รัฐบาลจ่อฟื้นแผนบริหารน้ำ 2 แสนล.ยุค 'ยิ่งลักษณ์' แก้น้ำท่วม สร้างเขื่อน
'ภูมิธรรม' ควงนำทัพ รมต.ถกหน่วยงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตอนบน 'ธรรมนัส' โยนแผนระยะยาวแก้ไขปัญหาแม่น้ำยม ป้องน้ำท่วม 'สมศักดิ์' ผุดไอเดียฟื้นคืนชีพ 'เขื่อน' ผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ จ่อฟื้นแผนบริหารจัดการน้ำ 2 แสนล้านยุค 'ยิ่งลักษณ์'
เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่ศาลากลาง จ.สุโขทัย อ.เมือง จ.สุโขทัย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ปฎิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมหน่วยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อสรุปสถานการณ์น้ำและแผนการแก้ไขปัญหา ที่ห้องประชุมศรีนคร ศาลากลางจังหวัดสุโขทัย อ.เมืองสุโขทัย โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข นายสุรสีห์ กิตติมงคล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สส.สุโขทัย พรรคเพื่อไทย รอรับในพื้นที่ และหน่วยงานเกี่ยวข้อง เข้าร่วม
ในที่ประชุมเริ่มจาก นายสุชาติ ทีคะสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย รายงานสถานการณ์น้ำท่วม จ.สุโขทัย พบว่าปริมาณน้ำที่ไหลผ่านพื้นที่ในช่วงที่เกิดน้ำท่วม มีปริมาณ 1,707 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะนี้เหลือเพียง 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปริมาณน้ำผ่านทั้งสิ้น 35 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 7 อำเภอ 42 ตำบล 168 หมู่บ้าน (เมืองสุโขทัย กงไกรลาศ ศรีสัชนาลัย ศรีสำโรง สวรรคโลก ศรีนคร คีรีมาศ) เกษตรกรประสบภัย 10,016 ครัวเรือน พื้นที่ประสบภัย 65,409 ไร่ พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 43,747 ไร่ ข้าว 37,606 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 2,285 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้นและอื่น ๆ 3,856 ไร่
ส่วนนายภูมิธรรม กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดในภาคเหนือ ทั้งเชียงราย น่าน แพร่ พะเยา รัฐบาลได้จัดตั้งหน่วยงาน เพื่อติดตามและเฝ้าระวัง เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เพราะความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ โดยก่อนหน้านี้ได้เดินทางไปติดตามสถานการณ์ที่ภาคเหนือตอนบน ซึ่งสถานการณ์ค่อนข้างน่าเป็นห่วง
สำหรับแม่น้ำยมไม่มีจุดรองรับน้ำ ต้องมีการทบทวนเพื่อหาช่องทางในการจัดการน้ำอย่างจริงจัง ไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซาก แม้ว่าน้ำจะเริ่มลดลงเข้าสู่สภาวะปกติ แต่ยังอยู่ในฤดูฝนต้องระมัดระวังและติดตามต่อเนื่อง และเร่งดำเนินการฟื้นฟูจากความเสียหายและเยียวยาประชาชนให้ทั่วถึง เพราะบางคนยังสิ้นเนื้อประดาตัว รัฐบาล เน้นถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาในระยะยาว โดยการวางแผนการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และเสนอให้การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเป็นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
ขณะที่ นายสุรสีห์ กิตติมงคล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินปริมาณฝนที่จะตกในช่วงเดือนกันยายน พบว่า พื้นที่ภาคเหนือ 16 จังหวัด ยังเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมฉับพลัน จึงต้องเร่งระบายน้ำในพื้นที่และซ่อมคันน้ำที่ชำรุด เพื่อควบคุมการไหลของน้ำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุม ร.อ.ธรรมนัส เสนอว่าควรมีแผนระยะยาวแก้ไขปัญหาแม่น้ำยม ตั้งแต่จ.พะเยา ถึง จ.สุโขทัย ที่มีน้ำท่วมมาตลอด ที่ควรหามาตรการป้องกันมากกว่านี้
ด้านนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่มีปีไหนที่น้ำไม่ท่วม โดยแม่น้ำยมที่ อ.ศรีสัชนาลัย รับน้ำได้ 1,900 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที มาถึงสุโขทัยรับได้ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงต้องมีเขื่อนใหญ่ หากสร้างเขื่อนใหญ่ไม่ได้ ต้องสร้างเขื่อนเรียงหิน หรือเขื่อนคอนกรีตในจุดต่างๆรวม 9,640 เมตร มูลค่า 900 กว่าล้านบาท
นายอนุทิน กล่าวเสริมว่า แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีแต่เรื่องบรรเทา ไม่มีเรื่องป้องกัน และกระทรวงมหาดไทย ถูกกดดันเรื่องเขื่อนและฝาย แต่ไม่มีเจ้าภาพทำโยนกันไปมา จึงไม่เรียบร้อย ดังนั้นรัฐบาลควรมีแผน และงบกลาง จัดการเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม และควรผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ
จากนั้นนายภูมิธรรม พบประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม มอบถุงยังชีพจำนวน 200 ชุด และกล่าวว่า จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแก้ไขทางเดินน้ำเป็นวาระแห่งชาติงบประมาณ 2 แสนล้านบาท ซึ่งแผนนี้เคยมีในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่เนื่องจากถูกรัฐประหารไปก่อน เราจะนำกลับมาทบทวน ให้แม่น้ำยม มีพื้นที่รับน้ำเหมือนแม่น้ำ ปิง วัง น่าน ถ้าพี่น้องเห็นด้วยเราจะดำเนินการ ส่วนคนที่ค้านขอให้มาคุยกับคนที่กำลังโดนน้ำท่วม เพราะเสียงของเราที่อยู่ตามลุ่มน้ำประสบภัยมาตลอดชีวิต เป็นเสียงที่มีความหมาย สำหรับแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจะแจกถุงยังชีพ และเร่งระบายน้ำ ลดค่าน้ำค่าไฟ ตรวจความปลอดภัยหมู่บ้านที่ตัดน้ำตัดไฟ คืนชีวิตปกติของคนทลายน้ำท่วมน้ำขังให้หมดโดยเร็ว และหาทางป้องกันเพราะฤดูฝนยังไม่หมด รวมถึงเร่งซ่อมแซมส่วนที่เสียหายโดยใช้งบกองทัพไทย ขอให้สบายใจ ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ จะประสานกับกองทัพ บริษัทก่อสร้าง ให้เด็กอาชีวะ และเทคนิค มาช่วยแก้ไขดำเนินการให้เร็วที่สุด โดยจะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ในวันที่ 3 กันยายน นี้
ต่อมา นายภูมิธรรม ลงมือผัดถั่วงอก ด้านนายอนุทิน ปรุงผัดกะเพรา แจกจ่ายให้ประชาชน ก่อนคณะเดินทางตรวจสถานการณ์น้ำ ที่เขื่อนหาดสะพานจันทร์ ต.หาดกุมเกาะ อ.สวรรคโลก และที่ประตูระบายน้ำบ้านคลองหกบาท ต.ป่ากุมเกาะ อ.สวรรคโลก และขึ้นเฮลิคอปเตอร์ตรวจ จากจุดจอดเขื่อนเจ้าพระยา ต.สรรพยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท บินตรวจสถานการณ์น้ำและพื้นที่การเกษตร ผ่านบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ แม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา เขื่อนเจ้าพระยา