‘วิลาศ’ ร้อง ป.ป.ช.สอบ ‘เลขาสภาฯ’ ไม่เรียกค่าใช้จ่ายควบคุมงานสร้างสภาใหม่

‘วิลาศ’ ร้อง ป.ป.ช.สอบ ‘เลขาสภาฯ’ ไม่เรียกค่าใช้จ่ายควบคุมงานสร้างสภาใหม่

‘วิลาศ’ ลุยร้องเพิ่มอีก ชง ป.ป.ช.สอบ ‘เลขาสภาฯ-คณะกรรมการตรวจการจ้าง’ ปมสร้างสภาใหม่ ยังไม่เรียกค่าใช้จ่ายควบคุมงาน-ค่าที่ปรึกษาโครงการ วันละกว่า 3.3 แสนบาทคืนรัฐ

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2567 นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต สส. อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยื่นเรื่องร้องเรียนถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการตรวจการจ้าง โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ อีกครั้ง หลังจากวานนี้ (10 ก.ย.) ได้ยื่นร้องเรียนไปยัง ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบการกระทำของเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และผู้ที่เกี่ยวข้อง ส่อเข้าข่ายกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กรณีเห็นชอบตรวจรับงานโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ หรือไม่
    
นายวิลาศ ระบุในคำร้องว่า ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทำสัญญาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่เป็นเวลา 900 วัน เริ่มสัญญาวันที่ 8 มิ.ย. 2566 สิ้นสุดสัญญา 24 พ.ย. 2558 และขยายสัญญาออกไป 4 ครั้งเป็นเวลา 1,864 วัน สิ้นสุดขยายสัญญาวันที่ 31 ธ.ค. 2563 นั้น

นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 ตามสัญญาจะต้องเริ่มปรับเนื่องจากการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา แต่เนื่องจากมีการลดค่าปรับเหลือ 0% ตามหนังสือเวียนของคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ อย่างไรก็ตามในสัญญาข้อ 20 เรื่องค่าปรับและค่าเสียหาย นอกจากผู้รับจ้างต้องชำระค่าปรับ ผู้รับจ้างต้องชำระค่าใช้จ่ายในการควบคุมงานและค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการเป็นจำนวนเงินวันละ 332,140 บาท นับจากวันที่กำหนดแล้วเสร็จตามสัญญา คือ 31 ธ.ค. 2563 

‘วิลาศ’ ร้อง ป.ป.ช.สอบ ‘เลขาสภาฯ’ ไม่เรียกค่าใช้จ่ายควบคุมงานสร้างสภาใหม่

นายวิลาศ เห็นว่า จำนวนเงินดังกล่าวไม่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 และไม่ใช่ความผิดของผู้ว่าจ้าง ซึ่งผู้ว่าจ้างจะต้องเรียกเงินดังกล่าวมาชำระให้ผู้ควบคุมงาน และที่ปรึกษาบริหารโครงการ มิใช่หน้าที่ของผู้ว่าจ้างเป็นผู้ชำระเงินดังกล่าว อีกทั้งแม้ว่าผู้ควบคุมงานและที่ปรึกษาจะสละสิทธิ์ ผู้ว่าจ้างก็ต้องเรียกเงินดังกล่าวเพื่อคืนส่งคลังต่อไป แต่จนถึงขณะนี้นับแต่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบการส่งมอบงานแล้วเมื่อ 4 ก.ค. 2567 ยังไม่มีการเรียกเงินดังกล่าวแต่ประการใด จึงขอให้ตรวจสอบเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการตรวจการจ้าง จงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ทำให้ราชการเสียหาย เป็นการจงใจฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่