T-Brands จะไปต่อไหวไหม | อิทธิ กวีพรสกุล

T-Brands จะไปต่อไหวไหม | อิทธิ กวีพรสกุล

หลังจาก “คืนความสุข” มาเป็นระยะเวลา 9 ปี (2557-2565) ประเทศไทยก็เข้าสู่ระเบียบใหม่ ที่ความสามารถในการแข่งขันลดลงอย่างน่าใจหาย

การปรากฏตัวของ “แมลงสาบ” ในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นเครื่องสะท้อนเศรษฐกิจทางอ้อมกำลังบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งอาจส่งผลให้ไทยต้องสูญเสียตำแหน่งตลาดหลักทรัพย์ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แก่สิงคโปร์และมาเลเซีย

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET) รอบล่าสุดลงมาแตะ 1,288 จุด เกือบถึงระดับต่ำสุดของปีนี้ที่ 1281 จุด (19 มิ.ย.67) และไต่ระดับขึ้นสู่ 1,300 จุดช่วงปลาย ก.ค.2567 แนวโน้มตลาดที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดในช่วง ส.ค.2567

นอกจากการอ่านสัญญาณทางเทคนิคยังต้องรอความชัดเจนของประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นค้างคาทางการเมืองในประเทศ

บริษัทหลักทรัพย์ DAOL วิเคราะห์ฉากทัศน์ (Scenario Analysis) การเมือง 3 คดีใหญ่ที่ก่อให้เกิดความไม่แน่นอน คือ

คดียุบพรรคก้าวไกล ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัย 7 ส.ค.2567

คดีคุณสมบัตินายกฯ ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยอีกครั้งใน 14 ส.ค.2567 และ

คดี ม.112 ทักษิณ ชินวัตร ศาลอาญาประทับรับฟ้องและอนุมัติให้ปล่อยตัวชั่วคราว ยื่นหลักประกันและห้ามจำเลยออกนอกประเทศ ศาลนัดครั้งต่อไป 19 ส.ค.2567

ฉากทัศน์แรก ยุบพรรค นายกฯรอด ทักษิณรอด - การบริหารราชการต่อเนื่อง - ภาพรวมของตลาดจะชัดเจนยิ่งขึ้น - เสียงของรัฐบาลจะแข็งแรงกว่าเดิม 

ยุบพรรค นายกฯไม่รอด ทักษิณไม่รอด - เกิดสุญญากาศ ทางการเมืองจะต้องรอดูว่ารัฐบาลจะไปต่อได้หรือไม่ _ อาจมีนายกฯ คนใหม่จากพรรคอื่น (?) หรือรัฐบาลรักษาการ -ไม่สามารถออกมาตรการใหม่ๆ - เป็นลบต่อตลาด

ฉากทัศน์ที่สอง ยุบพรรค นายกฯรอด ทักษิณไม่รอด - บริหารราชการแผ่นดินต่อเนื่อง - ความรุนแรงทางการเมืองลดลงหรืออาจไม่มีความรุนแรง ยุบพรรค นายกฯไม่รอด ทักษิณรอด - มีความเสี่ยงในด้านการบริหารราชการ - อาจมีการประท้วงเรื่องการหานายกฯคนใหม่

ไม่ยุบพรรค นายกฯรอด ทักษิณไม่รอด - ไม่มีผลเปลี่ยนแปลง - เสถียรภาพของรัฐบาลจะน้อยกว่ากรณีแรก

ฉากทัศน์ที่สาม ไม่ยุบพรรค นายกฯไม่รอด ทักษิณไม่รอด - ไม่ดีต่อ SET เนื่องจากพรรคก้าวไกลมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ -  อาจมีการเปลี่ยนรัฐบาล 

ไม่ยุบพรรค นายกฯรอด ทักษิณไม่รอด - รัฐบาลไม่เปลี่ยนแปลง การยั่วยุน้อยลง - รัฐบาลบริหารง่ายขึ้น นายกฯแสดงศักยภาพได้เต็มที่ 

ไม่ยุบพรรค นายกฯไม่รอด ทักษิณรอด – ส่งผลลบต่อตลาดหุ้น - ต้องมีนายกฯคนใหม่ - มีความเป็นไปได้ว่าพรรคก้าวไกลจะกลับมาเป็นรัฐบาล

สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ INNOVESTX ในสถานการณ์ต่างๆ ดังนี้

1.กรณีฐาน (Base case) ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเป็นคุณกับนายกฯเศรษฐา จะทําให้กระบวนการบริหารราชการแผ่นดินในปัจจุบันยังดําเนินต่อไปได้ คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 2.5 ในปี 2567 และร้อยละ 3.0 ในปี 2568 ตามลําดับ

2.กรณีเลวร้าย (Worse case) หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินไม่เป็นคุณกับนายกฯเศรษฐา และนํามาสู่กระบวนการสรรหานายกฯใหม่ ซึ่งยังคงมาจากพรรคเพื่อไทยจะต้องมีกระบวนการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่

ซึ่งจะทําให้กระบวนการจัดทํางบประมาณปี 2568 ล่าช้าไปอีก 1 ไตรมาส คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 2.3 ในปี 2567 และร้อยละ 2.7 ในปี 2568 ตามลําดับ

3.กรณีเลวร้ายที่สุด (Worst case) หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินไม่เป็นคุณกับนายกฯเศรษฐา และนํามาสู่กระบวนการสรรหานายกฯใหม่ แต่ไม่สามารถสรรหาได้ภายในไตรมาส 3 จะกระทบกระบวนการจัดทํางบประมาณปี 2568 ล่าช้าไป 2 ไตรมาส เป็นอย่างน้อย คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 2.0 ในปี 2567 และร้อยละ 2.5 ในปี 2568 ตามลําดับ

กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ระบุว่า อัตราการเติบโตเฉลี่ยของ GDP ไทยในช่วงปี 2550-2559 อยู่ที่ร้อยละ 3.2 ต่ำสุดในบรรดาเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยต่ำกว่าอัตราการเติบโตรุ่งโรจน์ที่เป็น “ปาฏิหาริย์แห่งเอเชีย” ในช่วงต้นทศวรรษ 1990

นักวิจารณ์หลายคนกล่าวโทษการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก หลังวิกฤติการเงินโลกปี 2551-2552 ขณะที่บางคนตำหนิความไม่มั่นคงทางการเมืองในประเทศหลังปี 2549

โดยให้เหตุผลว่าแม้ทั้งสองปัจจัยส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีประสิทธิภาพต่ำกว่ามาตรฐานอย่างไม่ต้องสงสัย แต่รากเหง้าของปัญหามีมากกว่านั้น

เศรษฐกิจไทยอ่อนแอโดยพื้นฐาน ไม่ว่าจะเกิดอะไรทางการเมืองภายในประเทศหรือเศรษฐกิจโลก

จุดอ่อน คือ ประสิทธิภาพการผลิตลดลง สินค้าส่งออกล้าสมัย สังคมผู้สูงอายุ ระบบการศึกษาที่ยุ่งยากและความเหลื่อมล้ำ ปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจโลกที่ไม่เอื้ออำนวยทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง จนดูเหมือนเป็นช่วงทศวรรษที่สูญหาย (The Lost Decade)

ความไม่สงบทางการเมือง ความกังวลด้านเศรษฐกิจและการที่บริษัทจดทะเบียนกระทำผิดกฎ สั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนในประเทศ

นักลงทุนต่างชาติจึงขายหุ้นไทยและหันไปลงทุนในตลาดหุ้นมาเลเซียและสิงคโปร์แทน แม้หุ้นไทยยังมี valuation ต่ำแต่ไม่เพียงพอที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุน

ขณะนี้เศรษฐกิจไทยแสดงสัญญาณการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้นและมาตรการกระตุ้นใหม่ๆ การเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3 ใน พ.ค.2567 เป็นร้อยละ 37 ใน มิ.ย.2567 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 MoM แม้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีของการเพิ่มขึ้นระหว่าง พ.ค.-มิ.ย.ที่ร้อยละ 6.8)

คาดว่าโครงการ digital wallet จะเริ่มอย่างเร็วภายใน ก.ย.หรืออย่างช้า พ.ย.นี้ จะช่วยหนุนการเติบโตของ GDP ประมาณร้อยละ 0.2 - 0.4

ความหวังในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยในภาวะที่ T-brands กำลังเสื่อมทรุด เราอาจนำแนวทางการสร้างสินทรัพย์ทางภูมิศาสตร์การเมือง (geopolitical asset) ของเกาหลีใต้ที่นำเสนอโดย David Dubois แห่งมหาวิทยาลัย INSEAD มาใช้ตรวจสอบกลยุทธ์แบรนด์ประเทศไทยโดยตั้งคำถามสี่มิติ (D-E-E-P)

1. Discovery (การค้นพบ) ควรเปลี่ยนแปลงอะไรเพื่อให้การค้นพบแบรนด์รวดเร็วและสนุกสนานยิ่งขึ้น? ผู้คนค้นพบแบรนด์ของคุณเมื่อใด ที่ไหนและอย่างไรโดยเปรียบเทียบกับคู่แข่ง?

2. Experience (ประสบการณ์) แบรนด์ของคุณดื่มด่ำแค่ไหน? จะเพิ่มมูลค่าทางประสาทสัมผัสของแบรนด์ระหว่างการแนะนำ จัดจำหน่ายและใช้งานได้อย่างไร?

3. Experiment (การทดลอง) องค์ประกอบใดของกลยุทธ์การเข้าสู่ตลาดของแบรนด์ที่สามารถนำไปทดลองได้ ด้านใดของการเดินทางของลูกค้าที่สามารถปรับให้เหมาะสมผ่านการทดสอบ AB (AB Testing)

4. Production of Content (การผลิตเนื้อหา) สื่อของแบรนด์คืออะไร? เนื้อหาของแบรนด์ซ้อนทับกับคำมั่นสัญญาของแบรนด์มากน้อยเพียงใด จะทำให้ข้อความแบรนด์มีชีวิตชีวาและเกี่ยวข้องกับผู้ใช้แต่ละรายมากขึ้นได้อย่างไร

สำหรับนักกลยุทธ์ด้านตราสินค้า (brand strategists) การประยุกต์ใช้แนวทางการสร้างมูลค่าแบรนด์ของเกาหลีใต้ น่าจะช่วยเพิ่มความน่าดึงดูดและเสริมสร้างความได้เปรียบการแข่งขันประเทศ หากต้องการขยายแบรนด์ไปยังตลาดระดับโลก.