18 ปีรัฐประหาร 49 ปชน.ชง 4 วาระถึงรัฐบาลดันปฏิรูปกองทัพ ทบทวนบทบาท กอ.รมน.

18 ปีรัฐประหาร 49 ปชน.ชง 4 วาระถึงรัฐบาลดันปฏิรูปกองทัพ ทบทวนบทบาท กอ.รมน.

ครบรอบ 18 ปีรัฐประหาร 49 'พรรคประชาชน' ชง 4 วาระข้อเสนอถึง 'รัฐบาลแพทองธาร' ปฏิรูปกองทัพ ทบทวนบทบาท กอ.รมน. กระจายอำนาจ สร้างหลักประกันป้องรัฐประหารซ้ำ 

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2567 เฟซบุ๊กแฟนเพจพรรคประชาชน โพสต์ภาพพร้อมข้อความ ระบุถึงวันครบรอบ 18 ปีการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 โดยระบุว่า 18 ปี รัฐประหาร 49 ประเทศกลับมาที่เก่า การเมืองที่ไม่มีประชาชนในสมการ พรรคประชาชนผลักดัน 4 วาระลบล้าง “มรดก” รัฐประหาร 2549 โดยวาระครบรอบของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กลับมาอีกครั้งหนึ่ง ผ่านไป 18 ปี หลังการรัฐประหารที่เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตทางการเมืองในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ ใครจะไปเชื่อว่าสังคมไทยจะถูกนำกลับมาสู่จุดเดิม 

จุดเดิม ที่เป็นการเมืองหลอมรวมบ้านใหญ่ แต่ละตระกูลผลัดเปลี่ยนเวียนกันนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี ไม่เสนอวาระทางการเมืองที่ท้าทาย “ชนชั้นนำ” แม้วาระนั้นจะสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาของประเทศ ทะเลาะกันเมื่อแบ่งเค้กไม่ลงตัว แต่พร้อมจับมือ “สลายขั้ว” เมื่อดีลผลประโยชน์กันได้ โดยไม่มีประชาชนในสมการ

คู่ขัดแย้งทั้งหมดที่เคยนำพาประชาชนลงถนนต่อสู้กันเองมานานเกือบสองทศวรรษ บาดเจ็บล้มตายกันไปมาก สูญหนีหายอีกไม่น้อย ติดคุกมีคดีความอีกนับไม่ถ้วน บัดนี้ “พวกเขา” กลับมาสู่จุดที่สมานฉันท์ชื่นมื่น ก้าวข้ามประชาชนที่เคยร่วมต่อสู้ ทำราวกับที่ผ่านมาไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ในแง่นี้การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จึงเป็นรัฐประหารที่ “เสียของ” โดยสิ้นเชิง แต่ผลกระทบที่เลวร้ายยิ่งกว่า คือทำให้ประเทศ “เสียหาย” ย่ำอยู่กับที่ โอกาสทางเศรษฐกิจที่ควรพัฒนาได้มากกว่านี้ การเมืองที่ควรพัฒนาประชาธิปไตยได้เข้มแข็งกว่านี้ และสังคมที่ควรก้าวไปสู่ความเป็นธรรมได้มากกว่านี้ ทั้งหมดถูกทำลายลงด้วยการรัฐประหาร

เราไม่รู้ว่า “เครือข่ายผู้รัฐประหาร” กับ “เครือข่ายผู้เคยถูกรัฐประหาร” จะข้ามขั้วอยู่กันได้ยืดยาวแค่ไหนท่ามกลางการต่อรองผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มที่เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ผลพวงของการรัฐประหารจะยังอยู่กับสังคมไทยไปอีกนาน ตราบเท่าที่ไม่มีใครจัดการสะสางมัน

ในเมื่อวันนี้พวกเขาพาประเทศกลับมาที่เดิม พวกเราประชาชนยิ่งต้องยืนยันว่าต้องการอนาคตแบบใหม่ พรรคประชาชนเห็นว่ามี 4 วาระที่รัฐบาลต้องเร่ง “ปฏิรูป” เพื่อพาประเทศเดินไปข้างหน้า ไม่ถูกฉุดรั้งจากมรดกรัฐประหาร โดยเฉพาะมรดกหรือปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดจากการผ่านกฎหมายโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในยุคคณะรัฐประหารปี 2549

18 ปีรัฐประหาร 49 ปชน.ชง 4 วาระถึงรัฐบาลดันปฏิรูปกองทัพ ทบทวนบทบาท กอ.รมน.

วาระ 1 ปฏิรูปกองทัพ จากการที่ สนช. 2549 ออก พ.ร.บ. ระเบียบราชการกลาโหม 2551 ทำให้กองทัพมีอำนาจเหนือรัฐบาลพลเรือน ทั้งเรื่องนโยบาย งบประมาณ และการแต่งตั้งนายพล 

พรรคประชาชนโดย สส.ธนเดช เพ็งสุข เสนอกฎหมายแก้ไขเรื่องนี้ แต่ ครม. อุ้มไปศึกษา 60 วัน ดังนั้นขอให้ ครม. เร่งมีมติเห็นชอบร่างดังกล่าว หรือหาก ครม. จะเสนอร่างของตัวเอง ขอให้เห็นตรงในหลักการเดียวกับเราคือการปรับลดอำนาจของสภากลาโหม จากสภาที่ครอบงำรัฐมนตรี มาเป็นสภาที่ให้คำปรึกษารัฐมนตรี 

วาระ 2 ทบทวนบทบาทของ กอ.รมน. จากการที่ สนช. 2549 ออก พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในฯ พ.ศ. 2551 ฟื้นคืนชีพ กอ.รมน. ให้เข้ามารับผิดชอบภารกิจเรื่อง “ความมั่นคงภายใน” ที่ถูกนิยามไว้อย่างกว้างขวาง ล่าสุดทำตัวเป็นกองเซ็นเซอร์ ข่มขู่ให้มีการแบนหนังสือของนักวิชาการ แทนที่จะออกมาชี้แจงในประเด็นที่หน่วยงานเห็นว่าหนังสือนำเสนอข้อมูลคลาดเคลื่อน

พรรคประชาชนโดย สส.รอมฎอน ปันจอร์ ได้เสนอร่างกฎหมายยุบ กอ.รมน. แล้ว แต่อดีตนายกฯ เศรษฐาไม่รับรองให้เข้าสภาฯ ดังนั้นนายกฯ แพทองธาร ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดคนใหม่ของ กอ.รมน. ควรต้องตอบว่าจะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้ โดยขั้นต่ำควรทบทวนบทบาทของ กอ.รมน. เพื่อป้องกันไม่ให้ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนหรือทำอะไรตามอำเภอใจจนขี่คอรัฐบาลพลเรือน

วาระ 3 กระจายอำนาจ จากการที่ สนช. 2549 แก้ไขมาตรา 30 ของ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ยกเลิกข้อความที่เคยกำหนดว่ารัฐบาลจะต้องเพิ่มสัดส่วนรายได้ท้องถิ่นเป็น 35% ภายในปีไหน จนทำให้ตัวเลขดังกล่าวลดมาอยู่ที่ 29.1% 2 ปีติด ภายใต้รัฐบาลเศรษฐา

ดังนั้นรัฐบาลแพทองธารควรต้องประกาศให้ชัด จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ท้องถิ่นให้ขยับถึงเป้าหมาย 35% ภายใน 2 ปีงบประมาณที่เหลือได้หรือไม่ และหากพรรคประชาชนยื่นร่างกฎหมายเรื่องการกระจายอำนาจเข้าไปอีกครั้ง นายกฯ แพทองธาร จะไม่ทำเหมือนอดีตนายกฯ เศรษฐา ที่ปัดตกร่างตั้งแต่ต้น ไม่เปิดโอกาสแม้แต่ให้เข้าสภาฯ เพื่อเกิดการถกเถียง

วาระ 4 ป้องกันรัฐประหาร โดยเร็วๆนี้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชนจะเข้าที่ประชุมร่วมรัฐสภา เนื้อหาสำคัญคือการยกเลิกมาตรา 279 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเปิดให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบ ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพจากประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารที่ผ่านมา มีโอกาสโต้แย้งถึงความชอบด้วยกฎหมายของประกาศและคำสั่งเหล่านั้น รวมถึงเพิ่มหมวดป้องกันและต่อต้านรัฐประหาร เช่น การห้ามไม่ให้มีการนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร การกำหนดให้ประชาชนเป็นผู้เสียหายที่ฟ้องผู้ก่อรัฐประหารฐานกบฏได้โดยปราศจากอายุความ

หากรัฐบาลเห็นด้วยกับพรรคประชาชนในเรื่องนี้ หวังว่าจะร่วมสนับสนุนให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านรัฐสภา เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในประเด็นที่สำคัญ คู่ขนานกับการผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ควรเกิดขึ้นโดยเร็วเช่นกัน

พรรคประชาชนเห็นว่า มีแต่การผลักดันวาระเหล่านี้ให้สำเร็จเท่านั้น ที่จะสร้างหลักประกันให้สังคมไทยว่าการรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีก ประเทศไทยจะเดินหน้าสู่การพัฒนาประชาธิปไตย ระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม สังคมที่มีเสรีภาพ ไปสู่อนาคตที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

ภาพและข้อมูลจาก: พรรคประชาชน - People's Party