'กมธ.นิรโทษกรรม' ชี้ คดีม.112 เป็นคดีอ่อนไหว กำหนด สภาฯ คิดให้ดีก่อนล้างผิด
"กมธ.นิรโทษกรรม" ปิดจ็อบส่งรายงานให้สภาฯแล้ว คาดถกรายละเอียด 15ส.ค. ชี้ ม.112 เป็นคดีอ่อนไหว หากสภารับข้อสังเกตต้องคิดให้ดี ก่อนตรากฎหมายล้างผิด
นายนิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจาารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร แถลงที่สภาฯ ว่า กมธ.ได้ส่งรายงานดังกล่าวต่อสภาฯ แล้ว โดยมีประเด็นที่เป็นผลสรุปสำคัญ อาทิ ช่วงเวลานิรโทษกรรม กำหนดไว้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2548 ถึงปัจจุบัน โดยกำหนดคำนิยามการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง คือ การกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง หรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งหรือเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง
นายนิกร กล่าวด้วยว่า สำหรับคดีที่ได้รับการนิรโทษกรรม กำหนดให้เป็นคดีหลัก คดีรองและคดีที่มีความอ่อนไหว อย่างไรก็ดีในรายงานได้กำหนดบัญชีแนบท้ายไว้ด้วย ทั้งนี้ในรายงานมีการเสนอเป็นข้อสังเกตในสาระสำคัญซึ่งจะต้องให้สภาฯ เห็นชอบ ซึ่งกมธ. มีข้อสังเกตทั้งสิ้น 6 ประเด็น คือ
1. ครม.ควรพิจารณารายงานของ กมธ. เพื่อนำไปเป็นแนวทางการตรา พ.ร.บ. โดยเร็ว รวมถึงออกนโยบาย มาตรการที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม
2. ข้อมูลที่ควรใช้เป็นหลักในการพิจารณาคือ ข้อมูลของสำนักงานศาลยุติธรรม เนื่องจากเป็นข้อมูลที่มีการรวบรวมสถิติไว้อย่างเป็นระบบ ชัดเจนและในแต่ละฐานความผิดยังสมควรต้องสืบค้นจำนวนผู้กระทำความผิดมาประกอบการพิจารณาด้วย
3. ความผิดเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และมาตรา 112 นั้น เป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว
4. โดยหลักการเห็นว่า ไม่ควรนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรา 288 และมาตรา 289 แต่การจะนิรโทษกรรมคดีใดไม่ควรพิจารณาจากข้อหาเพียงอย่างเดียว เพราะอาจมีคดีที่ผ่านกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ปกติ หรือถูกกลั่นแกล้งว่ากระทำความผิด เพราะผู้ถูกดำเนินคดีไม่มีเจตนากระทำผิด หรือไม่มีผู้เสียชีวิตจริง ในกรณีนี้ควรให้มีการสืบพยานเพื่อให้ทราบว่าผู้ถูกดำเนินคดีเป็นผู้กระทำความผิดจริงหรือไม่
5. สภาฯ ควรมีข้อสังเกตไปยัง ครม. ว่าในระหว่างที่ยังไม่มีการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สมควรที่ ครม.จะกำหนดนโยบายให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมดำเนินการตามกลไกของกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อเป็นการอำนวยความยุติธรรมตามแนวทางที่กมธ.เสนอ
6. การกำหนดให้ผู้ได้รับนิรโทษกรรมได้รับสิทธิที่ต้องสูญเสียไปโดยผลของคำพิพากษากลับคืนมา สามารถกระทำได้โดยต้องกำหนดไว้ในกฎหมายอย่างชัดแจ้งว่าจะคืนสิทธิใดบ้าง และเมื่อการนิรโทษกรรมที่จะเกิดขึ้นนี้มุ่งหมายในการคลี่คลายประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง ดังนั้น จึงควรคืนสิทธิทางการเมืองให้กับผู้ที่ได้รับนิรโทษกรรม
“รายงานของกมธ.เพื่อให้ข้อมูล แต่ไม่ใช่การตัดสิน ซึ่งส่วนที่สำคัญคือข้อสังเกตของกมธ. หากสภาเห็นด้วยกับรายงาน คือการเห็นด้วยกับข้อสังเกตเท่ากับยอมรับว่าในประเด็นมาตรา 112 นั้น คือ คดีที่มีความอ่อนไหว ส่วนแนวทางต่อไป คือ รัฐบาล หรือ พรรคการเมืองสามารถใช้เป็นแนวทาทงเพื่อเสนอร่างกฎหมายเข้าสภาให้พิจารณาได้ ซึ่งขณะนี้ทราบว่ามีร่างกฎหมายในทำนองเดียวกันอยู่ในวาระ 2 ฉบับ แต่หากเนื้อหาไม่ตรงกับที่สภาเห็นชอบอาจถอนไปเพื่อปรับปรุงก่อนส่งให้สภาพิจารณาก็ได้ ทั้งนี้คาดว่าสภาฯ จะพิจารณารายงานดังกล่าว เร็วที่สุดคือ วันที่ 15 ส.ค. หรือช้าสุดวันที่ 22 ส.ค.” นายนิกร กล่าว