‘ชูศักดิ์’ เผย ชงแก้2กฎหมายลูก ริบดาบ ‘ป.ป.ช.’ ฟ้องเอง ชี้ ขัดหลักคานอำนาจ
“ชูศักดิ์” เผย จ่อชงแก้ “พรป.พรรคการเมือง” เปิดกว้างทุกคนเป็นสมาชิกพรรคฯได้ ปัดเอื้อ “ทักษิณ” เล็ง แก้ปม “ยุบพรรค” เน้น ล้มล้างการปกครอง เข้าข่าย ตีกรอบครอบงำให้รัดกุม พ่วงแก้ พรป.ป.ป.ช. ริบดาบฟ้องเอง ขัดหลักการคานอำนาจ ขีดเส้นทำคดี กรอบเวลาชัด คาดยื่นสภาสัปดาห์หน้า
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเตรียมยื่นแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ว่า จะยื่นต่อสภาและพิจารณา จะมีการแก้ไขหลายเรื่อง เช่น การแก้ไขเรื่องความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เดิมใช้คุณสมบัติผู้สมัคร สส. ทำให้หลายคนไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคได้ “ผมคิดว่าสิทธิเสรีภาพในการเป็นสมาชิกพรรค ควรจะเปิดกว้างให้กับทุกคน”
เมื่อถามว่า การแก้ไขประเด็นนี้เพื่อให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยได้ใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ได้เกี่ยวกับใคร หรือหมายถึงใคร สิทธิเสรีภาพในการเป็นสมาชิกพรรค ควรจะเปิดกว้าง เป็นสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ไม่ควรมีข้อจำกัดมากมาย ก็ไม่ต้องไปพูดว่าหมายถึงใครยังไงอย่างไร เรื่องเหล่านี้เราเคยทำมาแล้วในอดีต เพียงแต่ สว. ในตอนนั้นไม่เห็นด้วย ส่วน สว. ชุดปัจจุบันนี้จะเห็นด้วยหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ว่ากันในอนาคต นอกจากนั้น จะไปพิจารณาแก้เรื่องการยุบพรรค การครอบงำพรรคว่าจำกัดอย่างไรให้เหมาะสม โดยเรื่องการยุบพรรคจะเน้นเฉพาะการล้มล้างการปกครอง เรื่องอื่นๆ ไม่ถูกยุบพรรค ในส่วนของการครอบงำจะปรับอย่างไรให้รัดกุมขึ้น ไม่ใช่อะไรๆ ก็ครอบงำหมด
เมื่อถามว่า กังวลข้อหาหรือไม่ ว่าการแก้ไขกฎหมายจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ขอย้ำเราทำกฎหมายเพื่อให้ความเป็นธรรมพอสมควร พูดง่ายๆ คนที่ถูกตัดสินให้รอลงอาญาท้ายที่สุดเป็นสมาชิกพรรคไม่ได้ เป็นธรรมหรือไม่ ถ้ามาตั้งคำถามว่าแก้เพื่อตัวเองมันก็ตั้งคำถามได้หมด
นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า จะมีการยื่นแก้ไข พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จะแก้บางประเด็น 1.กรณีความผิดบางประเภทที่ ป.ป.ช. สั่งไม่มีมูล หรืออัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง ก็ให้สิทธิ์ผู้เสียหายฟ้องคดีได้เอง เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายซึ่งเคยยื่นมาแล้ว แต่ท้ายที่สุดมีข้อทักท้วงบางประการก็นำกลับมาแก้ใหม่ และแก้เรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น เรื่องอำนาจฟ้องเองของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรามองว่ากรณีที่ ป.ป.ช. มีคำสั่งว่ามีมูลหรือฟ้อง แต่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง ตั้งกรรมการร่วมบอกว่าไม่ฟ้อง แต่ท้ายที่สุด ป.ป.ช. ก็ไปฟ้องเอง หากเป็นแบบนี้เราก็มองว่า ป.ป.ช. ทำหน้าที่สอบสวนฟ้องร้องได้เองหมด ขัดต่อหลักการคานอำนาจ
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ มีบางเรื่องเกิดขึ้นมานานแล้ว ควรมีกำหนดระยะเวลาในการรับเรื่องเพื่อทำให้ชัดเจน ควรมีขอบเขตระยะเวลาในการไต่สวนว่าควรเริ่มตั้งแต่เมื่อใด มีระยะเวลาแล้วเสร็จเมื่อใด ไม่ใช่สอบไปเรื่อยๆ 10-20 ปี บางกรณีชี้มูลไปแล้วตอนเกษียณ ดังนั้น อาจมีการกำหนดไว้ 5 ปีก็ได้ คาดว่า สัปดาห์หน้าจะยื่นแก้ไขกฎหมาย2ฉบับดังกล่าว ได้พร้อมกัน