ผู้นำฝ่ายค้านใหม่ ในสมรภูมิสภาฯ วาระฝ่ายค้าน ประเดิมศึกซักฟอก
พรรคประชาชน หวังกับตำแหน่ง "ผู้นำฝ่ายค้าน" ที่มองว่าจะเป็นตำแหน่งที่ สปอร์ตไลท์ฉาย และขับเคลื่อนวาระการเมืองประชาชน ให้กลายเป็นความนิยม ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ที่พวกเขาหวัง ครองชัยชนะ
KEY
POINTS
Key Point :
- วาระ "พรรคประชาชน" ในสภาฯ ยังวางบทบาทเป็น "ฝ่ายค้าน" เพราะมองว่า นี่คือเวทีสร้างเรตติ้ง
- การดัน "เท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ" มาทำหน้าที่นี้ น่าจับตาว่า จะเข็นวาระ "อดีตพรรคก้าวไกล" ไปได้ไกลมากแค่ไหน
- ทั้งประเด็น ชุด (ร่าง) กฎหมายเปลี่ยนประเทศ และวาระการเมืองของประชาชน เช่น มาตรา 112 ที่เป็นผลงานจะตอกย้ำฐานความนิยมให้มั่นคง
- ในเวทีสภาฯ ยังมีอีกหลายฉากให้ "พรรคประชาชน" ได้ใช้ เพื่อขยายความนิยม ศรัทธา ทางการเมือง ทั้ง การอภิปรายทั่วไป การซักฟอก รวมไปถึงกระทู้ถามสด
- ต้องจับตา วาระพรรคประชาชน จะสร้างการเมืองของประชาชน และผันเป็นคะแนนนิยมเพื่อเอาชนะสนามการเมืองรอบหน้าหรือไม่
“พรรคประชาชน” จะกลายเป็น “พรรคการเมือง” ที่กลับมามีชื่อจารึกในระบบรัฐสภา อีกครั้งหลังจากหายไป 55 ปี
และในรอบที่กลับมานี้ จะคงทำหน้าที่ “ฝ่ายค้าน” เหมือนกับ “พรรคประชาชน” ในปี 2490 และปี 2512
“พรรคประชาชน” ที่มาแทน “พรรคก้าวไกล” ซึ่งเป็นพรรคที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินยุบพรรค เมื่อ 7 ส.ค. 2567 ในคดีการล้มล้างการปกครอง เนื่องจากการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้ถือเจตนารมณ์เดิม คือ มุ่งมั่นและทำงานเป็น “ฝ่ายตรวจสอบ” รัฐบาล และพร้อมให้ “ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” นั่งแท่น “ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร"
ตามกระบวนการแล้ว เมื่อการก่อรูปของ “พรรคประชาชน” แล้วเสร็จ ซึ่งหมายถึง การเลือกและปรับเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคแล้ว เมื่อ 9 ส.ค.2567 จะต้องแจ้งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง จากนั้น “กกต.” จะแจ้งกลับมายัง “สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร” เพื่อแจ้งรายละเอียด ทั้ง ชื่อของหัวหน้าพรรคคนใหม่ และ สส.ของพรรค ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์
โดย “หัวหน้าพรรคประชาชน” จะถือเป็นว่าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ทว่า การนำชื่อทูลเกล้าฯ นั้น ยังต้องพิจารณาเงื่อนไข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 คือ เป็นหัวหน้าพรรคที่มีจำนวนสส. มากที่สุด และไม่มีสส.ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร
สำหรับเงื่อนไข ของ “จำนวน สส.มากที่สุด” ข้อนี้ถือว่าผ่าน แต่ยังต้องรอดูวาระ “ชิงดำ” เก้าอี้ “รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง” ที่ว่างลง เพราะ “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” อดีตรองประธานสภาฯคนที่หนึ่ง ต้องหลุดจากเก้าอี้ เพราะพ้นความเป็น “สส.” ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดียุบพรรคก้าวไกล
ทว่าในประเด็นนี้ “แกนนำพรรคประชาชน” ยังไม่มีใครให้คำตอบที่แน่ชัดว่า จะเสนอชื่อใคร
แม้ “ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล" สส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคก้าวไกล ฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) จะให้สัมภาษณ์เมื่อ 9 ส.ค. ที่สื่อสารให้สังคมเข้าใจว่า “ผู้นำฝ่ายค้าน” คือ คนเดียวกับหัวหน้าพรรคประชาชน
“หากขั้นตอนทางทะเบียนของพรรคเสร็จ ยื่นให้กกต.รับรองเรียบร้อยแล้ว ต้องส่งเรื่องให้ประธานสภาฯเสนอให้แต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านคนใหม่ โดยระยะเวลาที่ใช้ แม้ไม่แน่ชัด แต่เจ้าหน้าที่สภาฯ รับปากว่า จะจัดการให้โดยเร็วที่สุด” ปกรณ์วุฒิ ระบุ
ทว่า ในความสำคัญของตำแหน่ง “รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง” สามารถขับเคลื่อนวาระของ “สภาฯประชาชน” ที่เคยถูกก่อร่างไว้ในสมัย “ปดิพัทธ์” ยังคงเป็นวาระต้องการสานต่อ ยังเป็นสิ่งที่ต้องคำนึง แต่ด้วยเสียงของ “สส.ฝ่ายค้าน” ที่มี 179 เสียง ที่ไม่พอจะสู้ “ฝั่งรัฐบาล” ที่ครองเสียงข้างมากในสภา ดังนั้น การส่งคนชิงตำแหน่งนี้ อาจเป็นการใช้เวทีสภาฯ เพื่อโชว์วาระการเมือง ของ “ประชาชน” มากกว่า “เอาจริง”
ดังนั้นในประเด็นนี้ หาก “พรรคประชาชน” ต้องการรอสร้างวาระการเมือง เสนอชื่อชิงรองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ขั้นตอนของการเสนอชื่อ “หัวหน้าพรรค” เป็นผู้นำฝ่ายค้านอาจจะต้องรอให้กระบวนการแล้วเสร็จ และเมื่อพิจารณาไทม์ไลน์การแต่งตั้ง “ผู้นำฝ่ายค้าน” ที่ผ่านมา เราอาจรอถึงสิ้นเดือนส.ค. หรือต้นเดือนก.ย.นี้
สำหรับ งานในสภาฯ ภายใต้ “ฝ่ายค้าน” ที่มีภารกิจตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลในวาระกรรมาธิการ(กมธ.) สามัญ แม้ สส.ของ “พรรคประชาชน” จะลดลง แต่ไม่เป็นเหตุให้ “เปลี่ยนแปลง” จำนวน "ประธานกมธ.” ตามโควตาเดิม เพราะยังเป็นไปตามสูตรคำนวณเดิม
ส่วนตำแหน่ง ประธาน กมธ.ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ก่อนหน้านี้ “อภิชาติ ศิริสุนทร” อดีตสส.ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง นั่งทำหน้าที่ ได้เปลี่ยนตัวให้ “พูนศักดิ์ จันทร์จำปี” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน นั่งแทนแล้วเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมแก้ปัญหาไว้ล่วงหน้า
ดังนั้นเมื่อพรรคประชาชนเตรียมการแก้ปัญหาไว้ล่วงหน้าทั้งหมดแล้ว จึงพร้อมเดินงานสานต่อได้ต่อเนื่องทันที
ที่น่าสนใจ การนำของ “ณัฐพงษ์” ในบทบาทผู้นำฝ่ายค้าน ว่าจะเรียกเรตติ้งให้กับ “พรรคประชาชน” ในสมรภูมิการเมืองสภาฯ ได้มากน้อยแค่ไหน
หากดูทิศทางการทำงานของ “ฝ่ายค้าน” มีวาระที่ต้องจับตา ทั้งการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 การอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152
โดยทั้ง 2 ประเด็นนั้น รัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำได้ปีละหนึ่งครั้ง ซึ่งปีการประชุมสภาฯ เพิ่งจะเริ่มต้นและมีเวลาไปจนถึง 9 เม.ย.2568
ดังนั้น เมื่อดูปฏิทินทำงานของ “รัฐบาล-เพื่อไทย” ที่มีประเด็นใหญ่รอขับเคลื่อน ทั้ง “เติมเงินหมื่นผ่านดิจิทัลวอลเล็ต” การใช้งบประมาณแผ่นดิน รวมถึงการบริหารราชการที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า “เอื้อพวกพ้อง” ดังนั้น “ฝ่ายค้าน” ยังมีเวลาที่จะเก็บข้อมูลเพื่อใช้เวทีสภาฯ สร้างเรตติ้งการเมือง
นอกจากนั้น คือ “การตั้งกระทู้ถามสด” ที่ “อดีตพรรคก้าวไกล” ได้วางเป้าไว้เป็นเวทีเรียกกระแส ความสนใจทางการเมือง “รายสัปดาห์” รวมไปถึงการขับเคลื่อน “ชุดกฎหมายเพื่อเปลี่ยนประเทศ” การนิรโทษกรรมคดีการเมือง คดีมาตรา 112 รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นการตอกฐานความนิยมการเมืองให้แน่นและมั่นคง
ทว่าปรากฏการณ์ “พรรคประชาชน” จะสร้างวาระที่โดนใจ “มวลชน” ที่มากกว่า “ด้อมส้ม” จนขยายฐาน “แนวร่วม-ความนิยม" จนกลายเป็นเบอร์หนึ่งของเวทีการเมือง และสามารถเป็น “รัฐบาล”เสียงข้างมากเพียงพรรคเดียวได้หรือไม่ ต้องจับตาตั้งแต่นาทีนี้เป็นต้นไป.