วงเสวนาต้านโกงชี้เทคโนโลยีป้องทุจริตดีขึ้น ยุคนี้หลักธรรมาภิบาลสำคัญสุด
ACT จัดวงเสวนาในวันต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ ‘มานะ’ เปิดแนวทาง 3 ระดับองค์กรธุรกิจจับมือประชาชนฮั้วกันต้านโกง ‘ภาคเอกชน’ เห็นพ้องด้วย ชี้เทคโนโลยีพัฒนาไปไกล ช่วยปรามทุจริตดีขึ้น ป้องคนโกงเข้าสู่ระบบ ยันหลักธรรมาภิบาลในบริษัทสำคัญมาก ทำให้คนรุ่นใหม่เชื่อถือ
เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2567 เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT จัดกิจกรรม “รวมพลังต้านโกง” โดยจัดเวทีเสวนา “หยุดโกงแบบโปร่งใส สร้างแบรนด์ธรรมาภิบาลที่ขาวสะอาด” มี น.ส.จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WHA Group นายธนเดช กุลปิติวัน บรรณาธิการบริหารนิตยสาร BrandAge นายณรงค์เวช วจนพานิช กรรมการผู้จัดการบริษัท ควอลิตี้คอนสตรัคชั่น โปรดัคส์ จำกัด (มหาชน) นายอติคุณ เผอิญโชค แมคโดนัลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Eazy Car กลุ่มบริษัทไทยรุ่ง ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการ ACT เป็นผู้ร่วมเสวนา มี ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน เป็นผู้ดำเนินรายการ
ดร.มานะ เปิดฉากการเสวนาถึงนิยามการโกงแบบโปร่งใสคืออะไร และสุขภาพสถานการณ์คอร์รัปชันปีนี้เป็นอย่างไร ว่า คงเห็นเหมือนกันจากสื่อ หรือการพูดคุยในวงสนทนา หรือเวทีต่าง ๆ วันนี้คอร์รัปชันในไทย กำลังมีพายุโกงต่อเนื่อง เห็นชัดเจนมาก ไม่ว่าพฤติกรรมภาครัฐ หรือเอกชน ไม่ว่าจะขนาดไหน เราเห็นการโกงในวงการต่าง ๆ เป็นสิ่งที่เราเห็นว่าเกิดขึ้นตลอดเวลา สิ่งน่ากลัวคือการโกงทุกวันนี้เปิดเผย ไม่เกรงกลัว ไม่อายใคร เหมือนกับว่าคนโกงภาครัฐ โกงแล้วจะไม่กลัวด้วยซ้ำไปว่าจะถูกจับได้ อาจเป็นไปได้ว่า การทำเลียนแบบกัน คนตำแหน่งใหญ่โต ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นักการเมืองเขาทำกัน การเลียนแบบจึงเกิดขึ้น การช่วยเหลือกันอย่างเป็นกระบวนการ การตีความกฎหมาย นี่คือสิ่งที่เราเห็นตลอดเวลาในสังคมไทย
ดร.มานะ กล่าวอีกว่า แต่เราเชื่อมาตลอดว่า เราจะหยุดคอร์รัปชันไม่ได้จริงหรือ ความเป็นจริงเรารู้ว่า คอร์รัปชันเอาชนะได้ แต่เอาชนะได้จริง ๆ วันนี้เราทุกคนต้องร่วมมือกันทำในสิ่งถูกต้อง ในภาคธุรกิจเราพูดกันเยอะมากเรื่องรับผิดชอบต่อสังคม มีการบริหารจัดการตรงไปตรงมาซื่อสัตย์ แต่วันนี้สิ่งเรานี้กำลังถูกบิดเบือน เราเห็นเจ้าหน้าที่รัฐตีความกฎหมายที่ข้องใจสังคม ขัดใจประชาชน เขาก็ยังทำ ยังพูดกัน ขณะเดียวกันในภาคเอกชน อยากเห็นการแข่งขันอย่างซื่อสัตย์ วัดที่ความสามารถจริง ๆ เอาชนะใจผู้บริโภคไป แต่เอกชนจำนวนมากใช้วิธีการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วอย่างนี้จะไปได้อย่างไร ทุกวันนี้เป็นการโกงแบบโปร่งใส เรามีความรับผิดชอบ บริหารจัดการที่ดี แต่มันมีจริงหรือไม่ หรือเพียงแค่พูดกันเอาสวยงามเอาเท่ แต่ในทางปฏิบัติเบื้องหลังหลายบริษัทจำนวนมากยังคงมีการทุจริต เอาเปรียบผู้บริโภค ผู้ถือหุ้น และโกงกินภาครัฐ สิ่งเหล่านี้ต้องมาพูดกันว่า ถ้าเราบอกว่ามีการบริหารจัดการที่ดี เราต้องพิสูจน์อย่างไร รับผิดชอบต่อสิ่งเหล่านี้อย่างไร
ดร.มานะ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันด้วยการมุ่งเน้นเรื่องธรรมาภิบาล หรือ Good Governance ว่า เราเชื่อกันมาตลอดว่า เศรษฐกิจจะเติบโตได้ การค้าขายจะไปได้ดีราบรื่น แข่งขันอย่างเป็นธรรม ฝีมือจริง ๆ ตรงนี้คือเครื่องวัด และเกิดประโยชน์กับสาธารณะ วันนี้พูดว่าเราจะช่วยแก้ปัญหาทุจริตของประเทศเป็นหลัก คำที่ต้องทำความเข้าใจคือ ทำอย่างไรจะฮั้วกันไม่โกง เรามีแนวทางที่เราเสนอให้นักธุรกิจ ให้ประชาชนช่วยกันพิจารณา 3 ระดับ ได้แก่
1.คนที่ทำธุรกิจ ต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ตัวเราเอง ในบริษัทของเรา องค์กรของเราไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ เราจะต้องช่วยกันว่า ให้การต่อต้านคอร์รัปชันเป็นนโยบายของบริษัทเรา ทำให้การต่อต้านคอร์รัปชันเป็นวัฒนธรรมของบุคลากร ตั้งแต่ผู้นำถึงพนักงานทุกคน ทุกระดับในองค์กร
2.เราต้องร่วมมือกันขยายบทบาท สร้างเครือข่ายพันธมิตร เราทำดีแล้วทำสิ่งถูกต้องแล้ว ต้องชักชวนให้คนรอบข้าง มาช่วยกันทำสิ่งเหล่านี้ ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา มีการบริหารจัดการที่ดี อย่าติดสินบน อย่ามักง่าย เอาตัวรอดอย่างเดียว
3.ทำอย่างไรเราจะช่วยกันสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจให้ซื่อสัตย์โปร่งใส เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะถ้าเราไม่จ่ายเงิน ไม่จ่ายใต้โต๊ะ ธุรกิจเราไปไม่รอด ดังนั้นวันนี้เรามาทำให้ระบบนิเวศเราปรับไปในทางเดียวกัน เราจะฮั้วกันไม่โกง
"ที่ผ่านมาเราเชิญชวนให้เอกชนมาร่วมกันต้านโกง ทำมา 10 กว่าปีได้ผลดีพอสมควร มีสมาชิกกว่า 1,600 องค์กร และกำลังเติบโตต่อไปเรื่อย ๆ แต่ยังไม่เพียงพอ ถ้าหากว่ามีเครื่องมือภาคประชาชน คือรางวัล White Brand ส่งเสริมประชาชนใส่ใจเรื่องธรรมาภิบาลของภาคธุรกิจ ทำให้ประชาชน ให้ผู้บริโภคจริงหรือไม่ ด้วยเสียงของประชาชนจะเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ ถ้าเราทำได้สำเร็จ ให้ผู้ประกอบการทั้งหลายได้เห็นว่า การค้าขายอย่างซื่อสัตย์ทำให้เราเติบโตอย่างยั่งยืน เหมือนที่เราเคยเชื่อมาในหลายร้อยปีแห่งประวัติศาสตร์การทำการค้า" ดร.มานะ กล่าว
ดร.มานะ กล่าวด้วยว่า ACT อยากให้พวกเราช่วยสนับสนุนโครงการนี้ จะเป็นผลดีกับประเทศ เพราะในการทำงาน ในฐานะผู้บริโภคจะผลักดันให้ประชาชน ได้รับรู้ว่า ในสายตาของคนไทย สิ่งที่เราเห็น และพิสูจน์ได้ในบางระดับ บริษัทไหนตรงไปตรงมา แล้วอยากเห็นเกณฑ์นั้นให้ประชาชนเข้าใจ และช่วยกันโหวต เสียงโหวตของประชาชน จะทำให้รางวัล White Brand เป็นรางวัลที่มีเกียรติ และทำให้ผู้ได้รับรางวัล เกิดความเชื่อมั่น เพิ่มโอกาสในการทำมาค้าขายของเขาต่อไปในวันข้างหน้า ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ เสียงโหวตประชาชนจะชี้ขาด แต่ถ้าวันข้างหน้าบริษัทเปลี่ยนไป ไม่รับผิดชอบ ไม่ซื่อสัตย์ สร้างข่าวหรือทำสิ่งที่เลวร้าย เชื่อว่าประชาชนจะลงโทษ เพราะประชาชนได้รับรู้ และเคยสนับสนุนเขา สิ่งเหล่านี้ผู้ประกอบการทุกคนจะได้กำลังใจ อยู่ได้ มีโอกาสในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน
ขณะที่ นายณรงค์เวช กล่าวถึงความหวังเดินหน้าต่อสู้การคอร์รัปชันในยุค “โกงโปร่งใส” ว่า การทำถูกต้องมีต้นทุนดำเนินงานสูงกว่า แต่สิ่งที่ต้องตั้งมั่นความเป็นธรรม กลับมาดูเรื่องสุจริต เราไม่จำเป็นต้องกำไรมากสุด เราอาจต้องมีต้นทุนในการทำความดี และตั้งใจเอาความดีนั้นให้เป็นแบบอย่างให้ได้ในอุตสาหกรรม ถ้าคนดีทำความดี แบกต้นทุนสูงกว่า สู้ในการแข่งขันไม่ได้ อยู่ไม่ได้ นี่คือสิ่งน่ากลัว
นายณรงค์เวช กล่าวอีกว่า อีกเรื่องที่ได้จากการถูกปลูกฝังมาคือ อย่าให้ค่านิยมคนโกงว่าเป็นคนเก่ง เมื่อก่อนคนโกงหลบ ๆ ซ่อน ๆ วันนี้สังเกตหรือไม่ คนโกงมีหน้ามีตาเป็นที่เชิดชูยกย่อง วันหนึ่งเยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามา เมื่อไหร่เสพสื่อ เสพคอนเทนต์แบบนี้มาก ๆ เขาอาจสรุปได้ว่า เรื่องโกงเป็นปกติ ใคร ๆ ก็ทำกัน อย่าให้ถึงกับการตราหน้าว่า คนไม่โกงคือคนโง่ และไม่มีความสามารถ วันนี้ถามว่ามีความหวังหรือไม่ ดูจากพลังความจริงจังที่เราร่วมกันทำ เรามีความหวัง แต่ต้องร่วมกันอัดฉีด และอย่าปล่อยให้การโกงเป็นธรรมชาติของสังคม
ส่วนนายอติคุณ กล่าวเสริมว่า ทุกวันนี้ยังมีความหวัง เพราะเทคโนโลยีทำให้มีความหวัง สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมตอนนี้เป็นอย่างไร 20 ปีที่แล้วหลายคนอาจไม่รู้ แต่ทุกวันนี้โกงอย่างโปร่งใส ทุกคนเห็นกันชัดเจนมาก เทคโนโลยีจะทำให้เราจดจำ ทุกอย่างเผยแพร่แล้ว ลบไม่ได้ เทคโนโลยีช่วยประมวลผลสร้างความแตกต่างได้ในอนาคต ฝากทุกคน และองค์กร ให้ความหวังทุกคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เราเปลี่ยนได้ อาจไม่ชนะมัน แต่ทำให้ดีขึ้นได้
นายธนเดช กล่าวถึงมิติด้าน Good Governance ที่มีความสำคัญในปัจจุบัน องค์กรธุรกิจจะเดินหน้าอย่างไรว่า อยู่ในวิชาชีพนี้มาร่วม 30 ปี ไม่อยากให้เด็กรุ่นต่อไปต้องเผชิญสิ่งเหล่านี้ นี่จึงเป็นที่มาเราให้ความสำคัญ เคยทำการสำรวจ เรามีมิติที่เกี่ยวกับ Governance แทรกอยู่ในคำถามต่อผู้บริโภค สิ่งหนึ่งที่เราคิดว่าจำเป็น เราจะช่วยกันกระตุ้นอย่างไรให้องค์กรหรือบริษัทให้ความสำคัญกับมิติตรงนี้ การที่องค์กรหรือบริษัทมี Governance ที่เข้มแข็ง สร้างความเชื่อมั่นกับผู้บริโภค ผู้ถือหุ้น และพนักงาน รวมถึงสังคม สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้นำไปสู่การทำธุรกิจที่เกิดความยั่งยืน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน หลายคนยกตัวอย่างทำธุรกิจบนธรรมาภิบาล เราไม่จำเป็นต้องจ่ายแล้วจบ แต่เราทำตรงไปตรงมาโปร่งใส ทั้งกับพนักงาน คู่ค้า หรือผู้ถือหุ้น สิ่งที่ BrandAge ให้ความสำคัญคือ เป็นส่วนหนึ่งกระตุ้นจิตใต้สำนึกผู้นำองค์กรให้ความสำคัญกับตัว Governance เป็นไปได้มากยิ่งขึ้น
ส่วนสาเหตุว่าทำไม Governance ในยุคนี้สำคัญอย่างยุคอื่นนั้น นายอติคุณ กล่าวว่า ปัจจุบันเราต้องการ 3 อย่างคือ 1.เราเกิดมาเพื่ออะไร 2.มนุษย์สัมพันธ์ 3.ผลตอบแทน ปกติแล้วผลตอบแทนเราก็ได้จากการทำงาน ส่วนความสัมพันธ์เราได้จากคนรอบตัว แต่ตอนนี้เราไม่รู้จักกัน ไม่มีใครคุยกันเลย ทุกคนอยู่ในโลกโซเชียล ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนข้างบ้านคือใคร ขณะเดียวกันปัจจุบันคนรุ่นใหม่ไม่ได้เข้าวัดแล้ว ไม่ได้เชื่อศาสนาขนาดนั้นแล้ว หลายคนไม่อยากมีลูกแล้ว ทำให้หลายคนหลงทาง เคว้งคว้าง ในชีวิตของเราไม่ได้รับเรื่องนี้ ทำให้ปัจจุบันจำเป็นต้องกดดันให้บริษัท หรือองค์กรของคุณ มอบสิ่งนี้ให้กับเขา หลายคนมาสมัครงานถามว่า บริษัทคุณมี Culture แบบไหน นอกจากที่ทำงานเขาไม่ได้รับสิ่งนั้น นี่คือความรับผิดชอบขององค์กรในยุคใหม่ มอบความหวัง แนวทาง ความหมายให้กับชีวิตเขามากขึ้น องค์กรที่มอบสิ่งเหล่านี้ให้เขาได้ ทุกคนอยากมาทำงานกับคุณ เก็บคนดีอยู่ คนชั่วจะอยู่ไม่ได้ นี่คือสิ่งที่ตนพยายามมอบให้พนักงาน
ส่วนจะผลักดันเรื่องธรรมาภิบาลได้อย่างไร โดยเฉพาะในองค์กรที่มีผู้ถือหุ้นจำนวนมาก นายณรงค์เวช กล่าวว่า คิดว่าทุกภาคส่วน ถ้าเราตั้งใจทำเรื่องอย่างนี้ เราต้องคุยแล้วต้องชวน หลายคนเวลาไปแลกเปลี่ยนธุรกิจ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ กฎเกณฑ์เยอะ ทำอะไรก็ลำบาก เราจะชวนเขาว่า ถ้าระดมทุน สิ่งที่พูดเสมอคือเป็นเรื่องที่ดี ทำให้มีคณะกรรมการตรวจสอบ เข้มข้นในการตรวจสอบ บางครั้งไม่รู้ เขาก็บอกว่าทำไม่ได้ ถ้าบริษัทต่าง ๆ เข้ามาสู่ระบบจะทางการหรือไม่ก็ดี มีจิตสำนึก วิธีคิด ทำให้เกิดความเท่าเทียมในการแข่งขัน คิดดูว่าบริษัทหนึ่งทำทุกอย่างให้ตรวจสอบได้ แต่อีกบริษัทตรวจสอบไม่ได้ว่ามาอย่างไร การแข่งขันแบบนี้ไม่เป็นธรรมอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้ถ้าเรารณรงค์ให้เกิดขึ้น การจ่ายเงินซื้อของ ให้เกิดความรังเกียจ รู้สึกว่าถ้าบริษัทไม่โปร่งใส มีเรื่องไม่ดี เป็นที่รับรู้กันเยอะ ๆ คิดว่าวันนั้น สังคมจะดีขึ้น แต่เราคงต้องช่วยกันคุย และบอกกล่าวถึงความดี ความโปร่งใส ให้เขารู้สึกได้ว่า ถ้าเขาเจอจ่ายจบ แต่สักวันหนึ่งเขาอาจต้องเจ็บ
ส่วน น.ส.จรีพร อธิบายถึงการเดินหน้าผลักดันการสร้างธรรมาภิบาลในบริษัท ว่า นักธุรกิจทุกคนต้องการให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืน สมัยนี้โซเชียลแรงมาก ทำอะไรนิดหน่อยก็โดนจับตา ดังนั้นบริษัทคุณจะรอดได้อย่างไรถ้าไม่มีธรรมาภิบาลเลย เมื่อไหร่ที่คุณทำผิดแล้วจ่าย คุณต้องจ่ายไปเรื่อย ๆ ถลำลึกไป อย่างที่บอกว่า เราต้องเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเอง เราบอกว่าอย่าโกง ๆ แต่ทำระบบไม่ดีเลย คนดี ๆ ก็ตบะแตกได้ ดังนั้นต้องทำระบบให้ดีขึ้น การเลือกธรรมาภิบาล ไม่ใช่แค่การโกงอย่างเดียว แต่คือการสร้างจิตสำนึกทางสังคมด้วย บริษัทที่ผลประกอบการดีมาก ๆ แต่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมเลย แบบนี้เรียกว่าบริษัทที่ดีหรือเปล่า