'ปกรณ์วุฒิ' ลั่นไม่เห็นด้วยยื่นยุบ 'เพื่อไทย' ควรให้ ปชช.ตัดสินผ่านคูหา

'ปกรณ์วุฒิ' ลั่นไม่เห็นด้วยยื่นยุบ 'เพื่อไทย' ควรให้ ปชช.ตัดสินผ่านคูหา

'ปกรณ์วุฒิ' ออกตัวไม่เห็นด้วย นักร้องนิรนามยื่นยุบ 'เพื่อไทย' ยันควรให้ประชาชนตัดสินผ่านคูหา ชี้เป็นสิทธิ์วิจารณ์ถูกครอบงำหรือไม่ ลั่นบุคคลภายนอกไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ เชื่อ สว.ชุดใหม่ทำงานง่าย หวังร่วมแก้ รธน.ด้วยกัน

เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2567 ที่รัฐสภา นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชช.) รักษาการประธานคณะกรรมการประสานงานฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาร่วมของรัฐสภาในปลายเดือนนี้ ที่รัฐบาลส่งสัญญาณพิจารณาเกี่ยวกับกระบวนการยุบพรรคและจริยธรรมของนักการเมือง ว่า มีการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการมาบ้าง ทั้งการยุบพรรคและการตรวจสอบจริยธรรมนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งจากการพูดคุยกันก็รู้ว่าผิดหลักประชาธิปไตย แต่ตนเข้าใจในแต่ละพรรค ที่จะมี. ยืนใดๆ ในนามพรรค ก็คงต้องมีการพูดคุยกันอย่างละเอียดภายในพรรคก่อน แต่ในเบื้องต้น สส. เกือบทั้งสภาเห็นร่วมกันหมดแล้วว่าหลักการประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น ควรเป็นอย่างไร เกี่ยวกับเรื่องอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการตั้งพรรคและการยุบพรรค กระบวนการควรจะเป็นแบบไหน พรรคการเมืองควรตั้งง่ายและยุบยาก

นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม คงมีการพูดคุยกันในแต่ละพรรคการเมืองอีกครั้ง และร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการแก้ไขก็ถูกบรรจุไปหลายร่างแล้ว ที่เสนอโดยพรรคประชาชน แต่อาจจะมีเพิ่มเติมอีก ซึ่งอาจจะต้องแยกกันระหว่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญ เพราะการยุบพรรคจะอยู่ใน  พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องใช้เวลาสักระยะ 

เมื่อถามว่าประเมิน สว.ชุดใหม่ที่จะร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญง่ายขึ้นหรือไม่ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ถ้าเทียบกับชุดที่แล้ว ตนคิดว่าอย่างไรก็ง่ายขึ้น แต่จะง่ายแค่ไหนก็ต้องบอกตามตรงว่ายังไม่เคยร่วมประชุมกับ สว.ชุดใหม่เลย ก็อาจจะประเมินยาก แต่หากประเมินโดยทั่วไปแล้ว สว. ชุดใหม่ง่ายกว่าชุดที่แล้วแน่นอน 100% แต่คงต้องพูดคุยกับ สว.ในระดับวิปก่อน

เมื่อถามว่าจากที่บุคคลนิรนามยื่นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยุบพรรคเพื่อไทย เนื่องจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าครอบงำ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ตนต้องบอกว่าไม่เห็นด้วยกับการที่ใครก็ตาม ยื่นยุบพรรคการเมืองด้วยข้อหาแบบนี้ โดยหลักแล้ว ด้วยข้อหาใดๆก็ตาม การยุบพรรคควรเกิดจากประชาชนไม่เลือกพรรคนั้น ตนคิดว่าการที่บุคคลภายนอกมีอิทธิพลกับพรรคใดๆก็ตาม เป็นเรื่องที่ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ และสามารถตัดสินได้ผ่านคูหาเลือกตั้ง ไม่ว่านายกรัฐมนตรีหรือผู้นำพรรคนั้นจะบริหารประเทศด้วยตัวเองหรือถูกชักจูงจากคนอื่น ก็เป็นสิทธิ์ในการวิพากษ์วิจารณ์ และเป็นสิทธิ์ที่ประชาชนจะตัดสินว่าถูกต้องหรือไม่ ชอบหรือไม่ แต่ต้องไม่ใช่การให้คนไม่กี่คนมาตัดสินว่าผิดกฎหมาย แล้วให้คนไม่กี่คนไปยื่นยุบพรรค

ส่วนการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ฝ่ายค้านก็ทำไปตามกระบวนการปกติที่เคยทำ ไม่ว่าจะตรวจสอบรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลนายเศรษฐาอย่างไร เราก็ทำไปตามนั้น และดูว่าผลงานที่ออกมากับสิ่งที่สัญญากับประชาชนตรงกันหรือไม่ และนำพาประเทศไปสู่ทางไหน เรื่องบุคคลภายนอก ตนคิดว่าไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญ