ป.ป.ช.ลุยสอบปมสินบนข้ามชาติ บ.ลูก 'จอห์นเดียร์' จ่ายเงินให้ จนท.ไทย ปี 60-63

ป.ป.ช.ลุยสอบปมสินบนข้ามชาติ บ.ลูก 'จอห์นเดียร์' จ่ายเงินให้ จนท.ไทย ปี 60-63

ป.ป.ช.รับลูก SEC ลุยสอบสินบนฉาวข้ามชาติ บ.ลูก 'จอห์นเดียร์' ปมจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่ไทย ปี 60-63 ปูดชื่อ 'กรมทางหลวง-กองทัพอากาศ' 

เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2567 นายนิติพันธุ์  ประจวบเหมาะ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และรองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่กำกับดูแลงานด้านคดีระหว่างประเทศ แถลงว่า ตามที่ปรากฏข่าวว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ย.2567 คณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งสหรัฐอเมริกา (Securities and Exchange Commission: SEC) ได้มีคำสั่งให้บริษัท เดียร์ แอนด์ คอมพานี (Deere & Company) หรือ "จอห์นเดียร์" ผู้ผลิตรถแทรกเตอร์รายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา จ่ายเงินประมาณ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นการยุติการดำเนินการตรวจสอบ ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำความผิดกฎหมายว่าด้วยการกระทำทุจริตในต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (U.S. Foreign Corrupt Practices Act) ซึ่งตามข้อกล่าวหาได้ระบุว่า ช่วงประมาณปี 2560 – 2563 บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด (Wirtgen Thailand) ซึ่งเป็นบริษัทลูกในประเทศไทยได้มีการจ่ายเงินสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐของไทย  

นายนิติพันธ์ุ กล่าวว่า กรณีนี้ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มอบหมายให้ติดตาม เรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นคดีสินบนข้ามชาติที่มีความสำคัญ มีมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก และอยู่ในความสนใจของประชาชน โดยศูนย์คดีระหว่างประเทศ สำนักกิจการ และคดีทุจริตระหว่างประเทศ สำนักงาน ป.ป.ช. อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล และประสานงานกับคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการดำเนินการตามอำนาจ และหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการเป็นหน่วยงานกลางของประเทศไทย ในการดำเนินการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในการต่อต้านการทุจริต ตามมาตรา 138 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561

ป.ป.ช.ลุยสอบปมสินบนข้ามชาติ บ.ลูก \'จอห์นเดียร์\' จ่ายเงินให้ จนท.ไทย ปี 60-63

โดยคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ให้ความร่วมมืออันดีกับสำนักงาน ป.ป.ช. มาโดยตลอด ทั้งนี้  หากปรากฏว่ามีการกระทำความผิดในการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยตามข้อกล่าวหาดังกล่าว บริษัทเอกชนผู้ให้สินบนจะต้องถูกดำเนินคดีฐานให้สินบนตามมาตรา 176 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 และเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องถูกดำเนินคดีฐานรับสินบนตามมาตรา 173 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าว SEC ระบุว่า ผู้บริหารระดับสูง และพนักงานของบริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด (Wirtgen (Thailand) Co.,Ltd.) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของเดียร์ ได้จ่ายสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่ในหลายหน่วยงานของไทย ซึ่งรวมถึง "กองทัพอากาศไทย" และ "กรมทางหลวง" แม้ว่าจะมีกฎระเบียบของบริษัทห้ามการให้สิ่งใดๆ อย่างไม่เหมาะสม เพื่อให้มีอิทธิพลต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ

SEC ระบุด้วยว่า เวิร์ทเก้นฯ ได้ทำการจ่ายสินบนนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 ไปจนถึงปี 2563 ในรูปของเงินสด การเลี้ยงอาหาร การจ่ายเงินในรูปค่าที่ปรึกษา การพาเที่ยวต่างประเทศโดยอ้างว่าไปดูงานในสวิตเซอร์แลนด์ และประเทศอื่นๆ ในยุโรป รวมทั้ง "การให้ความบันเทิงในสถานอาบอบนวด"

สำหรับ บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด พบว่า ระหว่างปีงบประมาณ 2546-2567 บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐรวม 8 แห่ง 23 สัญญา รวมมูลค่า 307,440,439 บาท

ในจำนวนนี้ระหว่างปี 2560-2563 พบว่า เป็นคู่สัญญากับ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท ทอท. และกองทัพอากาศ รวม 11 สัญญา รวมมูลค่า 207,881,332 บาท หรือคิดเป็น 2 ใน 3 ของมูลค่าสัญญาที่ทำกับภาครัฐ (เท่าที่ตรวจสอบพบ)

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์