การเมืองไทยเดินหน้าต่อ 14 ส.ค.ก็แค่อุบัติเหตุ
วันนี้ 16 ส.ค.วันสันติภาพไทยถือเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ที่สมควรรำลึกถึงผลงานของบุคคลในอดีตอันมีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเมืองโลก
เดือน ส.ค.เมื่อ 79 ปีก่อนถือเป็นห้วงเวลาสำคัญของสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามที่ยืดเยื้อมานานถึงจุดจบในเดือนนี้ เมื่อสหรัฐใช้ระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมาของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 6 ส.ค.2488 ตามด้วยเมืองนางาซากิ ในวันที่ 9 ส.ค. ส่งผลให้รัฐบาลสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามในวันที่ 15 ส.ค.
ส่วนในประเทศไทยซึ่งอยู่ในสมัยรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ วันรุ่งขึ้น 16 ส.ค. นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 และผู้นำขบวนการเสรีไทยประกาศให้การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและอังกฤษถือเป็นโมฆะ ไม่ผูกพันกับประชาชนชาวไทย เนื่องจากเป็นการกระทำอันผิดเจตจำนงของประชาชนชาวไทย ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง
การสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายของประวัติศาสตร์ยุคใหม่ สหรัฐอเมริกาผู้เอาระเบิดปรมาณูไปถล่มญี่ปุ่นกลายเป็นมหาอำนาจใหม่ (แต่ตอนนี้สหรัฐกับญี่ปุ่นเป็นเพื่อนซี้ปึ้กไปไหนไปกัน) เจ้าอาณานิคมยุโรปเดิม อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส ต่างเสียหายหนักระหว่างสงคราม จำเป็นต้องฟื้นฟูบูรณะประเทศ จึงทยอยให้เอกราชกับประเทศอาณานิคมกันเป็นแถว พูดถึงเรื่องนี้ประเทศไทยเราภูมิใจเป็นนักเป็นหนาว่าไม่เคยตกเมืองขึ้นใคร ถึงวันนี้มาดูกันหน่อยว่า ในโลกยุคใหม่เส้นทางของเรากับเพื่อนบ้านแตกต่างกันแค่ไหน หลังจากเมื่อวันที่ 14 ส.ค. ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งฟันนายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาหยกๆ
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแถบอาเซียนประจำปี 2567 ต้องยกให้สิงคโปร์ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. สิงคโปร์ได้ลอว์เรนซ์ หว่อง ผู้นำรุ่นที่ 4 หรือผู้นำ 4G เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่สืบต่อจากลี เซียนหลุง บุตรชายคนโตของลี กวนยู บิดาผู้ก่อตั้งประเทศ ในด้านเศรษฐกิจล่าสุดสิงคโปร์ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ ขยายตัว 2-3% จากคาดการณ์เดิมที่ 1-3% ขณะที่ไทยนั้นหลังเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับนายกฯ เศรษฐา กูรูหลายสำนักมองว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยเพิ่มมากขึ้น เป็นความเสี่ยงด้านลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ และการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจล่าช้า
เนื่องในวันสันติภาพไทยและเป็นวันดีเดย์อีกวันหนึ่ง ของการเมืองไทย ที่ไม่ใช่แค่วันหวยออก 16 ส.ค.2567 สภาจะลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่มาแทนนายกฯ เศรษฐา แคนดิเดตแต่ละพรรคเป็นใครบ้างคงทราบชื่อกันแล้ว จะรัก จะชอบ จะชัง จะชื่นชม ขอแค่ให้ระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาของไทยเดินหน้าไปได้ตามกลไก ความแน่นอน คาดการณ์ได้ เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะส่งเสริมความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เกือบๆ หนึ่งปีที่นายกฯ เศรษฐานำประเทศไทยกลับสู่เรดาร์โลกอย่าให้เสียเปล่า ช่วยกันเดินหน้าต่อไป ถือเสียว่า 14 ส.ค.เป็นแค่อุบัติเหตุ