ละเอียด! เหตุผลศาล รธน.ยุบ ‘ก้าวไกล’ เจตนาแยกสถาบันฯ จากชาติ หวังผลเลือกตั้ง

ละเอียด! เหตุผลศาล รธน.ยุบ ‘ก้าวไกล’ เจตนาแยกสถาบันฯ จากชาติ หวังผลเลือกตั้ง

"...เจตนามุ่งหมายแยกสถาบันฯ กับความเป็นชาติไทยออกจากกัน เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐอย่างมีนัยสำคัญ ลดทอนสถานะความคุ้มครองสถาบันฯ ใช้ประโยชน์สถาบันฯ หวังผลคะแนนเสียงชนะการเลือกตั้ง มุ่งหมายให้สถาบันฯ เป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน..."

เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2567 ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กทม. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำวินิจฉัยเรื่องพิจารณาที่ 10/2567 กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล โดยเรื่องนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ร้อง) โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้อง) มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2)

วันนี้มีตัวแทน กกต. และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สวมแมสก์สีขาว เป็นตัวแทนพรรคก้าวไกล เดินทางมาศาลรัฐธรรมนูญเพื่อฟังคำวินิจฉัย โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตอนหนึ่งถึงที่มาที่ไปของเรื่องว่า เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2564 สส.ก้าวไกล ได้ร่วมกันยื่นเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาท โดยมีการแก้ไขเกี่ยวกับมาตรา 112 โดยเสนอให้เพิ่มบทมาตรา มีเหตุยกเว้นความผิด เหตุยกเว้นโทษ ให้ความผิดตามมาตรา 112 ยอมความได้ ให้สำนักพระราชวังร้องทุกข์ และให้เสียหายหน่วยงานเดียว 

ละเอียด! เหตุผลศาล รธน.ยุบ ‘ก้าวไกล’ เจตนาแยกสถาบันฯ จากชาติ หวังผลเลือกตั้ง

ซึ่งพรรคก้าวไกลใช้หาเสียงเลือกตั้ง 2566 และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีพฤติการณ์รณรงค์ทางการเมืองจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 และมีกรรมการบริหารพรรค สส. สมาชิกพรรคก้าวไกล เป็นนายประกันจำเลยหรือผู้ต้องหาที่ผิดตามมาตรา 112 และจัดกิจกรรมผ่านสื่อออนไลน์หลายครั้ง อันเข้าข่ายผิดตามรัฐธรรมนูญ 49 วรรคหนึ่ง และศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้หยุดการกระทำดังกล่าว เพื่อไม่ให้ยกเลิก รวมถึงการแก้ไขมาตรา 112 ด้วยวิธีการที่มิใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ผู้ร้อง (กกต.) วินิจฉัยคำวินิจฉัยดังกล่าว จึงมีมติ 10/2567 ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีมีหลักฐานควรเชื่อได้ว่า กระทำการผิดตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 

มีประเด็นต้องวินิจฉัยก่อนว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้วินิจฉัยหรือไม่ ประเด็นนี้ ก้าวไกลยื่นคำโต้แย้งว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยคดีตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ การที่ กกต.ร้องมาดังกล่าว โดยอ้างคำวินิจฉัยศาล 3/2567 บทบัญญัติดังกล่าวให้ศาล รธน สั่งเลิกกระทำ มิได้สั่งให้ยุบพรรค ดังนั้นการที่ กกต.ยื่นคำร้องมาตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) (2) ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองนั้น ไม่มีอำนาจวินิจฉัย

ละเอียด! เหตุผลศาล รธน.ยุบ ‘ก้าวไกล’ เจตนาแยกสถาบันฯ จากชาติ หวังผลเลือกตั้ง

ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า รัฐธรรมนูญเป็นอำนาจสูงสุดวินิจฉัย วางกรอบการใช้อำนาจองค์กรต่าง ๆ กำหนดความสัมพันธ์ อาจอยู่ภายในกฎหมายลายลักษณ์อักษร ส่วนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กำหนดรายละเอียดแนวทางต่างๆ เฉพาะภายในขอบเขตที่ศาลรัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ มีเนื้อหาสาระ ขยายเนื้อหาในรัฐธรรมนูญเพื่อให้บังคับใช้มีประสิทธิภาพ และให้รัฐธรรมนูญบัญญัติเฉพาะได้ใจความ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญโดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 คุ้มครองการปกครองของประเทศ ให้ประชาชนปกป้องระบอบการปกครอง บทบัญญัตินี้ ส่วน พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยมาตรา 92 บัญญัติหน้าที่ของ กกต.ในการควบคุมตรวจสอบพรรคการเมืองให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคได้ ได้แก่ (1) ล้มล้างการปกครอง (2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครอง

ดังนั้นแม้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 210 บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่อำนาจควบคุมหน้าที่ความชอบ และร่างกฎหมาย และพิจารณากฎหมาย อำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน้าที่อื่น ๆ ที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญโดยมาตรา 210 วรรคท้าย ให้นำความมาตรา 88 วรรคหนึ่ง ให้พิจารณาคดีเป็นอำนาจของศาล ต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธย มาบังคับใช้แก่ศาลรัฐธรรมนูญด้วยอนุโลม และรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งการบุคคลใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง ให้เลิกกระทำการดังกล่าว ไม่ได้บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจยุบพรรคโดยตรง เช่น รัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 63 วรรคสาม หรือรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 68 วรรคสาม ก็ตาม แต่เจตนารมณ์คุ้มครองปกป้องการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ย่อมรับรองสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญและให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคได้ หากมีข้อเท็จจริงคน หรือพรรค ใช้เสรีภาพล้มล้างการปกครอง แม้มาตรา 49 จะไม่มีข้อความว่า หากมีกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการ ให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้

จากบทมาตราดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่อำนาจตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เช่น พ.ร.ป.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณา (13) คดีอื่น ๆ ที่รัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น กำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาล และ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยคดี และสั่งยุบพรรคการเมืองได้ ข้อโต้แย้งของก้าวไกลฟังไม่ขึ้น

ประเด็นต่อไปมีว่า กกต.เปิดโอกาสให้ก้าวไกลรับทราบข้อเท็จจริงเพียงพอ และเปิดโอกาสให้ก้าวไกลยืนยันหักล้างหรือไม่ โดยก้าวไกลโต้แย้งว่า กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 93 ประกอบระเบียบ กกต.ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง 2566 ข้อ 7 ทำให้ก้าวไกลไม่มีโอกาสทราบข้อเท็จจริงเพียงพอ ไม่มีโอกาสโต้แย้งพยานหลักฐาน การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 (1) บัญญัติว่า เมื่อ กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค และมาตรา 93 (1) บัญญัติว่า เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคใดทำผิดตามมาตรา 92 ให้นายทะเบียนรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานให้เสนอความเห็นต่อ กกต. ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่ กกต.กำหนด 

เห็นได้ว่า การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เกิดได้ 2 กรณีคือ 1.กรณี กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองกระทำการลักษณะตาม 92 (1) – (4) และ 2.กรณีเมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่าพรรคใดกระทำตามมาตรา 93 ต้องรวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานเพื่อเสนอต่อ กกต. จึงเป็นกรณีกฎหมายวางกฎเกณฑ์ของผู้เริ่มกระบวนการ และข้อเท็จจริงแตกต่างกัน หาก กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองมีการกระทำที่เข้าลักษณะที่กฎหมายบัญญัติ กกต.ย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ในทางตรงข้ามหากเพียงความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง นายทะเบียนต้องรวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณาของ กกต.ว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ก่อนการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ คดีนี้ผู้ร้องมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า มีการกระทำอันเป็นเหตุยุบพรรคการเมือง ผู้ถูกร้อง โดยอาศัยข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 เป็นพยานหลักฐานที่ไม่อาจรับฟังเป็นอย่างอื่นได้ 

ผู้ร้องในฐานะ กกต.สามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคหนึ่ง ประกอบกับ กกต.ชี้แจงตามบันทึกข้อเท็จจริงว่า 25 พ.ค.2566 นายพัชรนน คณาโชติโภคิน ได้ร้องเรียนต่อ กกต.ว่า ก้าวไกลใช้นโยบายการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้งที่สวนสาธารณะเทศบาลแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี กกต.รับคำร้องไว้ และส่งเรื่องให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง คณะที่ 2 เพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน ต่อมาคณะที่ 2 ตรวจคำร้อง และเอกสารประกอบแล้วเห็นว่า ไม่รับคำร้องไว้ดำเนินการ เนื่องจากไม่มีหลักฐานข้อมูลเพียงพอว่า ก้าวไกลกระทำการปฏิปักษ์การปกครอง 

ต่อมา กกต.รับคำร้องธีรยุทธ สุวรรณเกสร ในคำร้องเดียวกับของนายพัชรนน จึงให้รอดำเนินการคำร้องนี้ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยก่อน หลังจากมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2567 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และนายธีรยุทธ ยื่นคำร้องต่อ กกต.ขอให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญในกรณีเดียวกัน คณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงฯ คณะที่ 6 ได้ประชุมครั้งที่ 2 เมื่อ 12 มี.ค.2567 พิจารณาแล้วเห็นว่า กกต.มีมติเมื่อ 10/2567 วันที่ 12 มี.ค.2567 ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 (1) (2) ไม่มีเหตุต้องรวบรวมพยานหลักฐานเสนอต่อนายทะเบียน และไม่มีเหตุให้นายทะเบียนเสนอต่อ กกต.พิจารณาตามระเบียบ กกต. 

แม้การดำเนินการของ กกต.ในคดีนี้แรกเริ่มเป็นกรณีที่มีความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ต้องดำเนินการตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 93 และระเบียบ กกต.ปี 2566 ข้อ 5 ซึ่งนายทะเบียนพรรคการเมือง ดำเนินตามกระบวนการดังกล่าว แต่เมื่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 มีข้อเท็จจริงเป็นมูลกรณีเดียวกัน และเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่ กกต.เห็นว่า ไม่อาจโต้แย้งเป็นอย่างอื่นได้ จึงทำให้เชื่อได้ว่า ก้าวไกลกระทำการอันเป็นเหตุควรเชื่อได้ว่า จึงยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค กกต.จึงยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการตาม มาตรา 92 เหตุดังกล่าวทำให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ยุติรวบรวมพยานหลักฐาน การดำเนินการตามมาตรา 93 จึงยุติลง กกต.ไม่ต้องย้อนกระบวนการเพื่อให้นายทะเบียนรวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานก่อน 

ขั้นตอนดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดเจนว่า กระบวนการยื่นคำร้องตามมาตรา 92 และ 93 เป็นคนละส่วนกัน แม้คดีนี้ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่ได้รวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐาน และไม่ได้ให้โอกาส ก้าวไกล โต้แย้งอย่างเพียงพอก็ตาม แต่ในเมื่อคดีนี้ และคดีตามคำวินิจฉัยที่ 3/2567 เป็นคดีมีมูลกรณี และผู้ถูกร้องบุคคลเดียวกัน การที่ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาตามคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ไต่สวนพยานหลักฐานต่อก้าวไกล และทราบข้อเท็จจริง คัดค้านพยานในสำนวนทั้งหมด และได้โต้แย้งพยานหลักฐานตัวเองเต็มที่ต่อหน้าศาลแล้ว จึงถือว่าไต่สวนคดีของศาลรัฐธรรมนูญ มีมาตรฐานยิ่งไปกว่าการสอบสวนข้อเท็จจริงของ กกต. ข้อโต้แย้งของก้าวไกล จึงไม่อาจรับฟังได้

ส่วนที่โต้แย้งว่า กกต.ร้องศาลรัฐธรรมนูญโดยอาศัยคำวินิจฉัยที่ 3/2567 แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า หากปล่อยให้ก้าวไกลกระทำต่อไปย่อมไม่ไกลเกินกว่าเหตุล้มล้างการปกครอง การกระทำของก้าวไกลจึงยังไม่มีผลใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง และภายหลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งก้าวไกลเลิกกระทำ จึงได้นำนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ออกจากเว็บไซต์ และในคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ใช้มาตรฐานชัดเจน และน่าเชื่อถือ คดีนี้จึงต้องใช้มาตรฐานตามคดีอาญา จึงไม่อาจใช้คำวินิจฉัยที่ 3/2567 มาผูกพันการวินิจฉัยคดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญต้องไต่สวนพยานใหม่หมดนั้น

ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 บัญญัติป้องกันไม่ให้บุคคลใดใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง เป็นผลเสียหายร้ายแรงคาดการณ์ได้อย่างแน่นอนว่าเกิดขึ้นหากการกระทำดำเนินการอยู่ และให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเลิกกระทำดังกล่าวทันที แม้ระบอบการปกครองยังไม่ถูกยกเลิก หรือสิ้นไป แต่ข้อเท็จจริงในการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองตามมาตรา 49 เกิดขึ้นแล้ว การกระทำนั้นจะผิดสำเร็จทันที ไม่ต้องรอให้มีผลการกระทำเกิดขึ้นก่อน เมื่อพิจารณาคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ก้าวไกล มีส่วนร่วมหลายพฤติการณ์ ต่อเนื่องเป็นขบวนการ เสนอร่างกฎหมายแก้ไขมาตรา 112 ที่มีเนื้อหาลดทอนคุณค่าสถาบันฯ และใช้เป็นนโยบายในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง จัดกิจกรรมทางการเมือง รณรงค์ผ่านสื่อ หากปล่อยให้ก้าวไกลดำเนินการย่อมไม่ไกลเกิดเหตุในการล้มล้างการปกครอง การกระทำของก้าวไกลจึงใช้เสรีภาพล้มล้างการปกครอง โดยเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 49 แล้ว

แม้ภายหลังให้ก้าวไกลล้มเลิกการกระทำ และก้าวไกลเอานโยบายแก้มาตรา 112 ออกจากเว็บไซต์แล้วก็ตาม เมื่อพิจารณาการพิสูจน์มาตรฐานแต่ละคดี ต้องใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่ง ขึ้นอยู่กับหลักฐานนำสืบ เพื่อให้ศาลวินิจฉัยคดี เมื่อคดีนี้ กกต.ยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกล จะแตกต่างจากคำวินิจฉัยที่ 3/2567 เป็นการพิจารณาวินิจฉัยเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเลิกการกระทำ เป็นคดีรัฐธรรมนูญมูลเดียวกัน แตกต่างกันที่คำวินิจฉัยที่ 3/2567 และคดีนี้ ดังนั้นจึงเป็นคดีรัฐธรรมนูญเดียวกัน ต้องใช้หลักฐานพิสูจน์เดียวกันด้วย โดย พ.ร.ป.วิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 บัญญัติให้การพิจารณาคดีใช้ระบบไต่สวน ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจค้นหาความจริง ดำเนินการไต่สวนอย่างเข้มข้น ตามมาตรฐานพิสูจน์สูงสุด โดยคำวินิจฉัยที่ 3/2567 จึงรับฟังในคดีนี้ได้ ไม่ต้องรับฟังพยานหลักฐานใหม่ เพื่อพิสูจน์ข้อแตกต่างต่อไปดังที่ก้าวไกลอ้าง

ละเอียด! เหตุผลศาล รธน.ยุบ ‘ก้าวไกล’ เจตนาแยกสถาบันฯ จากชาติ หวังผลเลือกตั้ง

ส่วนที่ก้าวไกล อ้างว่าเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ การกระทำการใด ๆ ต้องดำเนินการตามคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) เมื่อฟังคำวินิจฉัยที่ 3/2567 เป็นการกระทำของ สส.ก้าวไกล ปฏิบัติหน้าที่ มิได้ตกตามอาณัติของพรรค และการประกันตัวจำเลยมาตรา 112 กระทำการส่วนตัว การกระทำตามคำวินิจฉัยที่ 3/2567 จึงไม่ใช่ในนามของก้าวไกลนั้น

ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า ก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ข้อเท็จจริง 3/2567 ฟังเป็นยุติแล้วว่า การเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2564 ลดทอนคุณค่าสถาบันฯ ดำเนินการโดย สส.ก้าวไกล เพียงพรรคเดียว และเบิกความต่อศาล ได้เสนอนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง 2566 และนโยบายนี้ยังคงปรากฏบนเว็บผู้ถูกร้อง ถือว่าก้าวไกล กับ สส.ก้าวไกล เสนอร่างกฎหมายดังกล่าว 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งก้าวไกลเสนอนโยบายหาเสียงในการแก้ไขมาตรา 112 ต่อ กกต. เพื่อใช้ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง หรือเป็นนายประกันจำเลยคดีมาตรา 112 หรือตกเป็นจำเลยคดีนี้เสียเอง แม้การกระทำนี้ไม่ผ่าน กก.บห. แต่ กก.บห. ต้องควบคุมมิให้สมาชิกกระทำการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย เช่นนี้กระทำการมุ่งหวังผลักดัน ถือเป็นการกระทำผิดโดยอ้อม โดยใช้ สส. เป็นตัวแทนหรือเป็นเครื่องมือกระทำผิด และผู้ถูกร้องตกลงร่วม และแสดงบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยรณรงค์ปลุกเร้า ปลุกปั่นให้สังคมเห็นด้วยกับการแก้ไข ม.112 อาจก่อให้เกิดความขุ่นเคืองต่อประชาชน และยุยงให้เกิดความเกลียดชัง ส่งผลให้หลักการ การดำรงอยู่ของระบอบการปกครอง และอัตลักษณ์ต้องถูกล้มเลิกหรือยกเลิกไป ข้อโต้แย้งของก้าวไกล จึงไม่อาจรับฟังได้

ประเด็นพิจารณาวินิจฉัยมีว่า การกระทำของก้าวไกล ตามคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ไม่เป็นการล้มล้างการปกครอง หรือไม่ เป็นการกระทำอันอาจปฏิปักษ์ต่อการปกครอง ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) (2) และข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคการเมือง ไม่ได้สัดส่วน และจำเป็นถึงขนาดต้องยุบพรรคก้าวไกล ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรยุบพรรคก้าวไกล ตามข้อโต้แย้งของก้าวไกล หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า ก้าวไกล ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาโต้แย้งคำวินิจฉัยที่ 3/2567 โดยอ้างข้อเท็จจริงว่า การเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของ สส.ก้าวไกล มีเนื้อหาให้เปลี่ยนฐานความผิดออกจากความมั่นคงของรัฐ เสนอให้ยกเว้นโทษ ยกเว้นความผิด เสนอให้ความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดอันยอมความได้ มิได้เป็นการลดทอนการคุ้มครองสถาบันฯ ก้าวไกลมิได้มีเจตนาแยกสถาบันฯกับความเป็นชาติไทยออกจากกัน แต่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายทั่วไป และหลักสากลเท่านั้น และ กกต.ไม่เคยสั่งห้ามก้าวไกลมิให้ใช้นโยบายหาเสียงแก้ มาตรา 112 และ กกต.เคยไม่รับคำร้องกรณีมีผู้ร้องกรณีดังกล่าว 

การที่สมาชิกก้าวไกล รณรงค์ทางการเมือง หรือแสดงความเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เป็นการกระทำเฉพาะตัว เข้าไปสังเกตการณ์ ฟังข้อเรียกร้องจากประชาชน เป็นนายประกันจำเลยคดีมาตรา 112 ด้วยหลักการว่า ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยยังไม่ผิด หรือการติดสติกเกอร์ยกเลิกมาตรา 112 ของนายพิธา บนเวทีปราศรัยหาเสียงที่ชลบุรี เป็นการบริหารสถานการณ์ของการปราศรัยเท่านั้น อีกทั้งการที่ก้าวไกล คัดค้านหลักฐานของฝ่ายความมั่นคง ซึ่งพยานหลักฐานที่ใช้วินิจฉัย ตามคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ก้าวไกลกล่าวอ้างคัดค้าน ล้วนเป็นข้อเท็จจริงเดิม ที่ก้าวไกลเคยต่อสู้ในชั้นพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ คดีตามคำวินิจฉัยที่ 3/2567 มาแล้วทั้งสิ้น

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้ว คำวินิจฉัยที่ 3/2567 ว่า พฤติการณ์ดังกล่าวของก้าวไกล เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคสี่ บัญญัติว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาดผูกพันรัฐสภา ครม. ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมต้องผูกพันศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ด้วย

ส่วนการกระทำของก้าวไกลเป็นการกระทำอันอาจปฏิปักษ์การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่นั้น เห็นว่า การกระทำอันล้มล้างการปกครองย่อมร้ายแรงกว่า อันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครอง เนื่องจากการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ หมายถึงกระทำตนต่อต้านฝ่ายตรงข้าม ฉะนั้นเมื่อข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยที่ 3/2567 รับฟังได้ว่า ก้าวไกล กระทำการล้มล้างการปกครองฯ ย่อมเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ด้วย 

เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัย 3/2562 (คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ) ว่า คำว่าปฏิปักษ์ไม่ต้องรุนแรงถึงขนาดมีเจตนาล้มล้างทำลายให้สินไป ไม่จำเป็นต้องตั้งตนเป็นศัตรูหรือฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น เพียงแค่กระทำขัดขวาง หรือสกัดกั้นมิให้เจริญก้าวหน้า หรือกระทำให้เกิดผล เซาะกร่อนบ่อนทำลาย ให้อ่อนแอลง เข้าลักษณะปฏิปักษ์แล้ว การนำสถาบันฯ ไปใช้เพื่อความได้เปรียบ และมุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมือง เป็นการกระทำที่อาจปฏิปักษ์การปกครองฯ 

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ว่าพฤติการณ์ของก้าวไกล ที่เสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยใช้ประโยชน์จากสถาบันฯ หวังผลคะแนนเสียง ชนะการเลือกตั้ง มุ่งหมายให้สถาบันฯ อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน ก้าวไกลมีเจตนาเซาะกร่อน บ่อนทำลาย ทำให้อ่อนแอลง อันนำไปสู่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยฯ ในที่สุด การกระทำของก้าวไกล เข้าลักษณะอันอาจปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองฯ 

ละเอียด! เหตุผลศาล รธน.ยุบ ‘ก้าวไกล’ เจตนาแยกสถาบันฯ จากชาติ หวังผลเลือกตั้ง

นับแต่รัฐธรรมนูญปี 2475 เป็นต้นมา การปกครองของไทย ดำรงเจตนารมณ์ยึดมั่นระบอบประชาธิปไตยฯ ต่อเนื่องมาตลอด แสดงให้เห็นถึงการตระหนัก และยอมรับในค่านิยมนานาชาติว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ ตามมาตรา 2 ไทยปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหาษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งยึดหลักนิติธรรมอันเป็นสากล ตามมาตรา 3 วรรคสาม และปกป้องสิทธิมนุษยชน ตามมาตรา 4 และความเป็นอิสระของศาล ตามมาตรา 188 วรรคสอง ขณะเดียวกันมาตรา 255 บัญญัติว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ หรือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ จะกระทำไม่ได้

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ก้าวไกล และ สส.ก้าวไกล ร่วมกันเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีเนื้อหาลดทอนคุณค่าสถาบันฯ ใช้เป็นนโยบายพรรค ก้าวไกลมีพฤติการณ์ร่วมรณรงค์ทางการเมืองให้ยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 โดยมีกรรมการบริหารพรรค สส. และสมาชิกพรรคก้าวไกล เป็นนายประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในความผิดมาตรา 112 หรือตกเป็นจำเลยหรือผู้ต้องหาเสียเอง และยังเคยแสดงความเห็นให้แก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ผ่านการจัดกิจกรรมทางการเมือง และสื่อสังคมออนไลน์หลายครั้ง

มีเจตนามุ่งหมายแยกสถาบันฯ กับความเป็นชาติไทยออกจากกัน เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐอย่างมีนัยสำคัญ ลดทอนสถานะความคุ้มครองสถาบันฯ ใช้ประโยชน์สถาบันฯ หวังผลคะแนนเสียงชนะการเลือกตั้ง มุ่งหมายให้สถาบันฯ เป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน ทำให้สถาบันฯถูกโจมตี ติเตียน ทำร้ายจิตใจของชาวไทย ที่เคารพเทิดทูนสถาบันฯ ทรงเป็นประมุข ศูนย์รวมความเป็นชาติ และนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นไปตามคำวินิจฉัยที่ 3/2567 จึงเป็นเด็ดขาด และมีผลผูกพันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคสี่

เมื่อพรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมืองของประชาชน มีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตย การยุบพรรคจึงต้องเคร่งครัด ระมัดระวัง ให้ได้สัดส่วน การยุบพรรคการเมืองต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และขึ้นอยู่กับการกระทำของพรรค โดยพรรคก้าวไกลมีการกระทำฝ่าฝืน พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) (2) กฎหมายดังกล่าว ต้องใช้กับพรรคการเมืองทุกพรรค ไม่ว่าพรรคการเมืองนั้นจะได้รับการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม แต่ทุกพรรคต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน อย่างเสมอภาค อันเป็นพฤติการณ์ และข้อกฎหมายที่ได้สัดส่วน และจำเป็นต้องปฏิบัติตาม หยุดยั้งการทำลายพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องสั่งยุบพรรคก้าวไกล ตามที่กฎหมายบัญญัติให้กระทำโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้

แม้นักวิชาการสาขาต่างๆ นักการเมือง หรือนักการทูตต่างประเทศ ต่างมีรัฐธรรมนูญภายในประเทศ ข้อกฎหมายของตนแตกต่างกันไปตามบริบทแต่ละประเทศ การแสดงความเห็นใดๆ ย่อมต้องมีมารยาททางการทูต และทางการต่างประเทศที่ต้องกระทำต่อกัน

ศาลรัฐธรรมนูญมีหลักฐานควรเชื่อได้ว่า พรรคก้าวไกลกระทำการตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 (1) (2) อันเป็นเหตุให้ยุบพรรคก้าวไกล ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคสอง

โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ให้ยุบพรรคก้าวไกล ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 (1) คือกรณีล้มล้างการปกครอง และมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 เสียง (นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์) ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 (2) กรณีกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครอง

ส่วน กก.บห.จะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา 92 หรือไม่ เพียงใด โดยก้าวไกล ได้ยื่นโต้แย้งว่า พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคสอง ไม่ได้บัญญัติระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของ กก.บห. ไว้อย่างชัดแจ้ง จึงต้องพิจารณาให้สอดคล้อง เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 5 ปี นับแต่วันยุบพรรค และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ชุดที่ 1-2 เท่านั้น 

ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคสอง บัญญัติบทบังคับว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิ กก.บห.

เมื่อก้าวไกลกระทำการอันเป็นเหตุให้สั่งยุบพรรค ชอบที่ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ระหว่าง 25 มี.ค.2564-31 ม.ค.2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคก้าวไกล ตาม พ.ร.ป พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคสอง โดยมีระยะเวลากำหนด 10 ปี สอดคล้องกับระยะเวลาตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 94 (2) รวมถึงห้ามให้ผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เข้าไปเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ภายใน 10 ปี

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์