จาก'นายกฯขาดตอน'ถึง'ความผิดอุปกรณ์' เทียบไม้ตาย'วิษณุ' ป้อง'สองนายกฯ'
หากย้อนอดีตจาก “นายกฯ ขาดตอน” มาจนถึง “ความผิดอุปกรณ์” แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญทางกฎหมายของ “วิษณุ” ที่สามารถหาช่องว่าง-ช่องโหว่ เพื่อเซฟเก้าอี้นายกฯ ทั้งของ “พล.อ.ประยุทธ์” จนมาถึง “เศรษฐา”
KEY
POINTS
- 14 ส.ค. ลุ้นคดี "เศรษฐา ทวีสิน" บนเก้าอี้นายกฯ โดยคำชี้แจง-แถลงปิดคดี "ทีมกฎหมาย" ส่งให้กับ "ศาลรัฐธรรมนูญ" นำไปวินิจฉัยเรียบร้อยแล้ว
- ว่ากันว่าเกือบทุกตัวอักษรผ่านการตรวจทานจาก "วิษณุ เครืองาม" เช่นเดียวกับคดีนับนายกฯ 8 ปี "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา"
- ข้อต่อสู้หลักของ "ประยุทธ์" โดยการประดิษฐ์คำทางกฎหมายของ "วิษณุ" คือ "นายกฯขาดตอน" ข้อต่อสู้หลักของ "เศรษฐา" โยนให้เป็น "ความผิดของอุปกรณ์"
เอกสารคำชี้แจง “ตั้งใจหลุด” คำแถลงปิดคดีของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯ ส่งตรงถึง “ศาลรัฐธรรมนูญ” สู้ปมคุณสมบัติรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
โดยเนื้อหาคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา มี “วิษณุ เครืองาม” ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ช่วยตรวจสอบข้อมูล-ข้อต่อสู้ทั้งหมด เพื่อให้มั่นใจว่า “เศรษฐา” จะรอดพ้นความผิด
ข้อต่อสู้ 1 อ้างถึงบันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ “มีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธาน เพื่อยืนยันว่า ปัญหาเรื่องคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของ “พิชิต” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) เป็นอำนาจโดยเฉพาะของ “ศาล” ทำให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และนายกฯ ไม่อาจตรวจสอบ และชี้ขาดประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวได้เอง
ข้อต่อสู้ 2 “เศรษฐา” มีภูมิหลังในการประกอบอาชีพทางธุรกิจ มีประสบการณ์ทางการเมือง และการบริหารราชการแผ่นดินที่จำกัด ไม่มีภูมิหลังทางการศึกษาด้านนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ จนไม่อาจชี้ขาดได้ว่า “พิชิต” เป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
ข้อต่อสู้ 3 “เศรษฐา” ตัดสินใจไปโดยความสุจริต ตามประเพณี และข้อพึงปฏิบัติทางการเมือง โดยไม่ถือไปก่อนว่า “พิชิต” ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม
ข้อต่อสู้ 4 ในเอกสารระบุว่า “อีกทั้งความผิดของผู้ถูกร้องที่สองคือ นายพิชิต ยังเสมือนเป็นความผิดประธาน ซึ่งในขณะที่มีการเสนอชื่อนายพิชิตเป็นรัฐมนตรี ก็ยังไม่ได้มีการวินิจฉัยความผิดประธานโดยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีของตนเอง(เศรษฐา) จึงเปรียบเสมือนเป็นความผิดอุปกรณ์ จึงไม่อาจมีไปด้วยได้”
หมัดเด็ดจึงอยู่ที่ข้อต่อสู้ทั้ง 4 ประเด็นนี้
หากย้อนไปในช่วงการต่อสู้ปมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปีของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีมือกฎหมาย “วิษณุ” คนเดียวกันนี้ เขียนคำชี้แจง-คำแถลงปิดคดี ซึ่งมีการยกคำว่า “นายกฯ ขาดตอน” มาเป็นข้อต่อสู้
โดยอธิบายความว่า การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี จากปี 2557 - 2565 ไม่ถูกต้อง เนื่องจากการเป็นนายกฯ 2 ครั้ง ครั้งแรกดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ ยังคงดำแหน่งนายกฯ อยู่ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 จนมีการเลือกตั้ง
ดังนั้น หลังได้รับการเลือกเป็นนายกฯ ครั้งที่ 2 จึงไม่อาจนำระยะเวลาการเป็นนายกฯครั้งแรกได้ เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 สิ้นผลบังคับใช้ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ความเป็นนายกฯ เป็นไปตามพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2557 เป็นอันสิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 ด้วยเช่นกัน
การสิ้นสุดดังกล่าวส่งผลให้ความเป็นนายกฯ ครั้งแรก จึง ”ขาดตอน” จากวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ (6 เม.ย. 2560) จึงไม่อาจนับรวมระยะเวลาการเป็นนายกฯ ครั้งแรก
ส่วนการดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้นั้น เป็นการดำรงตำแหน่งตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ หลังการเลือกตั้งในปี 2562
ดังนั้น การเป็นนายกฯ หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ จึงเป็นการดำรงตำแหน่งนายกฯใหม่ ตามบทเฉพาะกาล และได้ “ขาดตอน” จากการเป็นนายกฯครั้งแรกไปแล้ว
หากจำกันได้ผลของคำวินิจฉัยของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” กรณีของ “พล.อ.ประยุทธ์” ให้นับความเป็นรัฐมนตรีแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 ซึ่งเป็นวันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้ ซึ่งค่อนข้างสอดคล้องกับข้อแก้ต่าง “นายกฯ ขาดตอน” ที่ “วิษณุ” ซ่อนกลเขียนไว้ในข้อชี้แจง-คำแถลงปิดคดี
แน่นอนว่าดีลให้ “วิษณุ” มานั่งที่ปรึกษา “นายกฯ เศรษฐา” ย่อมหวังใช้ประโยชน์จาก “เนติบริการ” ในการแก้ต่างทางกฎหมาย จึงต้องรอจับตาว่าผลของคำวินิจฉัยในวันที่ 14 ส.ค.2567 จะออกมาอย่างไร
หากย้อนอดีตจาก “นายกฯ ขาดตอน” มาจนถึง “ความผิดอุปกรณ์” แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญทางกฎหมายของ “วิษณุ” ที่สามารถหาช่องว่าง-ช่องโหว่ เพื่อเซฟเก้าอี้นายกฯ ทั้งของ “พล.อ.ประยุทธ์” จนมาถึง “เศรษฐา”