2 แนวทางคดี ‘เศรษฐา’ ลิ่ว - ร่วง 84 วันศาล รธน.นัดชี้ชะตา 14 ส.ค.67 ลุ้นปิดฉากนายกฯ
ปัจจุบันมี 6 แคนดิเดต ในบัญชีที่พรรคการเมืองยื่นต่อ กกต. เอาไว้ ซึ่งต้องเป็นพรรคการเมืองที่มี สส. ไม่น้อยกว่า 25 คน เท่านั้น ที่จะสามารถเสนอชื่อแคนดิเดตให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้
KEY
POINTS
ลุ้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกได้ 2 แนวทาง
ครม.เศรษฐา จะกลายเป็น ครม.รักษาการ ดำเนินการ "ยุบสภา" จัดเลือกตั้งใหม่
ใช้ช่อง ม.159 ของรัฐธรรมนูญ เปิดทางสภาฯโหวตเลือกนายกฯใหม่
6 แคนดิเดต 5 พรรคได้ลุ้น หาก "เศรษฐา" พ้นเก้าอี้
บทสรุปสุดท้าย “รัฐบาลเพื่อไทย” จะได้อยู่บริหารราชการแผ่นดินต่อไปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคำตัดสินของศาล
วันที่ 14 ส.ค.2567 เวลา 15.00 น. เป็นวันเวลาชี้ชะตา “เศรษฐา ทวีสิน” ว่าจะยังได้ไปต่อในตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” หรือไม่
โดย “ศาลรัฐธรรมนูญ” ได้นัดฟังคำวินิจฉัย คดีแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ จาก “ตราบาป” ปมคดีถุงขนม 2 ล้านบาท
“เศรษฐา” จะเข้าข่ายความเป็นนายกฯ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบ มาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่
นับตั้งแต่ “40 สว.” ส่งคำร้องให้ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานวุฒิสภา (ขณะนั้น) ชงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย “เศรษฐา-พิชิต” เมื่อวันที่ 15 พ.ค.67 ที่ผ่านมา รวมระยะเวลาถึงวันนัดวินิจฉัย รวม 84 วัน
โดยคำร้องดังกล่าว “รัฐนาวาเพื่อไทย” มิได้ทันตั้งตัว มารู้อีกทีตอนเรื่องแดง เมื่อคำร้องดังกล่าวไปถึงมือฝ่ายธุรการของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแล้ว
คล้อยหลังถัดมาไม่กี่วัน “พิชิต” ตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกจากเก้าอี้ รมต.ประจำสำนักนายกฯ นัยว่าเป็นการ “ตัดไฟแต่ต้นลม” มิให้ตำแหน่งนายกฯ คนที่ 30 ต้องเพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้ในคดีนี้
อย่างไรก็ดี เรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งชนวนสำคัญ ที่สร้างความ “ร้าวฉาน” ให้แก่ สว.ชุดเก่า ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนหมดวาระ
โดยใน 40 สว.ที่ร่วมลงชื่อครั้งนี้ ว่ากันว่า มาจาก “สายลุงบ้านป่าฯ + สายลุงคนกลาง” เพื่อหวังโค่นอำนาจ “นายใหญ่ดูไบ” ที่เข้ามายึดกุมเบ็ดเสร็จ หลังกลับจากต่างประเทศ
แต่มี สว.บางราย ที่แม้จะคลุกคลีอยู่กับ “ขั้วอนุรักษนิยม” มิได้เห็นด้วยกับเรื่องนี้ และออกมาตอบโต้ เถียงแทน “เศรษฐา” ว่า ไม่ใช่หน้าที่ของ สว.ที่จะยื่นเรื่องตรวจสอบนายกฯ หรือรัฐบาลในตอนนี้ เพราะใกล้หมดวาระการทำหน้าที่ ควรปล่อยให้เป็นกลไกของ สว.ชุดใหม่ จะสง่างามมากกว่า
ทว่าเหมือน “กลุ่ม 40 สว.” จะเงียบหาย หลบฉากออกไป เมื่อเห็นว่าภารกิจอาจไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อรัฐบาลแก้เกมด้วยการดึง “เนติบริกร” วิษณุ เครืองาม เข้ามาเป็นที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยดูข้อกฎหมายต่อสู้ในคดีนี้ ถือเป็นการ “ส่งสัญญาณ” ไปยัง 40 สว.อย่างชัดเจนว่า เรื่องนี้ “ใครเป็นใคร”
ในเมื่อเรื่องถึงมือศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ต้องเดินหน้าพิจารณาต่อตามข้อกฎหมาย โดยเมื่อวันที่ 23 พ.ค.2567 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาไม่รับคำร้องกรณี “พิชิต” แต่รับคำร้องกรณี “เศรษฐา” โดยไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ เปิดโอกาสให้ส่งคำชี้แจงภายใน 15 วัน
แม้จะสุ่มเสี่ยงตกเก้าอี้นายกฯ แต่ยังถือว่ามี “ทรงดี” หากเทียบกับคดีดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ เป็นเวลาถึง 39 วัน ระหว่างการไต่สวน ก่อนมีคำวินิจฉัยคำวินิจฉัย “พ้นบ่วง”
โดยในระยะเวลาตั้งแต่ปลายเดือนพ.ค.จนก่อนถึงวันนัดฟังคำวินิจฉัย เป็นเวลาเกือบ 3 เดือนที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานจากหน่วยงานต่างๆ รวมถึงรับฟังคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของ “เศรษฐา” กระทั่งนัดฟังคำชี้ขาดในวันที่ 14 ส.ค.67 นี้
ทว่า ตัวแปรสำคัญบนหน้ากระดานการเมือง ณ เวลานี้ มิใช่กลุ่มของ “2 ลุง” แต่คือ “ค่ายสีน้ำเงิน” ที่สยายอำนาจเข้าครอบคลุม “สภาฯ สูง” ได้เบ็ดเสร็จ
โดยเฉพาะประธานวุฒิสภา-รองประธานวุฒิสภาทั้ง 2 คน คนแวดวงการเมืองรับรู้กันดีว่า มาจาก “สีน้ำเงิน” หนุนหลัง จึงทำให้สถานะแกนนำพรรคจัดตั้งรัฐบาลอาจสั่นคลอนได้ หาก “เศรษฐา”พ่ายแพ้คดีในศาลรัฐธรรมนูญ
จึงได้เป็นปรากฏการณ์ ที่ถูกมองว่าเป็น “ปฏิญญาเขาใหญ่” เมื่อไม่กี่วันก่อน ที่มีภาพหมู่ก๊วนกอล์ฟ ประกอบด้วย “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ รมว.มหาดไทย พร้อมด้วย “บิ๊กกลุ่มทุน-นักการเมือง” อีกหลายคน ที่ออกรอบร่วมกัน
แม้บรรดา “คีย์แมนสีแดง” จะให้ข่าวปฏิเสธถึงเรื่องการดีลต่อรองผลประโยชน์ เพียงแค่ “ทักษิณ” ไปพักผ่อนกับครอบครัวเท่านั้นก็ตาม
สำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คดีของ “เศรษฐา” ในวันที่ 14 ส.ค.67 นี้ มีเพียง 2 แนวทาง
แนวทางแรก หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “เศรษฐา” รอดพ้นบ่วง ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ จะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินเดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น และไม่มีอะไรมากวนใจอีก อย่างน้อยก็ภายในปีนี้
แนวทางสอง หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “เศรษฐา” ไม่รอด ต้องพ้นเก้าอี้ “นายกฯ” จะทำให้สถานะของ “เพื่อไทย” ที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสั่นคลอนขึ้นมาทันที เพราะ “ครม.เศรษฐา” จะพ้นเก้าอี้ทั้งคณะ เนื่องจาก “นายกฯ” พ้นจากตำแหน่ง
เกมหลังจากนี้จะออกได้ 2 หน้าคือ
1.ครม.เศรษฐา จะกลายเป็น ครม.รักษาการ โดยจะต้องเลือกรองนายกฯ คนหนึ่งขึ้นมารักษาการนายกฯ โดยมีอำนาจในการ “ยุบสภาฯ”
หากเดินเกมนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องประกาศกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ภายใน 5 วันหลังยุบสภาฯ และจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45-60 วัน โดยผู้สมัคร สส.จะต้องสังกัดพรรคการเมืองภายใน 30 วันนับตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้ง นั่นคือ มีโอกาสให้ย้ายพรรคในช่วง 15-30 วันหลังยุบสภาฯ
2.ครม.รักษาการ มิได้ตัดสินใจยุบสภาฯ แต่เดินเกมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกฯ คนใหม่ โดยต้องเป็นบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ ที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ต่อ กกต.เท่านั้น
โดยใช้เสียง สส.ในสภาฯ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวน สส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เพื่อเสนอชื่อบุคคลดังกล่าวให้สภาผู้แทนราษฎรโหวต โดยไม่ต้องใช้เสียง สว.อีกต่อไป เนื่องจากบทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงไปแล้ว โดยการโหวตเลือกนายกฯใหม่ มิได้ระบุเงื่อนไขเวลาไว้ในรัฐธรรมนูญ
ปัจจุบันมี 6 แคนดิเดต ในบัญชีที่พรรคการเมืองยื่นต่อ กกต. เอาไว้ ซึ่งต้องเป็นพรรคการเมืองที่มี สส. ไม่น้อยกว่า 25 คน เท่านั้น ที่จะสามารถเสนอชื่อแคนดิเดตให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้
ทำให้มีเพียง “แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย “ชัยเกษม นิติสิริ” แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกฯ รมว.พลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ รวมถึง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล หากพรรคก้าวไกลไม่โดนคำสั่งยุบพรรคในวันที่ 7 ส.ค.67 ไปเสียก่อน
บทสรุปสุดท้ายของ “รัฐบาลเพื่อไทย” จะได้อยู่บริหารราชการแผ่นดินต่อไปหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ 14 ส.ค.67 นี้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์