‘11 รัฐมนตรี’ ฝ่ากับดักจริยธรรม ‘4 คดี’ ป.ป.ช.- ครหา ‘สุจริตเป็นที่ประจักษ์’
จับตา ครม.แพทองธาร 1 ‘11 รัฐมนตรี’ ฝ่ากับดักจริยธรรม ‘4 คดี’ค้าง ป.ป.ช.รอชี้มูล จังหวะ 'เกมนิติสงคราม' ไล่ล่า-เช็กบิล จุดเสี่ยงพลิกกระดาน
KEY
POINTS
- มติศาลรัฐธรรมนูญ 5 ต่อ 4 เสียง ให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากกรณีแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรี เป็นการวางมาตรฐาน “จริยธรรม” ของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไว้สูงลิบ
-
สัญญาณ “ฝ่ายค้าน” และ “ฝ่ายแค้น” เดินเกมทั้งบนดิน-ใต้ดิน แถมล่าสุดยังมีการเปิดข้อมูล อาจมีว่าที่รัฐมนตรีที่ “สอบตกคุณสมบัติ” โดยเฉพาะ“มาตรฐานจริยธรรม” มากถึง 11 คน
-
“5 คน” เป็นกลุ่มที่มีคำร้องหรือข้อกล่าวหาอยู่ในคณะกรรมการ ป.ป.ช. 4 คนยังอยู่ในชั้นไต่สวน ยังไม่ได้ชี้มูลความผิดใดๆ ส่วนอีก1 คน คือ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ จากพรรคภูมิใจไทย สมัยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผบ.ตร. กรณีไม่ได้ทำความเห็นแย้ง “คำสั่งไม่ฟ้อง” บอส อยู่วิทยา ถูกชี้มูลความผิดวินัยไม่ร้ายแรง ไม่เข้าข่ายขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี
-
ส่วนหนึ่งแม้ไม่มีคดีติดตัว ไม่ถึงขั้นมี “ลักษณะต้องห้าม” ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติอย่างชัดเจนเช่นกัน เพียงแต่มีประเด็นเรื่องการรับรู้ของ “วิญญูชน” และ “ผู้คนในสังคม” ว่าอาจมีปัญหาเรื่องจริยธรรม หรืออาจไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
-
“เกมนิติสงคราม” จากฝ่ายค้าน-ฝ่ายแค้นที่ไล่ล่า-เช็กบิลทั้งบนดิน และใต้ดิน ย่อมกลายเป็นจุดเสี่ยงที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยประมาทไม่ได้ หากรัฐบาลที่มี “แพทองธาร” เป็นผู้นำเกิดเพลี่ยงพล้ำอีกรอบ ย่อมกลายเป็นเกมเข้าทางบางพรรคการเมือง ในการชิงจังหวะขึ้นนำ พร้อมเปลี่ยนตัว “ผู้นำ” ทันที
ตามคำให้สัมภาษณ์ของ “นายกฯ อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 ก.ย.2567 หากไม่มีอะไรผิดพลาด ภายในสัปดาห์นี้จะมีการนำรายชื่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) แพทองธาร 1 ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย
คาดว่าไทม์ไลน์รัฐบาลจะเริ่มนับหนึ่ง หลังมีการแถลงนโยบายในช่วงวันที่ 10-12 ก.ย.67 นี้
ก่อนที่ ครม.แพทองธารจะมีการประชุมนัดแรก คาดว่าจะเป็นวันที่ 17 ก.ย.67 ซึ่งต้องจับตาวาระสำคัญ โดยเฉพาะการเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต รวมไปถึงฤดูกาลการแต่งตั้ง-โยกย้าย ข้าราชการ “บิ๊กล็อต” ทดแทนตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ในวันที่ 30 ก.ย.67 นี้
ไม่ต่างจากการทำหน้าที่ของบรรดารัฐมนตรี ที่ต้องจับตายิ่งยวดในประเด็นคุณสมบัติ เนื่องจากผลพวงจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 14 ส.ค.67 ที่ผ่านมา มีมติ 5 ต่อ 4 เสียง ให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากกรณีแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรี
คดีถอดถอนนายกฯ ครั้งนี้ จึงเป็นการวางมาตรฐาน “จริยธรรม” ของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไว้สูงลิบ
ไม่ว่าจะเป็นการหยิบยกรัฐธรรมนูญที่วางกลไกป้องกัน ตรวจสอบขจัดการทุจริต เพื่อมิให้ผู้บริหารใช้อำนาจตามอำเภอใจ และทุกการตัดสินใจ มีผลกระทบต่อบ้านเมือง จึงต้องมีความรับผิดชอบในทุกการกระทำ
หรือแม้แต่ตัว “อดีตนายกฯ เศรษฐา” ซึ่งศาลระบุ พฤติกรรมว่า ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม
แน่นอนว่า ย่อมกลายเป็นจุดเสี่ยงที่พรรคเพื่อไทย ต้องเรียนรู้บทเรียนเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยรอบสอง
ตอกย้ำชัดจากรายชื่อ “ครม.แพทองธาร 1” ถูกสแกนเข้ม ด้วยการขอความเห็นจาก 6 หน่วยงาน ทั้งสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และคณะกรรมการกฤษฎีกา
ชั่วโมงนี้แม้ท่าทีจากบรรดา “บิ๊กรัฐบาล” อาทิ “ภูมิธรรม เวชยชัย” ในฐานะผู้จัดการรัฐบาล จะแสดงความมั่นอกมั่นใจว่า ไม่เกินวันที่ 15 ก.ย.67 จะมี ครม.ใหม่ ส่วนประเด็นเกี่ยวกับปัญหาจริยธรรมนั้น มองว่าไม่น่ามีข้อกังวล เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการตรวจสอบอย่างรัดกุม
ทว่า หากจับสัญญาณจากบรรดา “ฝ่ายค้าน” และ “ฝ่ายแค้น” ที่เวลานี้กำลังเดินเกมทั้งบนดิน-ใต้ดิน ดูเหมือนจะสวนทางโดยสิ้นเชิง
แถมล่าสุดยังมีการเปิดข้อมูล อาจมีว่าที่รัฐมนตรีที่ “สอบตกคุณสมบัติ” โดยเฉพาะ “มาตรฐานจริยธรรม” มากถึง 11 คน
จำนวนนี้ แบ่งเป็นพรรคเพื่อไทย 3 คน พรรคภูมิใจไทย 3 คน พรรคประชาธิปัตย์ 2 คน รวมไทยสร้างชาติ 1 คน และกลุ่มการเมือง 2 คน
จำนวนนี้มีทั้งที่เปิดชื่อไปแล้ว และยังไม่เปิดชื่อ แยกเป็น “5 คน” เป็นกลุ่มที่มีคำร้องหรือข้อกล่าวหาอยู่ในคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในชั้นไต่สวน ยังไม่ได้ชี้มูลความผิดใดๆ
มีเพียงคนเดียวที่ชี้มูลความผิดทางวินัยไปแล้ว คือ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ จากพรรคภูมิใจไทย สมัยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผบ.ตร.กรณีไม่ได้ทำความเห็นแย้ง “คำสั่งไม่ฟ้อง” วรยุทธ อยู่วิทยา หรือ “บอส” ในคดีขับรถชนตำรวจเสียชีวิต แต่ถูกชี้มูลความผิดวินัยไม่ร้ายแรง ไม่เข้าข่ายขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีตามกฎหมาย
ส่วนอีก 4 คนที่เหลือ เป็นกลุ่มที่มีคำร้องอยู่ใน ป.ป.ช. มีทั้งแคนดิเดตรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย โดย 1 ใน 3 คน มีความเชื่อมโยงกับคดีปาล์มอินโดฯ ซึ่งป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาผุู้เกี่ยวข้องไปเมื่อเดือนเม.ย.2566
รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ เช่น “นายก ชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีชื่อเป็นแคนดิเดต รมช.สาธารณสุข เคยถูกเชื่อมโยงกรณีปรากฏภาพถ่ายร่วมเฟรมกับ “โทนี่ เตียว” ผู้ต้องหาคดีฟอกเงิน รวมถึงกรณีพี่สาวและเครือญาติโดนคดีบุกรุกโบราณสถานเขาแดง จ.สงขลา
อีกทั้งก่อนหน้านี้ “นิวัติไชย เกษมมงคล”เลขาธิการ ป.ป.ช. ได้ออกมาระบุว่า ถึงคำร้องในชั้นไต่สวน
โดยมีข้อมูลว่า กรณีดังกล่าวเป็นข้อกล่าวหาความเชื่อมโยงเกี่ยวกับกระบวนการ “ลักลอบค้าน้ำมันเชื้อเพลิงในพื้นที่ภาคใต้”
สำหรับแคนดิเดตที่เหลือบางส่วน มีกรณีที่เคยต้องคดีความ อาทิ “ขิง”เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ว่าที่ รมว.อุตสาหกรรม จากกรณีเคยต้องคำพากษาหรือรับโทษจำคุกในคดีการชุมนุม กปปส. โดยล่าสุดศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2567 ที่ผ่านมา ยกฟ้อง “เอกนัฏ”
แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงอยู่ว่า คำว่า“เคย” ต้องคำพิพากษา จะเป็นปัญหาอุปสรรคหรือไม่
ประเด็นนี้มีข้อต่อสู้มาจาก “อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” สมาชิก รทสช.ป้ายแดง เคยอธิบายว่า ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายกฟ้อง “เอกนัฏ” แล้ว เมื่อพิจารณาตามข้อกฎหมายหากยังไม่มีคำพิพากษาของศาลฎีกาเห็นเป็นอย่างอื่นออกมา “เอกนัฏ” จึงเป็นผู้บริสุทธิ์ และไม่เคยต้องคำพิพากษาจำคุกมาก่อน
ขณะที่ส่วนที่เหลือ อาจไม่มีคดีความติดตัว เพียงแต่ถูกตั้งคำถามในเรื่องจริยธรรม อาทิ ชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย จากพรรคภูมิใจไทย กรณีถูกจับตาไปที่ความเชื่อมโยงกลุ่มผู้มีอิทธิพล
ในส่วนของ “ชาดา” ก่อนหน้ามีการจับตา หลังการพบกันระหว่าง “รมช.มหาดไทย” และ “ทักษิณ ชินวัตร” นายใหญ่เพื่อไทย ในงานดินเนอร์ทอร์ค “Vision For Thailand” จัดโดย “เนชั่น กรุ๊ป” เมื่อวันที่ 22 ส.ค.67ที่ผ่านมา
ว่ากันว่า เวลานี้สัญญาณในพรรคเพื่อไทยยังคงแสดงความกังวล บางรายชื่อที่พรรคภูมิใจไทยส่งไปซึ่งเป็นตำแหน่งเดิมทั้งหมด
ยิ่งล่าสุดมีสัญญาณมาจาก “มาดามแหม่ม” มนัญญา ไทยเศรษฐ์ น้องสาว ส่งสัญญาณถอยชิงนายกอบจ.อุทัยธานี ท่ามกลางกระแสข่าวการเคลียร์ใจกันภายในครอบครัวไทยเศรษฐ์
ทำให้มีการจับตาไปที่แผนสองของครอบครัวไทยเศรษฐ์ ในการดัน “มนัญญา” นั่งรัฐมนตรีแทนหากเกิดกรณีที่ “ชาดา” ไม่ผ่านคุณสมบัติเหมือนในยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่
หรือกรณี “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่าที่ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติแและสิ่งแวดล้อม ที่เคยมีกรณีคนใกล้ชิด ทั้งเลขาฯ ส่วนตัว และ “หลี่ เซิ่ง เจียว” หรือ“เฮียเก้า”นายกสมาคมการค้าแลกเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยเอเชีย รวมถึง “ลูกชาย”คือ “เจิ้ง เจียว ลี่” หรือ “กรินทร์ ปิยพรไพบูลย์” ซึ่งนามสกุลเดียวกันกับ “วิรัช ปิยพรไพบูลย์” พี่ชายแท้ๆ ของ “เฉลิมชัย มีชื่อเชื่อมโยงคดีหมูเถื่อน-ตีนไก่เถื่อน
อีกทั้ง มีการเชื่อมโยงว่า “เฮียเก้า” เป็นลูกพี่ลูกน้องของเฉลิมชัย แม้ก่อนหน้าเจ้าตัวจะออกมายืนยันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว แต่ในห้วงที่มีการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี แน่นอนว่าประเด็นดังกล่าวย่อมไม่พ้นถูกขุดคุ้ยขึ้นมาเป็นกระแสอีกครั้ง
จริงอยู่บรรดา “ว่าที่รัฐมนตรี” หลายคนอาจไม่ถึงขั้นมีคดีติดตัวหรือมี “คุณสมบัติต้องห้าม” ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติอย่างชัดเจน เพียงแต่มีประเด็นเรื่องการรับรู้ของ “วิญญูชน” และ “ผู้คนในสังคม” ว่าอาจมีปัญหาเรื่องจริยธรรม หรืออาจไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
ต้องจับตา รายชื่อรัฐมนตรีที่จะได้เห็นโฉมหน้าในเร็ววัน ซึ่งจะเป็นการวัดใจนายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” ที่อาจต้อง “ลุยไฟ”
ต้องไม่ลืมว่า “เกมนิติสงคราม” จากฝ่ายค้าน-ฝ่ายแค้นที่ไล่ล่า-เช็กบิลทั้งบนดิน และใต้ดินอยู่ในเวลานี้ ย่อมกลายเป็นจุดเสี่ยงที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยประมาทไม่ได้
ไม่เช่นนั้นหากรัฐบาลที่มี “แพทองธาร” เป็นผู้นำเกิดเพลี่ยงพล้ำอีกรอบ ย่อมกลายเป็นเกมเข้าทางบางพรรคการเมือง ในการชิงจังหวะขึ้นนำ พร้อมเปลี่ยนตัว “ผู้นำ” ทันที ถึงเวลานั้น อาจเกิดจุดพลิกกระดานการเมือง อีกรอบก็เป็นได้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์