'ซีพีเอฟ' เบี้ยวแจง กมธ.ปมปลาหมอคางดำ 'ก้าวไกล' ชงญัตติด่วนถึงรัฐบาลแก้ไข

'ซีพีเอฟ' เบี้ยวแจง กมธ.ปมปลาหมอคางดำ 'ก้าวไกล' ชงญัตติด่วนถึงรัฐบาลแก้ไข

'ณัฐชา' เผย 'ซีพีเอฟ' เบี้ยวเข้าชี้แจง กมธ.ปม 'ปลาหมอคางดำ' ระบาด สัปดาห์หน้าจ่อเชิญ 'กฤษฎีกา' มาแนะนำหน่วยงานรัฐฟ้องร้องต่อ-ประเมินความเสียหายระบบนิเวศ จับตาบ่ายวันนี้ 'ก้าวไกล' เสนอญัตติด่วนชงรัฐบาล เร่งหาทางออก

เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2567 นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม กมธ.ว่า ได้ส่งหนังสือเชิญผู้บริหารสูงสุดด้านการวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ "ซีพีเอฟ" เพื่อให้ข้อมูลในฐานะผู้ขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำในราชอาณาจักรไทยจากกรมประมง โดยให้ซีพีเอฟมาชี้แจงถึงข้อโต้แย้ง ที่กรมประมงมอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ แต่เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขาได้รับหนังสือจากบริษัทดังกล่าวว่าไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ โดยทำเป็นหนังสือลาประชุม

นายณัฐชา กล่าวว่า อยากให้บริษัทเอกชนใช้พื้นที่นี้ในการสื่อสารกับประชาชน เพราะเรื่องนี้เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของประชาชนเป็นจำนวนมาก และเวทีของสภาเป็นที่ท่านสามารถแสดงความบริสุทธิ์ใจได้ แต่หากท่านเลือกนั่งแถลงข่าวกับสื่อเพียงไม่กี่สำนัก ขาดการโต้แย้งในการซักถาม ก็จะสร้างความสงสัยให้กับประชาชนมากขึ้น

ส่วนหลังจากนี้ กมธ.จะทำอย่างไรต่อไปนั้น นายณัฐชา กล่าวว่า ด้วยอำนาจหน้าที่ของ กมธ. ทำได้แค่ขอความร่วมมือ เมื่อขอไปแล้วไม่ได้รับความร่วมมือหรือข้อมูลก็ต้องสรุปตามข้อมูลที่เรามี ซึ่งเรามีข้อมูลจากหน่วยงานรัฐที่เชื่อถือได้ ทั้งกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพราะฉะนั้นในสัปดาห์หน้า เราจะเชิญสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามาแนะนำหน่วยงานของรัฐในการฟ้องร้องต่อไป รวมถึงเชิญหน่วยงานมาประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศ เพราะปลาสายพันธุ์นี้ทำลายชีวิตของเกษตรกรไปนับไม่ถ้วน

นายณัฐชา กล่าวด้วยว่า สิ่งที่กรมประมงได้ชี้แจงไว้พบว่า บริษัทฯ ได้ทำผิดเงื่อนไข ไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาต โดยยังไม่สามารถระบุตัวตนได้ว่าบริษัทฯ เป็นต้นตอที่ทำให้ปลาสายพันธุ์นี้หลุดออกมา เพราะไม่มี DNA ต้นทางของปลาสายพันธุ์ดังกล่าวในปี 2554 มีเพียง DNA ของปี 2560 และ 2565 ไม่สามารถยืนยันได้แต่เพียงสันนิษฐานได้เท่านั้น แต่การนำเข้าปลาหมอคางดำมีเพียงบริษัทเดียวที่ได้รับการอนุญาต โดยเงื่อนไขจะต้องส่งซากปลาที่ทำลายทิ้งแล้วให้กับกรมประมง จากการตรวจสอบตั้งแต่ปี 2550-2560 กลับไม่พบตัวอย่างปลาสายพันธุ์นี้ ขณะที่ข้อสงสัยว่าในปี 2554 ขวดโหลซากปลาอาจจะหายไปกับน้ำท่วมใหญ่นั้น แต่ในห้องแลปของกรมประมงยังมีพันธุ์ปลาปี 2550 ดังนั้น จะหายเพียงแค่ปี 2554 ไม่ได้ เพราะในห้องแลปมีขวดโหลอยู่ราว 5,000 ขวด น้ำท่วมจะพาไปแค่สองขวดไม่ได้

นายณัฐชา กล่าวว่า ตามเงื่อนไขบริษัทฯ ต้องส่งซากปลาให้กับกรมประมง 2 ขวด รวม 50 ตัว แต่จากการตรวจสอบไม่มีรายงานรับขวดโหลดังกล่าว โดยในบ่ายวันนี้จะมีการสร้างญัตติด่วนด้วยวาจา ทีมอภิปรายของพรรคก้าวไกล 13 คน เตรียมข้อมูลและพยานหลักฐานเท่าที่มีตั้งญัตติด่วน เพื่อเสนอไปยังรัฐบาลให้เห็นปัญหาการแพร่ระบาดครั้งใหญ่และรุกรานสัตว์น้ำ ซึ่งยังไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้แต่เกษตรกรตายรายวัน อยู่เฉย ๆ แล้วรอการแก้ไขไม่สามารถทำได้อีกต่อไป ซึ่งจะรอดูว่านายกรัฐมนตรีจะมีความจริงใจในการแก้ปัญหามากน้อยแค่ไหน

“เราไม่ต้องการส่งมอบระบบนิเวศที่ไม่สมบูรณ์ให้กับคนรุ่นหลัง เรามีบริษัทเอกชนพยายามนำเข้าปลาจากต่างถิ่นเป็นจำนวนมาก ล่าสุดคือปลาเก๋าหยก ซึ่งนำเข้าจากบริษัทเอกชนรายเดิม เรากังวลว่าจะหลุดรอดออกไปอีก” นายณัฐชา กล่าว

นายณัฐชา กล่าวอีกว่า คณะอนุ กมธ. จะส่งพยานหลักฐานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเด็น เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินคดี สิ่งที่เราทราบคือเอกชนนำเข้าเพียงรายเดียว ส่วนการกำจัดทำลายยังไม่มีรายงาน โดยในปี 2560 เราเจอปลาสายพันธุ์นี้ในบ่อพักน้ำของบริษัทฯ ดังกล่าว หากบอกว่ามีการระบาดภายนอกแล้วเล็ดลอดเข้ามาก็ต้องตั้งคำถามกลับว่า ปลาข้างในเล็ดลอดออกไปได้บ้างหรือไม่ กรมประมงก็ต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้รัดกุม อำนาจของคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้ทำสุดความสามารถแล้ว โดยในวันนี้จะมีการสรุปข้อมูลเพื่อส่งให้ นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ ต่อไป