เปิด 7 ชื่อแคนดิเดตชิงเก้าอี้นายกฯ คนที่ 31 หลัง ‘เศรษฐา’ พ้นเก้าอี้

เปิด 7 ชื่อแคนดิเดตชิงเก้าอี้นายกฯ คนที่ 31 หลัง ‘เศรษฐา’ พ้นเก้าอี้

เปิดชื่อ 7 แคนดิเดตในบัญชีรายชื่อ จาก 5 พรรคการเมือง ชิงเก้าอี้นายกฯ คนที่ 31 ‘เพื่อไทย’ มี ‘อุ๊งอิ๊ง - ชัยเกษม’ พปชร. ‘บิ๊กป้อม’ ภูมิใจไทย ‘อนุทิน’ ปชป. ‘จุรินทร์’ รทสช. ‘ประยุทธ์ - พีระพันธุ์’

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียง วินิจฉัยให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม รวมถึงฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบ มาตรา 160 (4) และ (5) โดยในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลง ตามมาตรา 170 (4) แล้ว รัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะ ตามรัฐธรรมนูญ 167 วรรคหนึ่ง (1) มาใช้บังคับการปฏิบัติหน้าที่ของ ครม.ที่พ้นตำแหน่งต่อไป ดังนั้น ครม.ชุดปัจจุบันจะกลายเป็น ครม.รักษาการ

สำหรับรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 บัญญัติว่า รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตําแหน่ง เมื่อ

(1) ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170

(2) อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร

(3) คณะรัฐมนตรีลาออก

(4) พ้นจากตําแหน่งเพราะเหตุตามมาตรา 144

เมื่อรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตําแหน่งตาม (1) (3) หรือ (4) ให้ดําเนินการเพื่อให้มีคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่ ตามมาตรา 158 และมาตรา 159

มาตรา 158 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคนประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน

นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตําแหน่ง

มาตรา 159 ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้า ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

การเสนอชื่อตามวรรคหนึ่งต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้อง กระทําโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

สำหรับการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ต้องเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็น สส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือ 25 คน นอกจากนี้การเสนอชื่อดังกล่าวต้องมี สส.รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือ 50 คน

ปัจจุบันมีบุคคลในบัญชีรายชื่อเสนอเป็นนายกฯ ของพรรคการเมืองรวม 5 พรรค 7 คน ดังนี้

1.พรรคเพื่อไทย 2 คน ได้แก่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายชัยเกษม นิติสิริ 

2.พรรคภูมิใจไทย 1 คน ได้แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย

3.พรรคพลังประชารัฐ 1 คน ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

4.พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) 2 คน ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สส.บัญชีรายชื่อ รักษาการ รมว.พลังงาน

5.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 1 คน ได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตหัวหน้าพรรค

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์