เกมโค่น ‘นายกฯ ชินวัตร’ ลุ้นน็อก ‘จริยธรรม-ครอบงำ’
บรรดานักร้อง เดินเกมเคลื่อนไหวเป็นองคาพยพนอกสภา ยื่นข้อกล่าวหาร้องเรียนต่อองค์กรอิสระ หวังใช้ทางลัดสอย "แพทองธาร" ให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ในปมร้อนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการฝ่าฝืนจริยธรรม พร้อมข้อหา "ทักษิณ" ครอบงำนายกฯ ซึ่งมีโทษแรงถึงขั้นยุบพรรคเพื่อไทย
KEY
POINTS
- บรรดานักร้องเดินเกมยื่นร้องต่อองค์กรอิสระ หวังทางลัดในการโค่น "แพทองธาร ชินวัตร" ออกจากตำแหน่งนายกฯ
- ประเด็นข้อกล่าวหา "จริยธรรม" พ่วงด้วย "ทักษิณ ชินวัตร" ครอบงำ "แพทองธาร" เป็นข้อกล่าวหาที่อาจเป็นหมัดน็อก "แพทองธาร" และ "พรรคเพื่อไทย" ได้
- ระยะเวลาไม่ถึง 20 ปี 4 นายกฯ เครือข่าย "ชินวัตร" ต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยกลไกขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ
ไม่มีฮันนีมูนพีเรียด อย่างที่นายกฯแพทองธาร ชินวัตร ประเมินสถานการณ์ เพราะตั้งแต่ยังไม่เข้าทำเนียบรัฐบาล ก็เผชิญข้อหาจากบรรดานักร้อง ทั้งสมัครเล่น และมืออาชีพ ต่างขยับขับเคลื่อนเพื่อหวังโค่นล้มรัฐบาลทันที ด้วยสารพัดคดีเป็นหางว่าว ล่าสุด นับรวมแล้วไม่น้อยกว่า 10 คำร้อง
ด้วยเงาฉากหลังรัฐบาลแพทองธาร ไม่สามารถสลัดภาพอดีตนายกฯ “ทักษิณ ชินวัตร” ออกไปได้ ทำให้องคาพยพเครือข่ายที่ต้องการสอย “นายกฯ หญิง” วัย 38 ปี พ้นจากตึกไทยคู่ฟ้า จึงต้องเดินเกมเขี่ยลูกไปยังองค์กรอิสระ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า กลไกองค์กรอิสระ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ยังอยู่ภายใต้การกุมอำนาจของปีกขั้วอำนาจเก่าที่ยังไม่สิ้นพิษสง
เห็นได้ชัดเจน จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญ ใช้มติเพียง 1 เสียง (มติ 5 ต่อ 4 ) ก็สามารถคว่ำ “นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน” ได้ไม่ยาก ด้วยข้อกล่าวหา ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง
ล่าสุด "นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม" ประธานพรรคไทยภักดี เดินเกมยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ให้ตรวจสอบ และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคเพื่อไทย ใน 2 ประเด็น คือ
1. “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ครอบงำพรรคเพื่อไทย เป็นความผิดตามมาตรา 29 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560
และ 2.พรรคเพื่อไทยยินยอมให้คนที่ไม่ใช่สมาชิกพรรค ครอบงำ ชี้นำตามมาตรา 28 กฎหมายเดียวกันหรือไม่
โดย“ทักษิณ” เคยกล่าวถึงประเด็นการครอบงำ “แพทองธาร” ไว้ว่า ไม่ใช่ “ครอบงำ” แต่เป็นการ “ครอบครอง” เพราะเป็นพ่อ-ลูก ซึ่งการครอบครอง หมอวรงค์ มองว่า คือมีสิทธิเป็นเจ้าของ
ขณะเดียวกัน นักร้องมืออาชีพอย่าง "เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)เดินเกมขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.สอยนายกฯ แพทองธาร ในประเด็น มีพฤติการณ์ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมหรือไม่ กรณีชักชวนให้ ครม.ถ่ายรูป ทำสัญลักษณ์มือ"มินิฮาร์ต" ขณะสวมเครื่องแบบชุดปกติขาว หน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
"เรืองไกร" ยังส่งเรื่องให้ กกต. ตรวจสอบ "แพทองธาร" นายกรัฐมนตรี กรณีเสนอชื่อ "สุรพงษ์ ปิยะโชติ" เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นั้นจะเข้าข่ายมีความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) หรือไม่ และการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 8 หรือไม่และเข้าข่ายเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่
เช่นเดียวกับ “นพรุจ วรชิตวุฒิกุล” อดีตแกนนำกลุ่มพิราบชาว 2006 ยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานต่อ กกต. ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบ 4 พรรคการเมือง คือ เพื่อไทย ภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ และชาติไทยพัฒนา กรณี “ทักษิณ” เรียกแกนนำพรรคดังกล่าวเข้าร่วมหารือ เพื่อจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งอาจเป็นการเข้าข่าย มาตรา 21, 28, 29 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มีโทษถึงขั้นยุบพรรคได้
ทางหนึ่ง องคาพยพขั้วจ้องล้มรัฐบาลเพื่อไทยเดินเกมส่งดาบให้ “กกต.” ส่วนนักร้องสายบ้านป่ารอยต่อฯ ก็ยื่นดาบไปให้ “ป.ป.ช.” และ "กกต." โดยมีจุดร่วมเดียวกันคือ ใช้ทางลัดผ่าน “องค์กรอิสระ” ส่งศาลฟันนายกฯ แพทองธาร
ปรากฏการณ์ดังกล่าว ถูกมองจากนักวิเคราะห์สายความมั่นคงว่า ประเด็นม็อบชุมนุมนอกสภาฯ เพื่อต้านระบอบชินวัตร นายกฯ ดีเอ็นเอ “ทักษิณ” ไม่น่าจะมีพลังพอ ในการล้มรัฐบาลได้ แต่บรรดา“นักร้อง”ที่เคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้ มีพลังมากกว่า “ม็อบ” ในการใช้อำนาจของกลไกองค์กรอิสระ เพื่อจัดการกับนายกฯ“ตระกูลชินวัตร”
อย่างไรก็ตาม พลิกดูถ้อยคำใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 28 กำหนดไว้ชัด ห้ามมิให้พรรคการเมือง ยินยอม หรือกระทำการใด อันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกพรรค กระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมือง หรือสมาชิก ขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม
ส่วน มาตรา 29 ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิก กระทำการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมือง ในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมือง หรือสมาชิก ขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรง หรือโดยทางอ้อม
บทบัญญัติมาตรา 28 ยังโยงไปถึงมาตรา 92 ที่ให้อำนาจ กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคการเมืองกรณีฝ่าฝืนมาตรา 28 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ก็ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าวด้วย
ที่ผ่านมา กกต.ในซีกของนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งก็คือ เลขาธิการ กกต. เคยมีกรณีพิจารณาสั่งยุติเรื่อง ที่ “สนธิญา สวัสดี” นักร้องอีกราย เคยยื่นร้อง กกต.ขอให้ตรวจสอบพรรคเพื่อไทย และ “แพทองธาร” กระทำการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 28, 29, 45 และมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) จากกรณีที่ “แพทองธาร” เคยบินไปพบ “ทักษิณ” และ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ที่ฮ่องกง เมื่อช่วงปลายปี 2565
กรณีดังกล่าว “นายทะเบียนพรรคการเมือง” มองว่าไม่มีพยานหลักฐานหรือน้ำหนักเพียงพอที่จะฟังได้ว่า “พรรคเพื่อไทย” และ “แพทองธาร” กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว จนเป็นเหตุให้ยุบพรรคเพื่อไทยได้
เรื่องคนนอกครอบงำ ลามถึงขั้นยุบพรรคนั้น ประเด็นดังกล่าว “เลขาธิการ กกต.” เคยระบุถึงการพิจารณาองค์ประกอบความผิดว่า “ถ้าพรรคการเมือง ไม่ยินยอม และไม่ทำตามข้อเสนอ หรือคำสั่งของคนนอก ก็ไม่อาจเอาผิดได้ แต่ในทางกลับกัน หากพรรคการเมืองยินยอมและทำตาม อาจถือเป็นความผิดได้”
เมื่อดูเกมในสภาฯ แน่นอนว่า ฝ่ายค้านไม่มีเสียงเพียงพอในการล้มรัฐบาลได้
ฉะนั้น ชั่วโมงนี้ “ขั้วอำนาจเก่า” จึงต้องใช้เกมที่แต้มต่อกว่า ด้วยการใช้พลังของนักร้องนอกสภาฯ เพื่อสร้างแรงกดดันทางการเมือง ให้ “รัฐบาลแพทองธาร” มีอันเป็นไป ไม่ว่าจะช้า หรือเร็วก็ตาม
ไม่น่าเชื่อว่า เกมโค่นนายกฯ ไล่มาตั้งแต่ นายกฯ สมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนถึงล่าสุด เศรษฐา ทวีสิน
ล้วนเจออิทธิฤทธิ์ของกลไกองค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ จนทำให้นายกฯจากเครือข่าย“ชินวัตร”ต้องพ้นตำแหน่งไปถึง 4 คน ในระยะเวลาไม่ถึง 20 ปี