แนวร่วมฝ่ายค้าน 'รื้อจริยธรรม' ดับฝัน‘ปชน.’ ริบอำนาจ ป.ป.ช.?
เช็กแถวแนวร่วมฝ่ายค้าน แก้รัฐธรรมนูฐ "รื้อจริยธรรม" ส่อแวว ดับฝันพรรคประชาชนริบอำนาจป.ป.ช.
KEY
POINTS
- ตามข่าว "44สส." อดีตพรรคก้าวไกล-ประชาชน ไม่ได้ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อสกัดข้อครหาในเรื่องประโยชน์ทับซ้อนก็ตาม แต่การแก้ไขปมจริยธรรม ย่อมถือเป็นผลพลอยได้ แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้
- เช็กเสียงฝ่ายค้านพรรคประชาชน 143 เสียงพรรค ไทยสร้างไทย 6-3 เสียง(เป็นงูเห่า3เสียง) และพรรคเป็นธรรม 1 เสียง ส่วนพรรคเล็ก 1 เสียงที่เหลืออยู่เวลานี้ เกือบทั้งหมดถูกมองว่าถูกเทคโอเวอร์โดย “ผู้กอง”สายรัฐบาล ไปเรียบร้อยแล้ว
- ในเชิงดุลอำนาจ พรรคประชาชนอาจเป็นรองด้วยเสียง สส.ที่มีอยู่ในมือ ยังไม่นับรวมสภาสูงอุปสรรคขวากหนามสำคัญ แต่ในเชิงมวลชนต้องลุ้นกันว่า การเล่นบท“ผู้ถูกกระทำ” จะมีผลในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อชิงโหวตเตอร์หลังจากนี้หรือไม่ อย่างไร
ประเด็น“จริยธรรมนักการเมือง” ถือเป็นผลพวงมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ออกโดยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)
ยิ่งไปกว่านั้น หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ไม่ถึงปี ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ก็จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมเสร็จ ใช้ชื่อว่า “มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ” ประกาศใช้เมื่อ 30 ม.ค.2561
ที่สำคัญคือ มาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าวนี้ ยังใช้บังคับกับ สส. สว. และครม.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 219 วรรคสองอีกด้วย
หลังจากนั้น ก็มีนักการเมืองที่ถูก“ยาแรง” ด้วยข้อกล่าวหาผิดมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงมาแล้วหลายราย
ล่าสุดคือกรณีของ“เศรษฐา ทวีสิน” ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตราด้วยคำว่า“ไร้จริยธรรม”หรือคำว่า“ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์”ที่จะติดตัวไปถึงบทบาทต่างๆ หลังจากนี้
ไม่ต่างจาก“พรรคประชาชน” ที่แปรสภาพมาจากพรรคก้าวไกล ซึ่งถูกยุบพรรคในคดีเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายมาตรา 112
อีกทั้งยังมี สส.บางส่วนที่อยู่ในกลุ่มร่วมลงชื่อแก้ไขมาตรา 112 ที่ยังมี “คดีจริยธรรมร้ายแรง” ซึ่งเป็นดาบสอง ต่อจากคดียุบพรรคค้างอยู่ในชั้นการพิจารณาของ ป.ป.ช. แถมมี สส.และอดีต สส.รวม 44 คน ที่ยังต้องลุ้นชะตากรรมการเมืองหลังจากนี้
เวลานี้กำลังเล่นบท“ผู้ถูกกระทำ” ชิงจังหวะเสนอเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โฟกัสประเด็นหลักๆ อยู่ที่ การยกเลิกอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบจริยธรรมนักการเมือง
แม้ตามรายงานข่าวจะบอกว่า สส.จำนวน 44 คน ไม่ได้ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อสกัดข้อครหาในเรื่องประโยชน์ทับซ้อนก็ตาม แต่การแก้ไขประเด็นดังกล่าว ย่อมถือเป็นผลพลอยได้ แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้
ก่อนหน้านี้ จึงมีการจับตาไปที่ “ดีลข้ามขั้ว” รวมการเฉพาะกิจระหว่าง “พรรคประชาชน” และ “พรรคเพื่อไทย” ในฐานะแกนนำรัฐบาล ทว่าถึงนาทีนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อล่าสุดมีสัญญาณมาจากพรรคเพื่อไทย
ว่ากันว่า "ชูศักดิ์ ศิรินิล" รัฐมนตรีมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวต่อที่ประชุม สส.เรื่องดังกล่าว ไม่ได้ออกจากเพื่อไทย
นัยคือ เพื่อไทยใส่เกียร์ถอย เพื่อเลี่ยงครหา “สุดซอยเวอร์ชั่น 2” ที่เคยตามหลอนรัฐบาลเพื่อไทยในยุคนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาแล้ว
ฉะนั้น เมื่อพรรคแกนนำรัฐบาลส่งสัญญาณถอย โอกาสที่จะยืมเสียงขั้วรัฐบาลก็แทบไม่มี จึงเกิดคำถามว่า แนวร่วมพรรคประชาชนในสภาฯ จะมีมากน้อยเพียงใด
เมื่อเช็กเสียงที่มีอยู่ในมือเวลานี้ มีพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม คือ พรรคประชาชน 143 เสียงพรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง(เป็นงูเห่า3เสียง) และพรรคเป็นธรรม 1 เสียง ส่วนพรรคเล็ก 1 เสียงที่เหลืออยู่เวลานี้ เกือบทั้งหมดถูกมองว่าถูกเทคโอเวอร์โดย “ผู้กอง”สายรัฐบาล ไปเรียบร้อยแล้ว
ส่วน “19 สส.พลังประชารัฐ” กลุ่ม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แม้เวลานี้ถูกผลักไปอยู่ในขั้วฝ่ายค้าน
แต่ล่าสุดมีสัญญาณมาจาก พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกพรรคพลังประชารัฐ ที่ออกมาแถลงจุดยืนพรรคไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรม
เป็นเช่นนี้ ย่อมต้องจับตาในเชิงดุลอำนาจ พรรคประชาชนอาจเป็นรองด้วยเสียง สส.ที่มีอยู่ในมือ ยังไม่นับรวมสภาสูง ที่เวลานี้ปกคลุมโดยสีน้ำเงินที่จะเป็นอุปสรรคขวากหนามสำคัญอีกด่าน
แต่ในเชิงมวลชนต้องลุ้นกันว่า การเล่นบท“ผู้ถูกกระทำ” จะมีผลในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อชิงโหวตเตอร์หลังจากนี้หรือไม่ อย่างไร