ร้อง กกต.ยุบ 'เพื่อไทย' ปมส่ง 'ชาญ' ชิงนายก อบจ.ปทุมธานี รอบแรก

ร้อง กกต.ยุบ 'เพื่อไทย' ปมส่ง 'ชาญ' ชิงนายก อบจ.ปทุมธานี รอบแรก

อดีตแกนนำพิราบขาวฯ ร้อง กกต.ยุบ 'เพื่อไทย' ปมส่ง 'ชาญ' ชิงเก้าอี้นายก อบจ.ปทุมธานี รอบแรก อ้างความเห็นเลขาฯกฤษฎีกา ตีความชัด บุคคลมีลักษณะต้องห้ามลงสมัคร จี้เอาผิดอาญา-แพ่ง ทำรัฐเสียหาย ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำพิราบขาว 2006 ยื่นคำร้องต่อ กกต.ขอให้พิจารณาว่า พรรคเพื่อไทยเข้าข่ายความผิดต้องยุบพรรค ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคตามมาตรา 92 (4) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 หรือไม่ จากกรณีส่งนายชาญ พวงเพ็ชร์ ลงสมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี (อบจ.ปทุมธานี) ในรอบแรก ทั้งที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต โดย ป.ป.ช.มีชี้มูลความผิด และศาลอาญาทุจริตรับฟ้อง อาจมีผลให้นายชาญ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ จนพ้นหน้าที่ด้วยการหมดวาระ เข้าข่ายหรือส่อผิด พ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหาร พ.ศ.2562 มาตรา49 (8) หรือไม่ และพรรคเพื่อไทยส่อเข้าข่ายฝ่าฝืน มาตรา 21 วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ.ฉบับเดียวกัน หรือไม่ จากเหตุที่กฎหมายกำหนดให้พรรคและกรรมการบริหารพรรคต้องมีความรอบคอบในการคัดเลือกบุคคลตัวแทนพรรคในการลงรับสมัครนายก อบจ.ปทุมธานี จึงขอให้ กกต.พิจารณาว่าเข้าข่ายยุบพรรคตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคหรือไม่ ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง หมวด 8 ความสิ้นสุดของพรรคการเมืองมาตรา 92 (4) หรือไม่

นายนพรุจ กล่าวว่า ได้ศึกษาและดูรายละเอียดทั้งหมด โดยมีคำสัมภาษณ์ของเลขาธิการกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ยืนยันว่านายชาญไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ และไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกอบจ.หลังได้รับเลือกตั้งเป็นนายกอบจ. ในรอบแรกเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567ได้ และพ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหาร พ.ศ.2562 มาตรา49(8)กำหนดคุณลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครไว้ชัดเจนว่าห้ามผู้ที่เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ ลงสมัครรับเลือกตั้งได้

นายนพรุจ กล่าวอีกว่า กรณีนายชาญนั้น ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด มีการตีความกันของผู้รับผิดชอบ ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด และมีคำสั่งเดิมของผู้ว่าฯปทุมธานีในขณะนั้นคือให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งการหยุดปฏิบัติหน้าที่จนพ้นวาระ หรือเรียกง่าย ๆ คือพ้นจากตำแหน่ง จึงนำคำสัมภาษณ์ของเลขาธิการกฤษฎีกายื่นให้ กกต.พิจารณาประเด็นเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัครเบอร์ 1 รอบที่แล้วในนามพรรคเพื่อไทย และการลงสมัครในนามของพรรค

ขอให้ กกต.พิจารณาว่าเข้าข่ายขัดมาตรา 21 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ที่ระบุว่า การคัดเลือกสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง พรรคต้องคัดเลือกคนที่มีความซื่อสัตย์สุจริต มีธรรมาภิบาล ไม่ใช่ส่งคนที่มัวหมองมาลงสมัครเหมือนเป็นการดูถูกประชาชน ประเด็นนี้จะเป็นเหตุให้เข้าข่ายยุบพรรค และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคด้วยหรือไม่ รวมถึงให้พิจารณาความอาญาและความแพ่ง เพราะการที่ กกต.ไม่รับรองนายชาญเป็นนายก อบจ.ปทุมธานี โดยให้ใบเหลืองในรอบแรก ทำให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่

“ที่มาร้อง ผมไม่ได้เกี่ยวข้อง หรือรู้จักกับผู้สมัครคนใด แต่ผมยืนหยัดในการร้องเรียนตามข้อเท็จจริง โดยอาศัยหลักนิติรัฐ นิติธรรมและคิดว่าถ้าพรรคเพื่อไทยเดือดร้อน ก็ออกมาแก้ได้เลย อย่างที่ผมร้องกกต.ให้เอาผิดนายกฯ และ สส.ที่ไปร่วมงานอุปสมบทลูกชายนายกฤษฎา หลีนวรัตน์ นายกเทศมนตรีตำบลธัญบุรี จนนำมาสู่การที่ กกต.ให้ใบเหลืองนายชาญ ก็เห็นเงียบกริบ ผมไม่ได้ขัดแย้งกับงานบวช เพราะผมก็เคยบวชมาก่อน แต่ขัดแย้งกับการจัดเลี้ยงในช่วงที่มีการเลือกตั้งเพราะเป็นการจูงใจ ถ้าพรรคเพื่อไทยเห็นว่าการร้องเรื่องนี้ไร้สาระก็ไปแก้ไขกฎหมายเอา แต่การที่ กกต.ให้ใบเหลืองในชาญทำให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ ก็มีค่าใช้จ่าย ผมก็เฉยเมยไม่ได้ เพราะเงินที่ใช้ก็เป็นเงินภาษีของผมเหมือนกัน จึงต้องร้องขอให้ กกต.ดำเนินการ” นายนพรุจ กล่าว