'นปช.' ทวงคดี 14 ปี 'สลายชุมนุม 53' เดิมพัน ความมั่นคง 'เพื่อไทย'
"สส.-แกนนำเสื้อแดง" ประกาศฟื้นความยุติธรรมให้ "นักสู้เสื้อแดง" จากเหตุสลายชุมนุมปี53 ผ่านการแก้กฎหมาย2ฉบับ เรื่องนี้ ทำให้ "พท." คิดหนัก เพราะมีผลต่อเสถียรภาพ"รัฐบาล-แพทองธาร"
KEY
POINTS
Key Point :
- แกนนำ "นปช." ประกาศกลางเวทีรัฐสภา วาระแถลงนโยบาย "รัฐบาล-แพทองธาร" ถึงการไม่ทิ้ง "พี่น้องเสื้อแดง" ไว้ข้างหลัง
- เดินหน้า แก้กฎหมาย 2 ฉบับ เพื่อเอาตัว "ผู้สั่งการ-ผู้บงการ" สลายชุมนุม เม.ย.-พ.ค.53 ขึ้นศาลพิพากษาความผิด
- ทว่าประเด็นนี้ ยังรอการปรับปรุงร่างกฎหมายอีกรอบ ก่อนส่งให้รัฐสภาพิจารณา และเรื่องนี้จำเป็นต้องเร่ง ก่อนที่อายุความจะสิ้นสุดลงอีก8เดือนข้างหน้า
- เรื่องนี้ถือเป็นวาระสำคัญ ที่ "พรรคเพื่อไทย" ต้องชั่งให้ดีว่าจะ กู้ศรัทธาจาก "คนเสื้อแดง" ที่เป็นฐานเสียงใหญ่ หรือ เสถียรภาพรัฐบาล
- เพราะการฟื้นคดีสลายชุมนุมปี53 กลับมา มีผลกระทบต่อ พรรคร่วมรัฐบาล "ปชป.-รทสช." รวมถึง "กองทัพ"
ในการแถลงนโยบายของรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” ต่อรัฐสภา เมื่อ 12-13 ก.ย.2567 นอกจาก “ฝ่ายค้าน” จะพุ่งเป้าไปที่นโยบายด้านเศรษฐกิจ ที่เป็นเรือธงใหญ่ของ “พรรคเพื่อไทย” ฐานะแกนนำรัฐบาล รวมถึงการผุดโปรเจกใหม่ ในการหาเม็ดเงินมาเติม เพื่อลดการชดเชยการขาดดุลของงบประมาณ
ยังมีประเด็นที่ทวงถามถึงความยุติธรรม ทั้งการนิรโทษกรรมทางการเมืองให้กับ “นักโทษการเมือง-เยาวชน” ที่ต้องคดีผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และการสะสางคดี “ตากใบ” ที่อีกไม่กี่วันนี้ อายุความจะหมดลง จาก สส.พรรคฝ่ายค้าน “รอมฎอน ปันจอร์” ตัวแทนพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ “ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์” สส.กทม. พรรคไทยก้าวหน้า อดีตพรรคก้าวไกล
แม้ในรายละเอียด “แกนนำรัฐบาล” จะยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ว่าจะเดินไปทางไหน โดยเฉพาะ คดีตากใบ ที่พบว่า “บิ๊กอ๊อด-พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตแม่ทัพภาค 4 ตกเป็นจำเลยที่หนึ่ง ซึ่งถูกศาลนราธิวาสออกหมายจับแล้วนั้น “แกนนำพรรคเพื่อไทย” จะมีแนวทางอย่างไรต่อสภาฯ เพื่อให้เกิดการอนุมัติส่งตัว “พล.อ.พิศาล” ขึ้นศาล ตามแนวทางการอำนวยความยุติธรรมไม่ล่าช้า
นอกจากนั้น ยังมีประเด็นการถามหาความยุติธรรม ของ “พี่น้องคนเสื้อแดง” ฐานะฐานเสียงใหญ่ ที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ที่ต้องการให้ “ผู้บงการ-สั่งการ” สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ช่วง เม.ย.-พ.ค. 2553 รับการลงโทษ
ต่อเรื่องนี้ “ก่อแก้ว พิกุลทอง” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ฐานะแกนนำคนเสื้อแดง ลุกอภิปรายต่อที่ประชุมรัฐสภา เมื่อ 13 ก.ย.2567 ตอนหนึ่ง ถึงร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นร่างกฎหมายเพื่อ “ทวงความยุติธรรม” ให้คนเสื้อแดง ซึ่งเป็นเหยื่อของเหตุการณ์สลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค. 2553 ว่า
“มีคนทวงถามรัฐบาล ต่อกฎหมายทวงคืนความเป็นธรรม คือ ร่าง พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ต้องถามรัฐบาล แต่ขอให้ทวงมาที่พวกผม ฐานะแกนนำ นปช. ร่วมกับวีระ มุสิกพงศ์ ธิดา ถาวรเศรษฐ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รวมถึง สส.ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ทั้ง ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ขัตติยา สวัสดิผล นพ.เชิดชัย ตันติศิริ ซึ่งสส.ทุกคนแบกรับความเจ็บปวด ความหวังของญาติวีรชนที่สูญเสีย” ก่อแก้ว ระบุ
แกนนำ นปช. ที่วันนี้ เป็น “สส.” บอกต่อว่า กรณีที่ ป.ป.ช.ไม่ฟ้องผู้สั่งการสลายชุมุนม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ทำให้ญาติหมดช่องทางนำคดีนี้ขึ้นสู่ศาล เพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง ทำให้พวกเราฐานะแกนนำต้องแบกรับภาระมาหลายปี ถือเป็นพันธะสัญญาทำให้บรรลุเป้าหมาย ญาติผู้เสียชีวิตทั้งหมดต้องการพิสูจน์ในศาล ว่าใครถูก ใครผิดหรือไม่
“ร่างแก้ไขกฎหมายที่ยื่นต่อรัฐสภา แต่ถอนออก เพราะมีช่องโหว่บางเรื่อง และมีผู้ไม่เห็นด้วยบางประการ อยู่ระหว่างการปรับปรุง เพื่อให้มีความเห็นทิศทางเดียวกัน เมื่อเสร็จจะเข้าสู่รัฐสภา เพื่อให้ทุกพรรคการเมืองนำความุยติธรรมคืนสู่สังคม ให้ผู้ที่สั่งการออกมารับผิดชอบ” ก่อแก้ว ย้ำต่อที่ประชุมรัฐสภา
แน่นอนว่า เป็นสัญญาณที่ปรากฎชัดว่า “แกนนำเสื้อแดงพรรคเพื่อไทย” กำลังจะทำอะไร เพื่อ "กู้คืนศรัทธา" กลับมา
ย้อนไปในเรื่องนี้ ร่าง พ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับ ถูกยื่นต่อรัฐสภาแล้ว โดย “ชูศักดิ์ ศิรินิล” สส.บัญชีรายชื่อ มือกฎหมายของพรรคเพื่อไทย และถูกบรรจุเตรียมพิจารณา แต่เมื่อ 29 มี.ค. กลับมีการขอถอนร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับออกจากวาระ แบบไม่มีปี่มีขลุ่ย นับเวลาถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 6 เดือน ก็ยังไม่พบการส่งกลับคืนไปสู่รัฐสภา ทำให้ “แกนนำนปช.” ถูก “พี่น้องคนเสื้อแดง” ทวงถาม
เหตุผลที่ต้องทวง และทำให้ “แกนนำนปช.” ต้องใช้เวทีรัฐสภาส่งสัญญาณไปยัง “พี่น้องคนเสื้อแดง” เพราะในคดีสลายการชุมนุม ที่มีผู้เสียชีวิตมาถึง 99 ศพ นั้น นับเวลาแล้ว เหลืออีก 8 เดือน หรือภายในเดือน พ.ค.2568 จะสิ้นสุดอายุความ และทำให้ “ญาติผู้สูญเสีย” ไม่สามารถตามตัว “ผู้บงการ-สั่งการ” มาขึ้นศาล เพื่อทวงความยุติธรรมเป็นที่สุด ให้ “คนตาย” ได้
จึงจำเป็นต้อง “รีบทำ”
และ “ก่อแก้ว” บอกว่า การปรับปรุงกฎหมายนั้นอยู่ในขั้นตอนอุดช่องโหว่ ก่อนนำเสนอต่อรัฐสภาอีกครั้ง ซึ่งช่องโหว่ที่ว่านั้น เป็นประเด็นที่ต้องแก้ความกินแหนงแคลงใจของ “พรรคร่วมรัฐบาล” อย่าง “ประชาธิปัตย์-รวมไทยสร้างชาติ” ที่คนของพรรคอยู่ในข่ายการถูกฟ้องต่อศาล ในฐานะ “ผู้บงการ-สั่งการ” เนื่องจากช่วงปี 2553 นั้น ดำรงตำแหน่งฝ่ายบริหาร
ขณะเดียวกัน ต้องพึงพิจารณาให้ถี่ถ้วน ต่อการสนองตอบความต้องการของ “พี่น้องคนเสื้อแดง” ที่ต้องการดำเนินคดีทางอาญากับ “ฝ่ายทหาร-เจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง” ในยามที่ “เพื่อไทย” เป็นแกนนำรัฐบาล หากทำอะไรในสิ่งที่กระทบกระเทือนความสัมพันธ์อันดี ในระหว่างการบริหารประเทศ “เสถียรภาพ” รัฐบาลอาจถูกสั่นคลอนได้
แถมยังต้องคำนึง ถึงคำถามย้อน ที่ว่า ญาติ-ผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ ปี 2553 ได้รับการชดเชย-เยียวยา ทางแพ่งไปแล้ว ในยุครัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” หลักล้านบาท แล้วจะมารื้อฟื้น หรือก่อให้เกิดสิทธิอะไรเพิ่มเติมอีก!!
สำหรับสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก่อนถอนออกจากวาระประชุม มีประเด็นแก้ไขคำนิยาม ว่าด้วย “ผู้เสียหาย” ให้หมายถึง "ผู้เสียหายตามมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา" และเพิ่มอำนาจและหน้าที่ "ฟ้องคดีได้เอง"
รวมทั้งแก้ไขประเด็น “อายุความ” หากศาลรับฟ้องแล้ว ไม่ถือว่าคดีนั้น มีวาระสิ้นสุดอายุความต่อไป รวมถึง "จำเลย" ไม่มาศาล ให้ออกหมายจับได้
ขณะที่ “ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.” มีสาระสำคัญคือ ให้ผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแน่งทางการเมืองได้ หาก ป.ป.ช. ไม่รับเรื่องไว้พิจารณา หรือ ไม่ส่งฟ้อง
กรณีนี้ หวังให้รื้อฟื้น “ผู้เสียหาย-ญาติผู้สูญเสีย” ฟื้นคดีที่ฟ้อง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" อดีตนายกฯ และ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" อดีตรองนายกฯ ที่เชื่อว่าเป็นผู้สั่งให้เกิดการใช้อาวุธ เพื่อ สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ซึ่งศาลฏีกามีคำสั่งเมื่อปี 2560 ไม่รับฟ้อง เพราะไม่เป็นไปตามกระบวนการ ที่ต้องทำผ่าน “ป.ป.ช.” เสียก่อน
ทั้งนี้ ต้องจับตาถึงทิศทางของ “รัฐบาล-พรรคเพื่อไทย” ว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร ระหว่างการเรียกศรัทธาคืนจาก “พี่น้องคนเสื้อแดง” เพื่อหวังให้เป็นฐานสนับสนุนในการเลือกตั้งครั้งหน้า
หรือการประคองเสถียรภาพของรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” ต่อจากนี้ 3 ปี โดยไม่รื้อฟื้นเรื่องราว ให้เกิดความบาดหมาง ระหว่าง “พรรคร่วมรัฐบาล-กองทัพ”