‘วิษณุ’ เผยกฎหมายอำนวยความสะดวกใหม่ ป้องปรามโกงยุคดิจิทัล ใช้ได้ปี 68

‘วิษณุ’ เผยกฎหมายอำนวยความสะดวกใหม่ ป้องปรามโกงยุคดิจิทัล ใช้ได้ปี 68

‘วิษณุ’ เผยกฤษฎีกำลังตรวจร่างกฎหมายอำนวยความสะดวกและบริการประชาชนฉบับใหม่ นวัตกรรมป้องปรามโกงยุคดิจิทัล คาดได้ใช้ปี 68 ข้าราชการต้องระวังมากขึ้น โทษรุนแรง กำหนดรายละเอียดถี่ยิบ ปิดช่องโหว่เรียกรับเงิน

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) รุ่นที่ 15 จัดกิจกรรมสัมมนาสาธารณะหัวข้อ “นวัตกรรมในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนไทยไม่โกง ในยุค Digital Disruption” 

โดยนายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ด้านกฎหมายและระเบียบปฏิบัติราชการ บรรยายพิเศษเรื่อง การป้องกันการทุจริตภาครัฐยุค Digital Disruption ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันการเรียกค่าคุ้มครอง หรือปิดปาก มันมีมากขึ้นจนครอบคลุมคำว่า คอร์รัปชัน หากดูสถิติ ป.ป.ช.รับไว้คงเห็นในเรื่องนี้ แต่เมื่อพูดเรื่องการเอาเงินหลวงมาเป็นเงินส่วนตัว หรือที่เรียกว่าบังหลวง ก็ยังพอมีอยู่บ้าง ส่วยก็ดี การรีดไถก็ดี จัดอยู่ในประเภทเดียวกันนี้ แต่ว่ากันว่า ไม่รับผิดชอบว่าถูกหรือผิด เรื่องนี้มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่มีการแบ่งเป็นกรมเวียง กรมวัง กรมคลัง กรมนา เพราะว่าเราชินกับการที่เรียกรับให้โดยถูกกฎหมายมาเป็นเวลานาน เพิ่งมาห้ามไม่ให้เรียกรับให้ มันก็ห้ามยาก เพราะเคยทำกันได้ และไม่ได้รู้สึกว่าผิดบาป หรือชั่วร้ายอะไร

นายวิษณุ กล่าวว่า พอมาถึงการทุจริตและประพฤติมิชอบยุคปัจจุบัน ที่ใช้คำภาษาอังกฤษกลาง ๆ ว่า คอร์รัปชัน อย่างไรก็ตามการทุจริตคอร์รัปชัน มีความสำคัญมากขึ้นทุกทีโดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน หรือในยุคดิจิทัล เพิ่งเห็นว่าเมื่อไม่นานมานี้มีการตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เมื่อก่อนไม่มีศาลนี้ แต่วันนี้เปลี่ยนมาขึ้นศาลอาญาคดีทุจริตฯ เป็นศาลพิเศษเฉพาะในเรื่องคดีทุจริต แต่ตอนที่จะออกกฎหมาย มีการถกเถียงกันว่า คดีทุจริตมีมากพอหรือ คุ้มหรือไม่ที่จะตั้งศาลนี้ขึ้นมา ฝ่ายหนึ่งบอกว่า คดีทุจริตมีไม่มาก เอาไปรวมศาลปกติ ไม่ต้องตั้งศาลพิเศษหรอก อีกฝ่ายบอก มีมากหรือไม่ไม่สำคัญ แต่คดีลึกลับซับซ้อนต้องอาศัยความชำนาญของผู้พิพากษาที่ทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ จึงเกิดศาลนี้ขึ้น

“การป้องกันและปราบปรามการทุจริต ต้องมีความร่วมมือระหว่างรัฐกับประชาชนสำคัญ เพราะการทุจริตเป็นข้อหาอาญา ไม่ว่าคดีอาญาใดก็ตาม จะนึกถึงหน้าที่ของตำรวจ แต่วันนี้มี ป.ป.ช. ก็นึกถึง ป.ป.ช. เป็นต้น แต่อาจลืมไปว่าประชาชนเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ เพราะการทุจริตมีการเสนอ ใครเสนอ ก็ประชาชน เวลาทุจริตมีการให้ ใครให้ ก็คือประชาชน เวลาทุจริตใครปิดบัง เก็บงำเรื่องนี้ไว้ไม่บอกให้ใครรู้ ก็ประชาชน” นายวิษณุ กล่าว

‘วิษณุ’ เผยกฎหมายอำนวยความสะดวกใหม่ ป้องปรามโกงยุคดิจิทัล ใช้ได้ปี 68

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา ครม.ผ่านกฎหมายฉบับหนึ่ง คงเข้าสภาฯในไม่ช้า เป็นการแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช.บางมาตรา มุ่งคุ้มครองพยาน และมุ่งไปในเรื่องของการป้องกันการฟ้องปิดปาก ในอดีตที่มีการทุจริตเกิดขึ้น แล้วไม่ค่อยแพร่งพรายออกมา เพราะประชาชนไม่กล้าร้องเรียน เมื่อฟ้องหรือร้องเรียนก็จะถูกฟ้องกลับ ที่เรียกว่า “ฟ้องปิดปาก” สรุปเงียบเสียดีกว่า วันนี้ได้แก้ไขกฎหมาย ครม.ได้อนุมัติไป คงเข้ากฤษฎีกาตรวจ และเข้าสภาฯประมาณปลายปี 2567 ต่อไป

นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า ในความหมาย ความเข้าใจของตน สิ่งที่เป็นนวัตกรรมจริง ๆ คนที่เป็นข้าราชการ คงเคยได้ยินชื่อกฎหมายฉบับหนึ่ง มีชื่อว่า พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการอนุญาตอนุมัติของทางราชการ 2558 เป็นเวลา 1 ปีหลัง คสช.เข้ามา ความจริงกฎหมายฉบับนี้ทำไว้นานแล้ว แต่เสนอสภาฯไม่ได้ เพราะหลายกระทรวงคัดค้าน ไม่สบายใจ เพราะกฎหมายนี้ถ้าใช้บังคับจะเพิ่มภาระให้แก่เจ้าหน้าที่ ปิดช่องทางทุจริตหลายช่อง การทุจริตนั้นเราพบว่าส่วนใหญ่ที่ประชาชนยอมจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะต้องการซื้อความสะดวก ถ้าปล่อยให้ไปตามปกติก็ 3 เดือนบ้าง 3 ปีบ้าง ถ้าอยากให้ 3 วันเร็วขึ้นก็จ่ายเงิน นั่นคือช่องทางทุจริต ด้วยเหตุนี้จึงมีความคิดมาร่วม 10 ปี ควรมีกฎหมายฉบับหนึ่งออกมาอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ในการขออนุญาตอนุมัติอะไรก็ตามที แล้วได้รับความสะดวกโดยอัตโนมัติ เขาก็ไม่จ่ายเงิน และเจ้าหน้าที่ไม่กล้าพอไปเรียก จึงทำกฎหมายนี้ขึ้น แต่เสนอสภาฯไม่ได้ เพราะเข้า ครม.ก็ถูกกระทรวงคัดค้าน

“เวลากระทรวงค้านเขาก็มีเหตุผลที่ดีว่ายุ่งยาก เสียเงิน ต้องซื้อคอมพิวเตอร์ ใช้ระบบดิจิทัล ทำไม่เป็น เพิ่มค่าใช้จ่าย ยังไงก็โกงได้อยู่ดี จนกฎหมายทำเสร็จเก็บไว้ 10 กว่าปี กระทั่ง คสช.เข้ามาปี 2557 กฎหมายฉบับแรกที่ คสช.ยกขึ้นมาแล้วเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คือกฎหมายฉบับนี้ ถ้าเป็นยามภาวะปกติ กฎหมายนี้ไม่มีวันออกมาได้” นายวิษณุ กล่าว 

อดีตรองนายกฯ กล่าวว่า ทุกวันนี้ที่โกง ๆ กันคือการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ บางคนมาติดต่อขอตั้งโรงงาน บางคนใช้เวลาพิจารณา 2 ปี อีกคนใช้เวลา 2 เดือน อีกคนใช้เวลา 2 ปีก็เสียเงินไป ก็เกิดความเสียหายขึ้น กฎหมายอำนวยความสะดวก ได้แก้ปัญหาด้วยการให้ใส่ในคู่มือว่า ใช้เวลาเท่าไหร่ ต้องบอกมา ที่สำคัญคือมีมาตราหนึ่งเขียนว่า เมื่อประชาชนติดต่อราชการ หากคู่มือบอกใช้เวลาเท่านี้ ถ้าไม่เสร็จทันตามกำหนดเวลา ให้เจ้าหน้าที่รับผิด ประชาชนฟ้องได้ หรือร้องเรียนผู้บังคับบัญชาได้ ปัจจุบันส่วนราชการทำคู่มือหมดแล้ว ให้ ก.พร.ไปสำรวจ แต่ที่เกิดขึ้นเมื่อทำแล้ว หลายหน่วยงานไม่เผยแพร่ให้ประชาชนทราบ เวลาไปติดต่อราชการก็เสียเวลาอยู่ดี

แต่บัดนี้กำลังจะเกิดนวัตกรรมใหม่ขึ้น รัฐบาลปัจจุบัน ได้รับร่างหลักการกฎหมายสำคัญฉบับหนึ่ง ชื่อว่า ร่าง พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการประชาชนฯ ฟังแล้วคล้าย ๆ กับฉบับปี 2558 แต่ฉบับดังกล่าวไม่พูดเรื่องบริการประชาชน บัดนี้ 9 ปีผ่านไป ยกระดับขึ้นมาโดยการยกเลิกฉีกกฎหมายอำนวยความสะดวกปี 2558 ทิ้ง แล้วออกกฎหมายฉบับใหม่ปี 2568 เพราะมันจะขยายถึงการให้ความสะดวกในการบริการด้วย เช่น การขอติดตั้งประปา ไฟฟ้า อะไรก็ตามที่ไม่ใช่ขออนุญาต แต่ขอบริการ เป็นต้น ใครฝ่าฝืนผิดวินัย หรือผิดวินัยร้ายแรง 

อดีตรองนายกฯ กล่าวอีกว่า กฎหมายฉบับนี้กำลังตรวจอยู่ในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา ชุดที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน มีตนและอีกหลายคนเป็นกรรมการร่วมกันตรวจอยู่ขณะนี้ ตรวจไปได้ครึ่งหนึ่งแล้ว เสร็จเมื่อไหร่ เสนอสภาฯเมื่อนั้น คาดว่าเสนอได้ต้นปี 2568 หากใช้บังคับ ข้าราชการต้องระวังมากขึ้น โทษรุนแรงมากขึ้น และกำหนดละเอียดถี่ยิบมากขึ้น คู่มือต้องทำ ปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ ขณะเดียวกันต้องอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ตั้งศูนย์ One Stop Service ขึ้นด้วย

“ถ้ากฎหมายใช้ได้ตามนี้ แล้วสภาฯไม่แก้ ประชาชนเกือบไม่ต้องไปที่ว่าการอำเภอ หรือที่ว่าการเขตเลย ไม่ว่าทำอะไรก็ตาม ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ติดต่อได้ทั้งสิ้น เมื่อไม่ต้องเผชิญหน้ากัน โอกาสถูกรีดไถก็ไม่มี หากข้าราชการถ่วงเวลา ก็สามารถร้องเรียนได้” นายวิษณุ กล่าว