'พัชรวาท'ยัน ดูแลชาวบ้านไม่ให้กระทบปมเฉือนอุทยานฯทับลาน หลังถูกคัดค้าน
“พัชรวาท” ยัน ดูแลชาวบ้านดั้งเดิมในพื้นที่ ไม่ให้กระทบการจัดสรรพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน หลัง ประชาชนคัดค้าน ขณะที่ อธิบดีกรมอุทยานฯ ย้ำ ทำทุกอย่างตามความถูกต้อง
เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 67 เวลา 9.30น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ใช้แผนที่ ONE MAP ปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี 2543 พื้นที่ป่าทับลาน เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ว่า ขณะนี้กำลังทำประชาพิจารณาอยู่ ซึ่งจะจัดการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หรือ วันที่ 12 ก.ค.นี้ เนื่องจากเป็นที่ของชาวบ้านประมาณ 50,000 ไร่ ฉะนั้นเราจะดูแลชาวบ้านเป็นอย่างดี ส่วนจำนวน 2.6 แสนล้านไร่ คือจำนวนพื้นที่ทั้งหมดของอุทยานแห่งชาติทับลาน ดังนั้นจะต้องคืนพื้นที่เท่าใด คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ จะเป็นผู้พิจารณา
ส่วนกรณีที่ตอนนี้สังคมไม่เห็นด้วยนั้น พลตำรวจเอกพัชรวาท กล่าวว่าหากใครไม่เห็นด้วยก็รับฟังและจะนำไปพิจารณาทีหลัง
ขณะที่ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวเสริมว่า พื้นที่ดังกล่าวก่อนที่จะเป็นพื้นที่อุทยานเป็นป่าสงวนมาก่อน ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนาพื้นที่ให้ประชาชนเข้าไปอยู่ประมาณ 50,000 ไร่ แต่หลังจากนั้นได้มีการประกาศให้เป็นพื้นที่อุทยานฯไปทับพื้นที่ดังกล่าว จึงต้องยอมรับว่าเป็นข้อบกพร่องของกรมป่าไม้ในอดีต ซึ่งได้มีการเรียกร้องให้มีการกันพื้นที่ออก จึงได้มีการสำรวจกัน และมีมติครม.ปี 41 ออกมา จากนั้น สำรวจอีกทีในปี 43 ให้กำหนดแนวเขต พื้นที่ตรงนี้ขึ้นมาใหม่ แต่การสำรวจในปี 43 ยังไม่ไปถึงจุดสิ้นสุดของกฎหมาย ส่งผลให้สถานภาพยังคงเป็นป่าในพื้นที่อุทยานในปี 24 เหมือนเดิม
พร้อมย้ำว่า หลายๆรัฐบาลที่ผ่านมา พยายามแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ผ่านการประชุมของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ซึ่งมีมติให้กันในส่วนที่มีชุมชน 265,266 ไร่ ให้อยู่ในพื้นที่การดูแลของ สปก. และได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ซึ่งเมื่อครม.ให้ความเห็นชอบแล้วจะดำเนินการตามข้อเสนอของ สคทช.
อย่างไรก็ตาม บุคคลใดที่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายจะไม่ถูกยกเว้น แต่หลังจากนั้น กรมอุทยานฯจะดำเนินการตามกฎหมายในการปรับปรุงแนวเขต ซึ่งต้องรับฟังความเห็นตามกฎหมาย ดังนั้นหากครบกำหนดรับฟังความเห็นในวันที่ 12 ก.ค.67 ซึ่งเป็นความเห็นของประชาชนในพื้นที่และความคิดเห็นในภาพรวมของประเทศ จะนำข้อมูลทั้งหมดมาเข้าที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ที่มี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน จึงคาดว่าจะใช้เวลาฟังความเห็นไม่เกิน 30 วัน
นอกจากนี้ นายอรรถพล ยังกล่าวด้วยว่า เรายึดหลักความถูกต้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของที่อยู่อาศัยทำกิน หรือ การรักษาพื้นที่ไว้ พร้อมย้ำว่า พื้นที่กว่า 200,000 ไร่ คือ พื้นที่ทำกิน พื้นที่อยู่อาศัย และรีสอร์ต มีทั้งคนที่อยู่เดิมและได้รับการจัดสรร รวมถึงคนที่มาซื้อที่ต่อไปเรื่อยๆ และกลุ่มรีสอร์ตที่ถูกดำเนินคดีประมาณ 12,000 กว่าไร่ ซึ่งคนที่ได้รับสิทธิ์จะต้องเป็นประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ดั้งเดิม
ส่วนกรณีที่มีประชาชนบางกลุ่มมองว่า มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มี.ค 2566 เอื้อให้กับกลุ่มนายทุนทางการเมืองเข้าไปใช้ในพื้นที่นี้ นายอรรถพล กล่าวว่า รัฐบาลที่ผ่านมาพยายามแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนจึงมองว่าพื้นที่ที่มีประชาชนอาศัยอยู่แล้ว ให้คงสถานภาพเป็นที่ดินของรัฐ ซึ่งสปก.ยังเป็นที่ดินของรัฐอยู่ ฉะนั้นสปก.จะต้องไปสำรวจว่าใครมีคุณสมบัติหรือไม่มีคุณสมบัติบ้าง ถ้าไม่มีคุณสมบัติก็จะต้องเอาพื้นที่คืน ซึ่งรัฐบาลขณะนั้นมองแค่เหตุผลตรงนี้ ไม่มีเหตุผลอื่น
สำหรับที่พอมีมติครม.ออกมาแล้วมีปัญหา ทางกระทรวงทรัพฯและกรมอุทยานฯจะแก้ไขปัญหาอย่างไร นายอรรถพล ชี้ว่าจะต้องไปพูดคุยกันและนำไปพิจารณาในชั้นคณะกรรมการกรมอุทยานแห่งชาติ ดังนั้นหากที่ประชุมมีความเห็นอย่างไรก็สามารถเสนอครม.ให้รับทราบและพิจารณาต่อได้
ส่วนถ้ามีการจัดสรรพื้นที่ใหม่ ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่จะได้พื้นที่ตามเดิมหรือพื้นที่เท่ากันนั้น ขอให้รอผลยุติในคณะกรรมการฯก่อน โดยมองว่าได้เท่ากันในสถานะพื้นที่ แต่คุณสมบัติของคนไม่เท่ากัน เพราะบางคนอยู่มาก่อน บางคนมาซื้อขายเปลี่ยนมือ และบางคนมากว้านซื้อที่ซึ่งบุคคลตรงนี้จะไม่ได้สิทธิ เพราะสถานภาพที่ดินตอนนี้ก็ยังเป็นที่ดินของรัฐ
ทั้งนี้ สำหรับที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าหากมีการเพิกถอนพื้นที่ดังกล่าว คนที่ถูกดำเนินคดีอยู่หลายคดีก็อาจจะต้องหลุดพ้นไปด้วย นายอรรถพล กล่าวว่า เรื่องของคดีความไม่มีผลและในมติครม.ก็ระบุไว้ชัดเจน เพราะคดีความวัดกันตอน ณ เวลาที่เกิดเหตุก็พิจารณาไปตามกระบวนการ