'พิพัฒน์' ยันไทม์ไลน์เดิม 1ต.ค. ได้แน่! ค่าแรง400บาท ลุ้นเฟส2 ม.ค.68

'พิพัฒน์' ยันไทม์ไลน์เดิม 1ต.ค. ได้แน่! ค่าแรง400บาท  ลุ้นเฟส2 ม.ค.68

รมว.แรงงาน ย้ำไทม์ไลน์เดิม 1ต.ค.นี้ ประกาศค่าแรง400 บาท ทั่วประเทศ-บางอาชีพ ส่วนลุ้นเฟส2 รออนุไตรภาคีจังหวัดเสนอเรื่อง คาดม.ค.68อีกรอบ ขณะที่ "ไรเดอร์" เร่งคลอดพ.ร.บ.คุ้มครอง

ที่รัฐสภานายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ชี้แจงต่อที่ประชุมรัฐสภา วาระการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาถึงความคืบหน้าในการปรับค่างแรงขั้นต่ำว่า ตนเข้าใจดีในวันที่ดูแลกระทรวงแรงงานที่ต้องดูทั้ง2มิติ ทั้งผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการที่ต้องความสมดุลให้ดีที่สุด

ตนเคยให้ส้มภาษณ์ในหลายๆที่ว่าเราจะมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ400บาท พร้อมกันทั่วประเทศในวันที่1ต.ค.2567นี้ สิ่งที่ตามมาคือคำถามว่ารัฐมนตรีจะไปแทรกแซงความเห็นจากไตรภาคีได้หรือไม่  ยืนยันว่าไม่ได้แทรกแซง แต่จะมีการเชิญปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานบอร์ดไตรภาคีเพื่อมาหารือกัน แม้การแถลงนโยบานในครั้งนี้จะไม่มีการบรรจุนโยบายดังกล่าวอยู่ในรัฐบาลแต่ตนสำนึกดีว่าความเหมาะสมควรจะอยู่ที่ตรงไหน
 

ฉะนั้นสิ่งที่ประกาศว่าในวันที่1ต.ค.จะมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่400บาททั้งประเทศ ยืนยันว่าขณะนี้กระทรวงแรงงานได้หารือและมีความพร้อม รออย่างเดียวคือคณะกรรมการไตรภาคีที่จะทำการประชุมในวันที่17ก.ย. และประมาณวันที่24ก.ย.อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เมื่อได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการไตรภาคีก็จะมีการประกาศในวันที่1ต.ค.ต่อไป

รมว.แรงงาน ยังกล่าวว่า ส่วนแรงงานภาคใดที่ยังไม่ได้รับการประกาศในวันที่1ต.ค.เราจะมีการพิจารณาและประกาศอีกครั้งในวันที่1ม.ค.2568 ซึ่งก็ต้องรออนุไตรภาคีในแต่ละจังหวัดที่จะมีการประชุมและเสนอมายังกระทรวงแรงงานยืนยันว่าในเรื่องค่าแรง400บาทกระทรวงแรงงานจะดำเนินการแน่นอน 
 

ส่วนการคุ้มครองแรงงานในรูปแบบแพลตฟอร์มหรือไรเดอร์นั้น กระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างเสนอร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระต่อครม.เพื่อคุ้มครองแรงงานเหล่านี้ ซึ่งจะครอบคลุมไปทั้งการลงทะเบียนแรงงานอิสระ ส่งเสริมการรวมกลุ่ม คุ้มครองรับเรื่องร้องเรียน ดำเนินคดี ติดตามตรวจสอบรวมถึงค่าจ้าง มีกองทุนหมุนเวียนแหล่งเงินกู้

ทั้งนี้ระหว่างยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองทางกระทรวงแรงงานจะใช้แนวทาปฏิบัติของพนักงงานตรวจแรงงานและพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานในกรณีไรเดอร์มีนายจ้างหรือนิติสัมพันธ์ตามกฎหมาย แต่กรณีไม่มีนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายก็จะนำข้อร้องเรียนเข้าอนุกรรมการที่มีกระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส)เป็นเจ้าภาพเพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป