ทำไม ‘Intel’ ตกจากบัลลังก์ราชาบริษัทชิป สู่ยุคขาดทุน 2.5 แสนล้านบาท
เปิดสาเหตุที่ฉุดผลประกอบการ “Intel” จากยุคที่เคยรุ่งเรืองแห่งวงการ IT อุปกรณ์ส่วนใหญ่ก็ต้องมีชิปนี้ สู่ยุคขาดทุน 2.5 แสนล้านบาท
KEY
POINTS
- Intel ขาดทุนด้านการผลิตชิปราว 256,000 ล้านบาทในปี 2566 ซึ่ง “หนักกว่า” ปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ราว 190,000 ล้านบาท
- ยอดขายพีซีทั่วโลกในไตรมาส 4 ของปี 2565 ลดลง 28.1% จากปีที่แล้ว และในไตรมาส 4 ของปี 2566 ตัวเลขนี้ได้ลดลง 2.7% จากปีก่อนหน้า
- เหตุผลที่ AI ต้องใช้ “GPU” แทนที่จะเป็น “CPU” ก็เพราะ GPU ประมวลผลคู่ขนานพร้อมกันที่เหนือกว่า และรวดเร็วกว่าตัว CPU
หากย้อนนึกถึงในสมัยก่อน ชื่อของ “อินเทล” (Intel) ถือว่าโด่งดังมาก ในคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊คจะเห็นแบรนด์นี้ติดที่เครื่องเสมอภายใต้แคมเปญ Intel Inside ซึ่ง Intel เป็นผู้ผลิต “CPU” หรือส่วนมันสมองอันเป็นส่วนสำคัญที่สุดของคอมพิวเตอร์ จนเป็นแบรนด์แห่งความล้ำสมัยและอัจฉริยะแห่งยุค
แต่ในปัจจุบัน แบรนด์ “Intel” กลับค่อย ๆ จางลงจากสาธารณะ และถูกแทนที่ด้วยชื่อ อินวิเดีย (Nvidia) ผู้ผลิตชิปประมวลผลกราฟิกแทน ที่สำคัญ รายได้ของ Intel ก็ลดลงด้วย โดยรายได้ในปี 2566 เป็น 18,900 ล้านดอลลาร์ “ลดลง 31%” จาก 27,490 ล้านดอลลาร์ของปีที่แล้ว
ส่วนผลการดำเนินงานในส่วนผลิตชิป กลับประสบปัญหา “ขาดทุน” กว่า 7,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 256,000 ล้านบาทในปี 2566 ซึ่ง “หนักกว่า” ปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 5,200 ล้านดอลลาร์ หรือราว 190,000 ล้านบาท
อะไรทำให้ผู้ผลิต CPU รายใหญ่นี้จากที่เคยรุ่งเรืองสุดขีด กลับพลิกมาสู่จุดขาดทุน 256,000 ล้านบาทเช่นนี้
- ส่วนมันสมองคอมพิวเตอร์ (เครดิต: Intel) -
ยอดขาย PC ตก บีบรายได้ Intel
สำหรับ CPU ของ Intel นั้นถูกใช้ในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือ พีซี (PC) มากที่สุด ย้อนไปในช่วงการระบาดโควิด-19 วิถีชีวิตเปลี่ยนเป็นการทำงานออนไลน์ ยอดขายคอมฯจึงสูงขึ้น แต่เมื่อโควิด-19 เริ่มหายไป ยอดขายพีซีจึงพลิกกลับมาร่วง เห็นได้จากข้อมูลของสถาบันวิจัยตลาด International Data Corp ระบุว่า ยอดขายพีซีทั่วโลกในไตรมาส 4 ของปี 2565 ลดลง 28.1% จากปีที่แล้ว และในไตรมาส 4 ของปี 2566 ตัวเลขนี้ได้ลดลง 2.7% จากปีก่อนหน้า
ไม่เพียงเท่านั้น ผู้คนสมัยนี้หันมาใช้สิ่งที่เล็กลง และพกพาสะดวกอย่าง “สมาร์ทโฟน” และ “แท็บเล็ต” แทน อีกทั้งใช้งานได้คล้ายคอมตั้งโต๊ะและโน้ตบุ๊กด้วย โดยอุปกรณ์พกพาเหล่านี้ไม่ได้ใช้ชิป CPU ของ Intel เป็นมันสมอง แต่ใช้ชิปของบริษัท “ARM” แทน ซึ่งถูกสร้างให้มีความซับซ้อนทางชุดคำสั่งน้อยลง จนมีขนาดเล็กกว่า และใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยกว่าชิป Intel นับว่าเหมาะอย่างยิ่งกับสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตที่มีขนาดเล็ก และไม่ได้เสียบปลั๊กตลอดเหมือนคอมพิวเตอร์
ยิ่งไปกว่านั้น ตั้งแต่ปี 2563 เครื่อง Mac ของ Apple ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีสหรัฐที่เคยใช้ชิป Intel เป็นมันสมองมาตลอด ก็เปลี่ยนเป็นใช้ชิป “M1” และ “M2 Ultra” ที่ตัวเองออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมแบบ ARM แทน
- M2 Ultra ของ Apple ในสถาปัตยกรรมแบบ ARM (เครดิต: Apple) -
ด้วยเหตุนี้ ยอดขายสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตโต แต่ PC กลับลดลง ประกอบกับ Apple หันมาใช้ชิปในแบบ ARM แทน จึงเป็นปัจจัยกดดันรายได้ Intel นั่นเอง
กระแส AI บูม แต่ Intel กลับไม่ค่อยได้อานิสงส์
ยุคหลังโควิดนี้ “ปัญญาประดิษฐ์” (AI) ถือเป็นคำฮิตที่ใคร ๆ ต่างกล่าวถึง ไม่ว่าเป็นบริษัทใดก็ตาม ต่างก็หันมาใช้ AI เป็นตัวช่วยการทำงานให้สะดวกขึ้น กระแสอันร้อนแรงเช่นนี้ จึงทำให้ราคาหุ้น Nvidia ขึ้นทะยาน 83% นับตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงปัจจุบัน นั่นเพราะบริษัทนี้ผลิตชิปประมวลผลกราฟิก (GPU) ที่จำเป็นต่อ AI ในการประมวลผล โดยบริษัทด้านการวิจัยอิเล็กทรอนิกส์ TrendForce คาดการณ์ว่า แชตบอตชื่อดังอย่าง ChatGPT ต้องใช้ชิป GPU A100 มากกว่า 30,000 ตัวเพื่อรองรับเครือข่าย และการประมวลผลที่รวดเร็ว
- NVIDIA A100 GPU (เครดิต: Nvidia) -
คำถามสำคัญ คือ ทำไมเวลา AI ประมวลผลต้องใช้ “GPU” แทนที่จะเป็น “CPU” คำตอบเป็นเพราะ GPU เป็นการประมวลผลคู่ขนานพร้อมกัน (Parallel) ที่เหนือกว่า และรวดเร็วกว่าตัว CPU โดยเจนเซน หวง (Jensen Huang) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ Nvidia เปรียบการใช้ GPU ว่า “เหมือนการใช้ทหารจำนวนหลายร้อยหลายพันคน ยิงทำลายเป้าหมายเดียวพร้อมกัน”
นั่นจึงทำให้ Nvidia ขึ้นมามีมูลค่าตลาดสูงเป็นอันดับ 3 ของโลกที่ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ สวนทางผลประกอบ Intel ที่ถดถอยลง
Intel ลงทุนกับเครื่อง EUV ช้าไป
ปัญหาสำคัญที่แพท เกลซิงเกอร์ (Pat Gelsinger) ซีอีโอของ Intel เผยถึงผลประกอบการที่ขาดทุนล่าสุดนั้น เป็นเพราะบริษัท “ปรับตัวช้าเกินไป” ไม่รีบลงทุนกับเครื่องจักร Extreme Ultraviolet Lithography (EUV) ในการผลิตชิปขั้นสูงตั้งแต่ปีที่แล้ว จริงอยู่ที่เครื่องของบริษัท ASML จากเนเธอร์แลนด์นี้แพงถึง 150 ล้านดอลลาร์ หรือราว 5,500 ล้านบาท แต่สามารถผลิตชิปที่ “คุ้มกับต้นทุน” ได้มากกว่าเครื่องจักรแบบก่อน
- เครื่อง Extreme Ultraviolet Lithography (เครดิต: ASML) -
ปัจจุบัน บริษัทพยายามนำเครื่อง EUV มาใช้งานมากขึ้น และคาดว่าจะช่วยให้บริษัทกลับมาสู่จุดคุ้มทุนได้ในราวปี 2570 จุดที่น่าสนใจ คือ การทุ่มลงทุน 100,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 3.6 ล้านล้านบาทของ Intel ในการสร้างโรงงานชิปใน 4 มลรัฐของสหรัฐ เพื่อเร่งกำลังการผลิต และให้สามารถตามทันคู่แข่งอย่าง TSMC และ Samsung ที่ขยายโรงงานผลิตเช่นกัน สิ่งนี้จะช่วยพลิกบริษัทให้กลับมาเติบโตอีกครั้งได้หรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่น่าติดตามอย่างยิ่ง
อ้างอิง: barrons, barrons(2), forbes, apple, cnbc, cnbc(2), reuters, idc