบริษัท HP, Chartered Semiconductor Manufacturing (ปัจจุบันคือ Globalfoundries) และ Taiwan Semiconductor Manufacturing Co. (TSMC)

นอกจากนี้เขายังเคยดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระของ Semiconductor Manufacturing International Co. (SMIC) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิปอันดับต้น ๆ ของจีน และเคยได้รับว่าจ้างให้เป็นที่ปรึกษาของ Intel ในด้านการผลิตด้วย

“ไต้หวัน” และ “เกาหลีใต้” เหมาะเป็นแหล่งผลิตชิปมากที่สุด

นอกจากนั้น ยังมองว่า “ไต้หวัน” และ “เกาหลีใต้” เป็นสองพื้นที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ เพราะมีกลุ่มบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี มีพื้นฐานด้านวิศวกรรมที่แข็งแกร่ง พวกเขายินดีที่จะปฏิบัติตามคำสั่งและทำงานล่วงเวลา เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี

ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่น” ก็มีวัฒนธรรมการทำงานที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งอาจส่งผลดีต่อความพยายามฟื้นฟูอุตสาหกรรมชิปของประเทศ

ยังชี้ว่า ประเทศเหล่านี้ได้รับการอบรมด้วยวัฒนธรรมขงจื๊อ ซึ่งเน้นย้ำเรื่องการเคารพผู้อาวุโส อาจารย์ผู้มีประสบการณ์ และการรักษาประเพณี นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นไปที่ความกลมกลืนทางสังคมและการรวมกลุ่ม ซึ่งให้ความสำคัญของ “กลุ่ม” ก่อน “ส่วนบุคคล” จนช่วยให้เอเชียกลายเป็นฮับผลิตชิปที่สำคัญของโลกขึ้น

ในทางตรงกันข้าม วัฒนธรรมตะวันตกมี “ความเป็นปัจเจก” ที่สูงกว่าแถบเอเชีย โดยให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม การถกเถียง และการคิดอย่างอิสระ ซึ่งช่วยในการสร้างสรรค์อุตสาหกรรมใหม่ ๆ

"เงินเดือนน้อย" ฉุดรั้งอุตสาหกรรมชิปสหรัฐ

นอกจากเรื่องวัฒนธรรมขงจื๊อในแถบเอเชียแล้ว อีกปัจจัยที่ทำให้สหรัฐไม่ก้าวหน้าด้านชิปเท่าที่ควรคือ “เงินเดือนวิศวกรผลิตชิป” ยังไม่จูงใจมากพอ โดยข้อมูลจาก Glassdoor เว็บไซต์แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างพนักงานบริษัทต่าง ๆ ระบุว่า เงินเดือนเฉลี่ยของวิศวกรผลิตชิปในสหรัฐอยู่ที่ 144,000 ดอลลาร์ต่อปี ซึ่งน้อยกว่าเงินเดือนวิศวกรซอฟต์แวร์ที่ 145,000 ดอลลาร์ต่อปี ทั้งที่การผลิตชิปเป็นงานที่ค่อนข้างหนัก

ยังเล่าต่อว่า แม้แต่จีนเองก็กำลังเผชิญปัญหานี้เช่นกัน เนื่องจากบัณฑิตจบใหม่ที่มีความสามารถจากมหาวิทยาลัยชั้นนำจำนวนมาก เลือกที่จะสมัครงานอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เสนอเงินเดือนที่สูงกว่าอุตสาหกรรมชิป เช่น อุตสาหกรรมการเงินและอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลจีนกำลังเร่งแก้ไข

จากเรื่องราวดังกล่าว สะท้อนให้เห็นพลังของ "วัฒนธรรมขงจื๊อ" ที่ช่วยหล่อหลอมให้ “เอเชีย” ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมชิปโลก วัฒนธรรมอันล้ำค่านี้ เน้นย้ำถึงการยึดมั่นในวินัย เคารพผู้เปี่ยมประสบการณ์ และความสามัคคี จนกลายเป็นรากฐานสำคัญที่ขับเคลื่อนความสำเร็จด้านชิปในปัจจุบัน

อ้างอิง: statistanikkeibritannica