กระแสแพ้เกมผนึก 'ศึกพิษณุโลก' รวมพันธมิตร พท. 'โค่นค่ายส้ม'

กระแสแพ้เกมผนึก 'ศึกพิษณุโลก'  รวมพันธมิตร พท. 'โค่นค่ายส้ม'

สิ่งที่ “พรรคประชาชน” ยังต้องคิดหนักในระยะยาว ไปถึงเลือกตั้งใหญ่ 2570 คือ การผนึกกันของ “ขั้วรัฐบาล” มีปฏิบัติการมัดรวมทางการเมือง เหมือนสมัยที่ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ใช้ทางลัดในการสร้างพรรค โดยรวบรวมทุกพรรคการเมืองมาอยู่ที่ “พรรคไทยรักไทย”

KEY

POINTS

  • ถอดบทเรียนเลือกตั้งซ่อม เขต 1 จ.พิษณุโลก "กระแสส้ม" พ่ายแพ้ให้กับ เกมผนึกทุกพรรคของ "ค่ายสีแดง" ทั้งที่เป็นเขตเมือง เป็นพื้นที่เก่าของ "พรรคประชาชน"
  • หน้าฉาก "เพื่อไทย" ส่งผู้สมัครลงชิงเพียงคนเดียว แต่หลังฉาก "พรรคร่วมรัฐบาล" เกือบทุกพรรค เกณฑ์หัวคะแนนมาช่วย "บู้ จเด็ศ"
  • เมื่อ "พรรคประชาชน" ต้องมาดวลเดี่ยวกับ "พรรคเพื่อไทย" โดยไม่มีพรรคการเมืองอื่นมาตัดแต้ม จึงไม่แปลกที่ต้องพ่ายศึก

จบศึก “แดง” ฟัด “ส้ม” จากอดีตพรรคที่เคยร่วมขั้วจัดตั้งรัฐบาล  แต่เมื่อบริบททางการเมืองเปลี่ยนไป ทำให้ “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคประชาชน” ต้องทำสงครามในสนามเลือกตั้งอย่างเลี่ยงไม่ได้  

สนามเลือกตั้งซ่อม เขต 1 พิษณุโลก แทน หมออ๋อง ปดิพัทธ์ สันติภาดา แม้จะมีคู่แข่งเพียงสองราย “ณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์” จากพรรคประชาชน “จเด็ศ จันทรา” จากพรรคเพื่อไทย แต่ถือเป็นศึกศักดิ์ศรีของสองพรรคต่างขั้วเป็นเดิมพัน

ผลคะแนนเมื่อค่ำวันที่ 15 ก.ย.2567 ปรากฏว่า “จเด็ศ จันทรา” จากค่ายแดง ได้  37,209  คะแนน  สามารถเอาชนะ “ณฐชนน” ที่ได้ 30,640 คะแนน และยังถือเป็นการคว่ำ หมออ๋อง “ปดิพัทธ์” แชมป์เก่าสองสมัยไปได้

 การคว้าชัยเหนือ “กระแสสีส้ม” ในศึกเลือกซ่อม สส.พิษณุโลก ครั้งนี้ อาจเป็นสัญญาณว่า กระแสเริ่มสู้กับระบอบการเมือง “บ้านใหญ่” ได้ยาก หากมีการบริหารจัดการอย่างมีระบบ  

ที่สำคัญ ยังได้เห็นถึงการวางยุทธศาสตร์ แก้เกม เพื่อเอาชนะกระแสค่ายส้มให้ได้ ด้วยวิธี “รวมกันเราชนะ แยกกันเราแพ้” ของขั้วพรรคร่วมรัฐบาล โดยไม่ส่งผู้สมัครลงมาตัดคะแนนกันเอง นี่จึงเป็นสูตรสำเร็จในการพิชิต “กระแสส้ม” ในสถานการณ์นี้ 

หากพลิกไปดูคะแนน ในการเลือกตั้งปี 2566 “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” จากอดีตพรรคก้าวไกล คว้าชัยชนะขาดลอยได้ถึง 40,842 คะแนน

ขณะที่ผู้สมัครจากพรรคอื่นๆ แพ้ขาด และคะแนนกระจัดกระจาย  แต่หากนำคะแนนของผู้แพ้ทั้งหมดมารวมกัน โดยเฉพาะ “พรรคร่วมรัฐบาล” ขณะนี้ เรียงตามลำดับ 

 “อดุลวิทย์ วิวัฒน์ธนาฒย์” จากพรรคพลังประชารัฐ ได้ 19,096 คะแนน “ณัฐทรัชต์ ชามพูนท” จากพรรคเพื่อไทย ได้ 18,180 คะแนน “ธนิท กิตติจารุรักษ์” จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ 10,229 คะแนน ทั้งหมดรวมกันได้ 47,505 ก็มากกว่าคะแนนของ “ปดิพัทธ์” กว่า 6.000 คะแนน นี่จึงเป็นช่องทางที่มีลุ้นเอาชนะพรรคสีส้ม อย่าง" ประชาชน หากรวมพลัง รวมคะแนนกันได้ 

ดังนั้น โมเดลจากการเลือกตั้ง นายก อบจ.ราชบุรี จึงส่งต่อมายังการเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก ที่ “พรรคร่วมรัฐบาล” จึงผนึกกัน โดยหลีกทางให้พรรคเพื่อไทย ไม่ส่งผู้สมัครลงมาสู้กันเอง ทำให้คะแนนไม่ถูกแบ่ง โดยคะแนนจะรวมอยู่เพียงก้อนเดียว ซึ่งทำให้ “พรรคประชาชน”  เสียเปรียบอย่างมาก

ที่สำคัญ การมีแม่ทัพอย่าง “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.สาธารณสุข เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก เขต 1 ที่เจนจัดกลศึกเลือกตั้ง ย่อมมีวิธีเพิ่มความได้เปรียบ อีกทั้งยังมี “เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช” อดีตรมว.ท่องเที่ยวฯ ในฐานะคนเมืองสองแคว ควง “ระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช” ออกหาเสียงช่วย “บู้ จเด็ศ” ทุกวัน 

กระแสแพ้เกมผนึก \'ศึกพิษณุโลก\'  รวมพันธมิตร พท. \'โค่นค่ายส้ม\'

อีกทั้งจุดแข็งของ “เพื่อไทย - บู้ จเด็ศ” ยังมีทีมงานมือฉมังของ “มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์” ว่าที่นายก อ        บจ.พิษณุโลก กลุ่มพลังพิษณุโลก ซึ่งเพิ่งประสบชัยชนะจากการเลือกตั้งนายก อบจ.มาหมาดๆ

แถมยังมีแรงหนุนจาก “พรรคร่วมรัฐบาล” อย่าง “หิมาลัย ผิวพรรณ” จากพรรครวมไทยสร้างชาติ และ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” อาศัยเครือข่ายเก่าจากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งย้ายมาสังกัด “กลุ่มธรรมนัส” ต่างออกแรงช่วยกันหลังม่าน

รวมถึง “บ้านใหญ่” อีกหลายซุ้ม-หลายมุ้ง ผนึกกับ “ทีมท้องถิ่น” ที่วางฐานการเมืองเอาไว้อย่างเข้มแข้ง ต่างออกมาช่วย “บู้ จเด็ศ” ให้คว้าชัยครั้งนี้ 

ทางด้าน “พรรคประชาชน-ทีมสีส้ม” ที่เผชิญศึกหนัก กระหนาบทุกด้าน การสู้ด้วยกระแส ในสถานะที่เป็นฝ่ายค้าน ย่อมเป็นการเสียเปรียบ

ต้องยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ การเลือกตั้งระดับ นายก อบจ. และเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ก็ยากที่จะเขาชนะเครือข่าย “บ้านใหญ่” ซึ่งเป็นระบบอุปถัมภ์ และยิ่งเจอโจทย์ยาก ที่การเลือกตั้งซ่อม เลือกตั้งระดับท้องถิ่น ไม่เปิดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้า และเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร จึงยิ่งเสียเปรียบ เพราะทั้งสองส่วนนี้ เป็นฐานเสียงสำคัญของ “พลพรรคสีส้ม”

โดยเฉพาะการเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่ง “คนรุ่นใหม่” ทำงานและอาศัยอยู่ใน กทม. และหัวเมืองจังหวัดอื่น ไม่ได้กลับไปกาบัตรเลือกตั้ง ทำให้คะแนน “พรรคประชาชน” หายไปจำนวนมาก

จะเห็นได้ว่า “บิ๊กเนม” ระดับแม่เหล็กของ “พรรคประชาชน” อาทิ “หัวหน้าเท้ง” ณัฐพงศ์ เรืองปัญญาวุฒิ รวมถึง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล มักจะหาเสียงเชิญชวนให้ “โหวตเตอร์” ออกมาใช้สิทธิ์ให้มากที่สุด เพราะรู้ดีว่าหากออกมาใช้สิทธิน้อย จะเข้าทางเกมบริหารจัดการคะแนนของ “คู่แข่ง” ทันที

กระแสแพ้เกมผนึก \'ศึกพิษณุโลก\'  รวมพันธมิตร พท. \'โค่นค่ายส้ม\'

ที่สำคัญ “บิ๊กเนมพรรคส้ม” ทั้งบุคคลฉากหน้า-ฉากหลัง อาจจะต้องประเมินคะแนนนิยมในตัวของ “หัวหน้าเท้ง” ด้วย เพราะตั้งแต่ก้าวขึ้นมาแทน “พิธา” กระแสนิยมของ “หัวหน้าเท้ง” ยังไม่สามารถไต่ขึ้นไปเทียบชั้นกับ “พิธา” ได้ 

แม้กระแสสีส้ม จะไม่ตกฮวบลงมามาก แต่หากตัวผู้นำไปไม่ถึงจุดพีค ย่อมมีปัญหาในระยะยาวเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ “พรรคประชาชน” ยังต้องคิดหนักในระยะยาว ไปถึงเลือกตั้งใหญ่ 2570 คือการผนึกกันของ “ขั้วรัฐบาล” 

หากมีปฏิบัติการมัดรวมทางการเมือง เหมือนสมัยที่ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ใช้ทางลัดในการสร้างพรรค โดยรวบรวมทุกพรรคการเมืองมาอยู่ที่ “พรรคไทยรักไทย” และเหตุการณ์นี้ส่อเค้าจะกลับมาซ้ำรอยเดิม

ดังนั้น โอกาสที่ “พรรคประชาชน” หวังจะชนะเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับ 1 อีกครั้ง ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์