ยุบก้าวไกลเดิมพัน ‘รอง ปธ. สภา’ 7 ส.ค.ชี้ชะตาพรรคส้ม 'พท.- ภท.' รอเสียบ

ยุบก้าวไกลเดิมพัน ‘รอง ปธ. สภา’ 7 ส.ค.ชี้ชะตาพรรคส้ม 'พท.- ภท.' รอเสียบ

ลุ้น 7 ส.ค. ชี้ชะตาพรรคส้ม 11 กก.บห. - 7 สส. อยู่หรือไป เดิมพันเก้าอี้ "รองประธานสภา" เปิด 2 สูตร “เพื่อไทย - ภูมิใจไทย” รอเสียบ

KEY

POINTS

  • หากฉากทัศน์วันดังกล่าวออกมาเป็นลบคือ พรรคก้าวไกลถูกยุบ “อาฟเตอร์เอฟเฟกต์” ที่จะตามมา คือ ชะตากรรมของ “11 กรรมการบริหารพรรค”  สุ่มเสี่ยงต้องถูกตัดสิทธิการเมืองเป็นเวลา 10 ปี
  • นอกเหนือจากพิธา และชัยธวัช ที่มีสถานะเป็น สส.บัญชีรายชื่อแล้ว ยังมีผลกระทบกับ สส.อีก 5 คน1คนเป็นสส.เขตอีก4เป็นสส.บัญชีรายชื่อ นั่นหมายความว่า "6เสียงฝ่ายค้าน"จะหายไปจากสารบบการเมืองทันที 
  • อาจจะได้เห็นปรากฏการณ์ "งูเห่าสีส้ม" เกิดขึ้นในสภาฯ อีกรอบ เหมือนเมื่อปี 2563 ครั้งยุบพรรคอนาคตใหม่ 
  • ผลวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เพียงแต่จะเป็นวันชี้ชะตาพรรคส้มว่า “ใครอยู่-ใครไป?”​ แต่เพียงเท่านั้น แต่อาจรวมไปถึง “จุดพลิก” ดุลอำนาจนิติบัญญัติหลังจากนี้
  • หนึ่งใน “11 กรรมการบริหาร” พรรคก้าวไกล   มี “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์  ปัจจุบันสวมหมวก “รองประธานสภา คนที่ 1” รวมอยู่ด้วย เจ้าตัวยอมรับ หากเป็นไปในทางลบ ตำแหน่งรองประธานสภาฯ ต้องสิ้นสุดลงไปโดยปริยาย

  • โอกาสพรรคร่วมรัฐบาล"เปิดดีล" นิติบัญญัติรอบใหม่ “ค่ายแดง” และ “ค่ายน้ำเงิน” เห็นการขยับอยู่กลายๆ

 จับตาศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัย 7 ส.ค.2567 ชี้ชะตา “คดียุบพรรคก้าวไกล” ใครอยู่ ใครไป? 

อ่านเกมนาทีนี้ “คีย์แมนสีส้ม” นัดหมายแถลงใหญ่ในวันที่ 2 ส.ค.67 นี้ ยังหวังว่า ฉากทัศน์ในวันที่ 7 ส.ค.67 นี้จะออกมาเป็นบวก 

โดยเฉพาะประเด็นข้อหักล้างประเด็นการยื่นยุบพรรคของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ผิดขั้นตอน รวมถึงพยานปากสำคัญ 

นั่นคือ ความเห็นของ “สุรพล นิติไกรพจน์” นักกฎหมายมหาชน 1 ใน 11 พยาน และยังเป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษากฎหมายของ กกต.จะเป็นจุดพลิก ให้พรรคก้าวไกลได้ไปต่อ 

ทว่า ในทางตรงกันข้าม หากฉากทัศน์วันดังกล่าวออกมาเป็นลบคือ พรรคก้าวไกลถูกยุบ “อาฟเตอร์เอฟเฟกต์” ที่จะตามมาคือ ชะตากรรมของ “11 กรรมการบริหารพรรค” 

ในจำนวนนี้ มีคีย์แมนคนสำคัญ ทั้ง "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล "ชัยธวัช ตุลาธน" หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน สุ่มเสี่ยงต้องถูกตัดสิทธิการเมืองเป็นเวลา 10 ปี

ยุบก้าวไกลเดิมพัน ‘รอง ปธ. สภา’ 7 ส.ค.ชี้ชะตาพรรคส้ม \'พท.- ภท.\' รอเสียบ

นอกเหนือจากพิธา และชัยธวัช ที่มีสถานะเป็น สส.บัญชีรายชื่อแล้ว ยังมีผลกระทบกับ สส.อีก 5 คน แบ่งเป็นสส.เขต1คนและสส.บัญชีรายชื่ออีก4คน

ทั้ง "ปดิพัทธ์ สันติภาดา" รองประธานสภา คนที่ 1 สส.พิษณุโลก (ปัจจุบันอยู่พรรคเป็นธรรม) สมชาย ฝั่งชลจิตร สส.บัญชีรายชื่อ เบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ  อภิชาติ ศิริสุนทร สส.บัญชีรายชื่อ  และ สุเทพ อู่อ้น สส.บัญชีรายชื่อ 

ซึ่งบรรดา สส.บัญชีรายชื่อเหล่านี้ จะไม่มีการเลื่อนลำดับถัดไปขึ้นมาทดแทน

นั่นหมายความว่า "6 เสียงฝ่ายค้าน"จะหายไปจากสารระบบการเมืองทันที ขณะที่ สส.พรรคส้มที่เหลืออีก 142 คนจะต้องหาสังกัดใหม่ให้ได้ภายใน 60 วัน 

อีกทั้งอาจจะได้เห็นปรากฏการณ์ "งูเห่าสีส้ม" เกิดขึ้นในสภาฯ อีกรอบ เหมือนเมื่อปี 2563 ครั้งยุบพรรคอนาคตใหม่ 

ยิ่งไปกว่านั้นการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เพียงแต่จะเป็นวันชี้ชะตาพรรคส้มว่า “ใครอยู่-ใครไป?”​ แต่เพียงเท่านั้น แต่อาจรวมไปถึง “จุดพลิก” ดุลอำนาจนิติบัญญัติหลังจากนี้อีกด้วย

ต้องไม่ลืมว่า หนึ่งใน “11 กรรมการบริหาร” พรรคก้าวไกล  ที่ติดบ่วงคดียุบพรรค  มี “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์  ซึ่งปัจจุบันสวมหมวก “รองประธานสภา คนที่ 1” รวมอยู่ด้วย

“หมออ๋อง” ยอมรับถึงฉากทัศน์ หลังวันที่ 7 ส.ค.67 หากเป็นไปในทางลบ แน่นอนว่าตำแหน่งรองประธานสภาฯ ที่ตนทำหน้าที่อยู่ต้องสิ้นสุดลงไปโดยปริยาย

ยุบก้าวไกลเดิมพัน ‘รอง ปธ. สภา’ 7 ส.ค.ชี้ชะตาพรรคส้ม \'พท.- ภท.\' รอเสียบ

ไม่ต่างจาก “วิสุทธิ์ ไชยณรุณ” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ก็ส่งสัญญาณตามมาทันทีว่า โควตาของรองประธานสภาคนที่ 1 ต้องดูตามความเหมาะสมของสัดส่วนต่างๆ เพราะรัฐบาลมีทั้งพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ

จับสัญญาณดุลอำนาจภายใน “สภาล่าง” เวลานี้ แม้ยังต้องลุ้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทว่าก็เริ่มเห็นสัญญาณการเคลื่อนของสีต่างๆ ที่ขยับเป็นระยะ

ฝั่ง “หมออ๋อง” ทวงสัญญาไปถึงพรรคเพื่อไทย เมื่อครั้งลงนามเอ็มโอยูกับพรรคก้าวไกล ประเด็นสำคัญอยู่ที่ประเด็นการเฉลี่ยดุลตำแหน่งรองประธานสภา โดยมี 1 ใน 3 มาจากฝ่ายค้าน

สูตรดังกล่าวแนวโน้มเป็นไปได้ยาก เพราะภายใน “พรรคร่วมรัฐบาล”เวลานี้ โดยเฉพาะเพื่อไทยเคยพลาดหวัง เสียตำแหน่ง “ประมุขนิติบัญญัติ” คือ ประธานสภาฯ ให้กับ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” เป็นโควตาคนกลาง เพื่อแก้ปมขัดแย้ง “แดง-ส้ม” เมื่อครั้งจัดตั้งรัฐบาล 

ก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวการเปลี่ยนตัวประธานสภาฯ ออกมาโดยตลอด โดยเฉพาะช่วงฟอร์มทีม ครม.เศรษฐา 1/2 ซึ่งมีการปล่อยสูตรยึดคืนประธานสภาฯ เพื่อเป็นรางวัลปลอบใจรัฐมนตรีอกหักบางคน 

ทว่า สูตรดังกล่าวถูกดับฝันลง หลังเสร็จสิ้นการปรับ ครม. โดยเฉพาะ “ประธานวันนอร์” ที่ยืนยันเสียงแข็ง ไม่มีเหตุผลเปลี่ยนตัว

ทำให้แผนเปลี่ยนตัวประธานสภาฯ จนถึงเวลานี้ ยังไร้สัญญาณเปลี่ยนแปลง แต่อาจต้องจับตา “ดีลใหม่” ที่ต้องลุ้นหลังคดีก้าวไกล

ยุบก้าวไกลเดิมพัน ‘รอง ปธ. สภา’ 7 ส.ค.ชี้ชะตาพรรคส้ม \'พท.- ภท.\' รอเสียบ

จังหวะนี้ ยังเป็นโอกาสที่พรรคร่วมรัฐบาลจ้องเปิดดีล ต่อรองดุลอำนาจนิติบัญญัติรอบใหม่  โดยเฉพาะ “ค่ายแดง” และ “ค่ายน้ำเงิน” ในฐานะพรรคลำดับสอง ที่เริ่มเห็นการขยับอยู่กลายๆ

มีข่าว "ค่ายสีน้ำเงิน" จะใช้โมเดลเดียวกับ "หมออ๋อง" ปั้นคนรุ่นใหม่ ทำหน้าที่รองประธานสภา โดยมีชื่อของ "ลูกแบด" ภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย อยู่ในรายชื่อที่ถูกเสนอ 

 "อนุทิน ชาญวีรกูล"  หัวหน้าพรรค ไม่ปฏิเสธบอกแค่ว่า มันยังไม่เกิดขึ้น ให้มันเกิดขึ้นก่อน

ส่องโควตาประธานสภา และรองประธาน เวลานี้ สูตรหนึ่ง มีการมองว่า ประธานสภาฯ ควรเป็นคนกลาง หากยังยึดหลักเช่นนี้ รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ย่อมต้องเป็นโควตาของเพื่อไทย ในฐานะพรรคแกนนำ 

ขณะที่อีกสูตร ที่มองต่าง คือ ประธานสภาฯ คือ "ประธานวันนอร์" ที่แม้จะเป็นคนกลาง แต่ถือว่าเป็นตัวแทนของพรรคเพื่อไทย ขณะที่รองประธานคนที่ 2 คือ "พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน" ก็เป็นคนของพรรคเพื่อไทย ดังนั้นรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ต้องเป็นโควตาพรรคร่วมรัฐบาลลำดับ 2 นั่นคือ พรรคภูมิใจไทย 

สอดรับกับสัญญาณ “แดง-น้ำเงิน” ที่เวลานี้ เริ่มมีการโยนชื่อคนของตัวเองออกมาเป็นระยะ 

สำหรับอำนาจ “หมออ๋อง” ที่ถืออยู่ในมือเวลานี้ โดยเฉพาะการพิจารณากฎหมายทั้งหมด รวมถึงระเบียบวาระการประชุม ย่อมเป็นที่หมายตาของบรรดาพรรคการเมือง ที่หวังชิงแต้มต่อในสภา เพื่อเป็นไม้เป็นมือ เข็นบรรดาวาระเรือธงหลังจากนี้ 

 ทั้งหมดทั้งมวล ต้องไปลุ้นหลังวันที่ 7 ส.ค.67ที่จะชี้ชะตาพรรคก้าวไกล

หากฉากทัศน์ "เป็นบวก" คลื่นลมก็สงบนิ่งไร้สัญญาณเปลี่ยนดุลสภาล่าง ตรงกันข้ามถ้าเป็นไปใน "ทางลบ" คงต้องลุ้นกันต่อไปว่าสุดท้ายใครวิน! 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์