พิธาเปิดใจรอยเตอร์ 'การเมืองไทยไม่ไปไหน รอเวลาของผม'
พิธาเผยรอยเตอร์ นักการเมืองไทยต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อป้องกันการเข้ามาแทรกแซงที่ทำให้ประเทศ “อยู่ในวังวน” หลังศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล สั่งนายกฯ เศรษฐาพ้นตำแหน่ง
KEY
POINTS
- พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กล่าวว่า โทษตัดสินทางการเมือง 10 ปี ไม่ได้ลดทอนความมุ่งมั่นของตนที่จะนำพาประเทศเริ่มต้นสู่การปฏิรูปครั้งใหญ่
- หลังจากนี้ตัวเขาจะกลับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดไปเป็นนักวิจัยประชาธิปไตยที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
- วางแผนเขียนบันทึกความทรงจำ เดินทางบรรยายและร่วมประชุมสัมนาว่าด้วยกิจการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หวังจะกลับมาเล่นการเมืองแบบแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
พิธา เผยรอยเตอร์ นักการเมืองไทยต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อป้องกันการเข้ามาแทรกแซงที่ทำให้ประเทศ “อยู่ในวังวน” หลังศาลรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคก้าวไกล สั่งนายกฯ เศรษฐาพ้นตำแหน่ง
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่พรรคก้าวไกล ของเขาถูกขวางไม่ให้ตั้งรัฐบาลเมื่อปีที่แล้ว กล่าวว่า โทษตัดสินทางการเมือง 10 ปี ไม่ได้ลดทอนความมุ่งมั่นของตนที่จะนำพาประเทศเริ่มต้นสู่การปฏิรูปครั้งใหญ่ รวมถึงหยุดยั้งองค์กรอิสระไม่ให้ถูกใช้ในทางการเมือง
ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมาประเทศไทยตกอยู่ในวังวนรัฐประหารและรัฐบาลต้องพ้นตำแหน่งเพราะคำพิพากษาของศาล เกิดการแย่งอำนาจระหว่างพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งกับผู้มากบารมีที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับกองทัพและสถาบันหลัก
“ต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่ ประชาชนไม่ได้อะไรเลย” พิธากล่าวกับรอยเตอร์ โดยหมายถึงการที่พรรคก้าวไกลถูกยุบและนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินพ้นจากตำแหน่งโดยฝีมือของศาลรัฐธรรมนูญในระยะเวลาห่างกันแค่อาทิตย์เดียว
“เราสับสนระหว่างความเคลื่อนไหวกับความก้าวหน้า มันเหมือนเราวนอยู่ที่เดิม แล้วคิดว่าเราไปไหนสักที่แล้ว แต่จริงๆ เราไม่ได้ไปไหน”
ความเห็นของพิธาเกิดขึ้นหลังจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของไทย 134 คน ออกแถลงการณ์วิจารณ์ศาลว่าละเมิดเขตอำนาจศาลและทำลายความไว้วางใจของประชาชนต่อระบบกฎหมายและประชาธิปไตย
พิธาถูกตัดสิทธิเพราะพรรคก้าวไกลมีแผนแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือ ม.112 ที่มีโทษจำคุกถึง 15 ปี ศาลกล่าวว่า การรณรงค์ประเด็นนี้ทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
หลังจากนี้ตัวเขาจะกลับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดไปเป็นนักวิจัยประชาธิปไตยที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
สถานการณ์ยากลำบากของเขาช่วยให้เห็นภาพรวมการเชือดเฉือนกันทางการเมืองของไทย เมื่อพิธาที่ได้รับความนิยมมากถูกกันออกไปนอกสนาม ทั้งๆ ที่เขานำพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งอย่างไม่มีใครคาดคิด สะท้อนว่าสาธารณชนรับรองนโยบายก้าวหน้าต่อต้านอำนาจเก่าของพรรค
ส่วนตัวพิธา วัย 43 ปี แม้เหตุการณ์ที่ ส.ว.คว่ำชื่อเขาไม่ให้เป็นนายกฯ จะผ่านมานานแล้ว แต่เมื่อทำโพลสำรวจความคิดเห็นครั้งใด เขาต้องเป็นตัวแรกเลือกที่ผู้ให้ข้อมูลเลือกให้เป็นนายกฯ ในทุกโพล
รอเวลาของผม
พิธาและเพื่อนร่วมพรรคอีก 43 คนยังมีคดีค้างอีกหนึ่งคดี เรื่องการรณรงค์แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ซึ่งทำงานไกลกว่าการต่อต้านทุจริต สั่งสอบผิดจริยธรรมร้ายแรงอาจเจอโทษตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต
พิธา กล่าวว่า ประเด็นนี้ชี้ให้เห็นว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งจำเป็นต้องปฏิรูปสถาบันอย่าง ปปช.และศาลเพื่อสร้างหลักประกันความเป็นอิสระของสถาบันเหล่านั้น และประชาชนสามารถตรวจสอบได้
“การลงโทษใครสักคนเพราะมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมที่แตกต่างกัน ถือว่ามากเกินไปสำหรับประชาธิปไตยของเรา”
อย่างไรก็ตาม แม้คำพิพากษาทั้งสองคดีจะสั่นสะเทือนการเมืองไทย และสร้างความหวาดวิตกถึงแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศที่กำลังชะงักงัน แต่สถานภาพเดิมยังคงอยู่หลังผู้เสียหายทั้งสองคดีจัดทัพใหม่ภายในสองวันหลังคำพิพากษา พรรคก้าวไกลตั้งพรรคใหม่ชื่อว่า พรรคประชาชน ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลนำโดยเพื่อไทยก็ได้ แพทองธาร ชินวัตร มาแทนเศรษฐา เธอได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากสภาในวันศุกร์ (16 ส.ค.) และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีในวันอาทิตย์ (18 ส.ค.)
แพทองธารเป็นบุตรสาวของทักษิณ ชินวัตร นักการเมืองรุ่นใหญ่ที่มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ พรรคการเมืองประชานิยมของเขาเสียหายหนักสุดจากความโกลาหลของการเมืองไทย เขาเองก็เจอคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งจะเริ่มสืบพยานในเดือน ก.ค.2568
ส่วนพิธาวางแผนเขียนบันทึกความทรงจำถึงชีวิตอันผันผวน เดินทางบรรยายและร่วมประชุมสัมนาว่าด้วยกิจการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมความหวังจะกลับมาเล่นการเมืองแบบแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
“ผมกำลังรอคอยเวลาของผม ผมยังต้องการอย่างยิ่งที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศไทยผมจะสั่งสมความรู้และประสบการณ์เพื่อว่าเมื่อผมกลับมาเป็นผู้นำประเทศ ผมจะเก่งกว่าเดิมในตอนนั้น”