จบศึกสนามบินน้ำ ‘รัฐตำรวจ’ พ่าย ‘วิทยา’ ประธาน ป.ป.ช.ขัดตาทัพ ?
บทสรุปสุดท้ายของศึกครั้งนี้ “รัฐตำรวจ” เหมือนจะพ่ายแพ้ ... แต่ที่แน่ ๆ สิ่งที่ต้องโฟกัสอย่างจริงจัง และเป็นปัญหา “แก้ไม่ตก” ของรัฐบาลหลายยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลจากรัฐประหาร นั่นคือการทุจริตคอร์รัปชัน
KEY
POINTS
- ปิดฉากรบศึกองค์กรสนามบินน้ำ เมื่อ “รัฐตำรวจ” พ่ายแพ้ “สายลูกหม้อ”
- ดัน “วิทยา” ประธาน ป.ป.ช.ขัดตาทัพ รอเกษียณ ธ.ค.67
- “สาโรจน์” อาวุโสลำดับ 3 นั่งเลขาธิการฯ แทน
- จ่อเปิดศึกรอบใหม่ วัดขุมกำลัง “ตุลาการคอนเนกชั่น” สู้ “มหาดไทย”
พักรบศึกแย่งชิงอำนาจ “องค์กรสนามบินน้ำ” ไว้ชั่วคราว พลันที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติด้วยเสียงข้างมาก 5 ต่อ 1 เสียง จากจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เลือก“วิทยา อาคมพิทักษ์” เป็นประธานกรรมการ ป.ป.ช. แทน “บิ๊กกุ้ย” พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ที่เกษียณเนื่องจากอายุครบ 70 ปีในวันที่ 9 ก.ย.2567 ที่ผ่านมา
โดยการเลือก “วิทยา” เป็นประธาน ป.ป.ช.ดังกล่าว ดำเนินการตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 19 ในกรณีที่ไม่มีผู้ดํารงตําแหน่งประธานกรรมการหรือมี แต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่แทนประธานกรรมการ จนกว่าจะมีประธาน ป.ป.ช.คนใหม่
อธิบายให้เข้าใจง่ายคือในทาง “นิตินัย” มีอำนาจเต็มแบบประธานกรรมการ ป.ป.ช.ทุกประการ แต่ทาง “พฤตินัย” เหมือนเป็นตำแหน่ง “ขัดตาทัพ” ไว้ชั่วคราว เพราะ “วิทยา” จะเกษียณเนื่องจากดำรงตำแหน่งครบ 9 ปี ในช่วงเดือน ธ.ค. 2567 (ได้รับการโปรดเกล้าฯเป็นกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อ ธ.ค. 2558) เท่ากับว่าเขาจะดำรงตำแหน่งได้อีก 3 เดือนเศษนับจากนี้
โดยอำนาจหน้าที่ของประธานกรรมการ ป.ป.ช.ชั่วคราวนี้ สามารถเสนอสำนวนหรือความเห็นเพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. การลงนามแต่งตั้งข้าราชการหรือบุคลากรภายในหน่วยงานสำนักงาน ป.ป.ช. และลงนามในประกาศหรือระเบียบต่าง ๆ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้
สำหรับรายชื่อกรรมการ ป.ป.ช. 6 คน ที่โหวตเลือกประธาน ป.ป.ช.ในวันดังกล่าวคือ วิทยา อาคมพิทักษ์ (เกษียณ ธ.ค. 2567) สุวณา สุวรรณจูฑะ (เกษียณ ธ.ค. 2567) สุชาติ ตระกูลเกษมสุข เอกวิทย์ วัชชวัลคุ ภัทรศักดิ์ วรรณแสง และแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์
แต่ยังมีกรรมการ ป.ป.ช.อีก 1 คน ที่ผ่านการสรรหา และได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างรอการโปรดเกล้าฯ คือ “พศวัจน์ กนกนาค” อดีตประธานศาลอุทธรณ์ มิได้เข้าร่วมประชุมเพื่อโหวตเลือกประธาน ป.ป.ช.ในวันดังกล่าว
เท่ากับว่า ณ วันนี้ (10 ก.ย.) มีกรรมการ ป.ป.ช.คงเหลือปฏิบัติหน้าที่เพียง 6 คนที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ได้แก่ วิทยา (ประธาน ป.ป.ช.) สุวณา สุชาติ เอกวิทย์ ภัทรศักดิ์ และแมนรัตน์ มี 1 คน ยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯคือ พศวัจน์
ประเด็นที่น่าสนใจในการเลือกประธานกรรมการ ป.ป.ช.คนใหม่แทน “บิ๊กกุ้ย” ครั้งนี้ มีกรรมการ ป.ป.ช.คนหนึ่ง ถามในที่ประชุมกรณี “พศวัจน์” ที่ยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ สามารถเข้าร่วมประชุมเพื่อโหวตเลือกปรานกรรมการ ป.ป.ช.ได้หรือไม่ แต่ที่ประชุมไม่สามารถหาข้อสรุปได้ จึงมีมติด้วยเสียงส่วนใหญ่ให้สอบถามวุฒิสภาเกี่ยวกับสถานภาพของ “พศวัจน์” ซึ่งยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง หลังจากที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบนานกว่า 1 ปีแล้ว
ประเด็นต่อมา ก่อนหน้านี้เกิดศึกรบภายใน “องค์กรสนามบินน้ำ” ระหว่าง “สายรัฐตำรวจ” กับ “สายลูกหม้อ” ตั้งแต่ระดับ “หัว” จนถึง “แม่บ้าน” นั่นคือ การโหวตเลือกประธานกรรมการ ป.ป.ช. และการสรรหาเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
อย่างไรก็ดีบทสรุปสุดท้ายของศึกครั้งนี้ “รัฐตำรวจ” เหมือนจะพ่ายแพ้ เพราะตำแหน่ง “แม่บ้าน” ก่อนหน้านี้มีแคนดิเดต 2 ชื่อคือ “สุรพงษ์ อินทรถาวร”(สายลูกหม้อ) และ “พล.ต.ต.อรุณ อมรวิริยะกุล” (สายรัฐตำรวจ) แต่สุดท้ายหวยมาออกที่ “สาโรจน์ พึงรำพรรณ” รองเลขาธิการฯอาวุโสลำดับ 3 มีความเชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ขณะที่ตำแหน่ง “หัว” อย่างประธาน ป.ป.ช.ก็เอา “วิทยา อาคมพิทักษ์” ขัดตาทัพแทนก่อน เพราะกรรมการ ป.ป.ช.ยังมาไม่ครบจำนวน มีเพียง 6 คนได้รับการโปรดเกล้าฯ รอโปรดเกล้าฯ 1 คน ยังอยู่ระหว่างการสรรหาอีก 2 คน (จำนวนทั้งหมด 9 คน วาระดำรงตำแหน่งคนละ 7 ปี หรืออายุครบ 70 ปี)
สำหรับ “วิทยา” คือหนึ่งใน “ลูกหม้อ” สำนักงานฯอย่างแท้จริง เดิมเริ่มรับราชการที่กระทรวงมหาดไทย ต่อมาในปี 2525 โอนย้ายมาอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ หรือ ปปป. (ปัจจุบันคือ ป.ป.ช.) และเติบโตขึ้นตามลำดับ
โดยในปี 2551 เป็นผู้อำนวยการสำนักการข่าวและกิจการพิเศษ ปี 2554 เป็นผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ปี 2556 เป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. หลังจากเกษียณราชการ ไปดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เคยเป็นสมัครเป็นกรรมการ ป.ป.ช. มา 1 ครั้งแต่ไม่ได้รับเลือก ก่อนจะมาสมัครรอบที่ 2 ได้รับเลือกเมื่อปี 2558 ทำงานในสายปราบปราม โดยเฉพาะคดีสินบนข้ามชาติ
ปิดฉาก “รัฐตำรวจ” ซึ่งถูกมองว่ามี “มือมืด” นอกสนามบินน้ำคอยคอนโทรลคุมคดีต่าง ๆ อยู่ เป็นเงาปกคลุมสำนักงาน ป.ป.ช.มายาวนาน 9 ปี แต่หลังจากนี้อาจเกิด “ศึกใหม่” ระหว่าง “สายตุลาการคอนเนกชั่น” กับสาย “มหาดไทย” ที่ต้องไปวัดฝีมือกันในการชิงเก้าอี้ประธานกรรมการ ป.ป.ช.อีกครั้งปลายเดือน ธ.ค. 2567 หลัง “วิทยา” เกษียณ ใครจะได้เข้าครอบครองอาณาจักรเบอร์ 1 “องค์กรอิสระ” แห่งนี้ ต้องติดตาม
แต่ที่แน่ ๆ สิ่งที่ต้องโฟกัสอย่างจริงจัง และเป็นปัญหา “แก้ไม่ตก” ของรัฐบาลหลายยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลจากรัฐประหาร นั่นคือการทุจริตคอร์รัปชัน โดยผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ที่จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) พบว่า ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ผลคะแนน CPI ของไทยตกลงมาโดยตลอด
ปี 2560 ได้ 37 คะแนน ปี 2561-2563 ได้ 36 คะแนนเท่ากัน ปี 2564 ได้ 35 คะแนน ปี 2565 ขยับขึ้นมาเป็น 36 คะแนน และปี 2566 ได้ 35 คะแนน อยู่อันดับ 108 ของโลกจากทั้งหมด 180 ประเทศ อยู่ในอันดับที่ 4 ของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน
ป.ป.ช.จะกอบกู้ความเชื่อมั่นบนเวทีโลก ฟื้นวิกฤติศรัทธาจากประชาชนอีกครั้งได้หรือไม่ ต้องรอวัดฝีมือ