เอฟเฟกต์ แก้‘จริยธรรม’ สะเทือน‘ความไว้ใจ’พรรคร่วม

เอฟเฟกต์ แก้‘จริยธรรม’ สะเทือน‘ความไว้ใจ’พรรคร่วม

"เพื่อไทย" เปิดปากชัดว่า เปิดดีล "พรรคประชาชน" ชงร่างแก้รธน.ปมจริยธรรม ข้ามหัว "พรรคร่วมรัฐบาล" เรื่องนี้ทำให้เกิดความไม่ไว้ใจต่อกัน จับตาการส่งผลเสถียรภาพรัฐบาลในอนาคต

KEY

POINTS

Key Point : 

  • มีการยอมรับออกมาแล้วว่า การแก้รธน.ประเด็นจริยธรรม คือการ แตะมือระหว่าง "เพื่อไทย-พรรคประชาชน"
  • แม้ "ประธานวิปรัฐบาล" จะแก้ต่างว่าไม่ใช่สมคมคิด แต่เป็นไปตามกระบวนการยื่นร่างกฎหมายประกบ
  • ทว่าไม่อาจยั้งความคิด-ความระแวง-ความไม่ไว้ใจของ "พรรคร่วมรัฐบาล" ที่ "เพื่อไทย" เลือกคบ "เด็กข้างบ้าน" มากกว่า
  • มิหนำซ้ำ ปมที่เดินตาม "เด็กข้างบ้าน" ได้สร้าง "กองไฟสุม" ที่อาจลามเผาบ้าน ที่ "เพื่อไทย" และพรรคร่วมรัฐบาลอยู่รวมกัน
  • งานนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปมแก้จริยธรรม ทำให้ "พรรคร่วมรัฐบาล" ตั้งเค้าความไม่ไว้ใจต่อกันในการทำงานร่วมกันในสภาฯ
  • และส่อว่าจะลามถึงเสถียรภาพ "รัฐบาล" ได้ในอนาคต

ไม่ว่า “พรรคเพื่อไทย” จะถอยการเสนอ แก้รัฐธรรมนูญประเด็นจริยธรรรม หรือจะถอนเนื้อหาที่เสนอต่อ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา​“ ประธานรัฐสภา ในเร็ววันนี้หรือไม่

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปมเหตุนี้ สร้างความไม่ไว้วางใจให้กับ “สังคม” ขั้วอนุรักษ์ และ “พรรคร่วมรัฐบาล” เป็นอย่างยิ่ง

แม้ว่า “วิสุทธิ์ ไชยณรุณ” ประธานวิปรัฐบาล จะอธิบายเนื้อหาที่วางเป็นคอนเซ็ปต์ว่า เป็นไปตามกระบวนการนิติบัญญัติที่ต้องเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของ “รัฐบาล” ประกบกับ “พรรคประชาชน” ฐานะฝ่ายค้าน ที่นำร่องยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กลุ่มมาตราว่าด้วยมาตรฐานจริยธรรม เพื่อไม่ให้ฝ่ายค้านเสนอเนื้อหาที่เป็นผลเชิงบวกให้กับฝ่ายตัวเองเท่านั้น

เอฟเฟกต์ แก้‘จริยธรรม’ สะเทือน‘ความไว้ใจ’พรรคร่วม

ขณะที่เนื้อหานั้น “ประธานวิปรัฐบาล” ระบุในสาระสำคัญไว้แบบย่อๆ ว่า “ไม่มีการตัดประเด็นความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และการกำกับนักการเมือง ว่าด้วยมาตรฐานจริยธรรม เพียงแค่ต้องมีเงื่อนไขการบังคับใช้ ไม่ให้เกิดการแปลความไปในทางที่ไร้ทิศทางชัดเจน”

ทว่า สาระที่ “คนเพื่อไทย” พยายามอธิบายว่าไม่ได้เป็นไปอย่างที่สังคมคิด ว่าต้องการ “แก้จริยธรรมแบบสุดซอย” ทำลายหลักการของรัฐธรรมนูญปราบโกง กลับไม่มีใครแสดงความบริสุทธิ์ใจ กางรายละเอียด “ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม” ให้สาธารณะได้เห็น รวมถึงนำมาให้ “แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล” พิจารณา 

และขณะนี้ ได้ชงเนื้อหาให้ “ประธานรัฐสภา-วันมูหะมัดนอร์ มะทา” พิจารณาบรรจุเข้าสู่วาระแล้ว

ประเด็นนี้ จึงถูกมองว่า “พรรคเพื่อไทย” พยายามมัดมือชก ซึ่ง “อดิศร เพียงเกษ” สส.เพื่อไทย ยอมรับตอนหนึ่งระหว่างการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่รัฐสภาว่า “คิดว่าพรรคร่วมจะคิดเหมือนกัน แต่หลังจากมีข้อท้วงติงและการวิจารณ์จากพรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ จึงต้องให้เกียรติกัน”

จึงกลายเป็นคำถามทันทีว่า “พรรคเพื่อไทย” ให้เกียรติ “พรรคร่วมรัฐบาล” แบบไหนกันแน่

หรือคิดแค่ว่า ตัวเองเป็น แกนนำตั้งรัฐบาล มีเสียง สส. มากที่สุดในสภาฯ จึงมีอำนาจเหนือพรรคอื่นๆ ที่จะจูงไปในทางใดก็ได้ ตามอำเภอใจ

ขณะเดียวกันนั้น ยังมีความแคลงใจอีกปมในประเด็นที่ “พรรคเพื่อไทย” เลือกเจรจา และเปิดดีลกับ “พรรคประชาชน” ฐานะฝ่ายค้าน ก่อน “พรรคร่วมรัฐบาล” และแตะมือแบบลับๆ ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่ใกล้เคียงและสอดคล้องกัน

เรื่องนี้ “ประธานวิปรัฐบาล” ยอมรับด้วยตัวเองว่า จุดเริ่มต้นคือการคุยกับพรรคประชาชน ในการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ สำทับกับ คนของ พรรคภูมิใจไทย ภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ที่ยอมรับว่ามีการเปิดวงคุยกันระหว่างตัวแทนวิปรัฐบาลกับ “พริษฐ์ วัชรสินธุ” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะผู้เดินเกมแก้รัฐธรรมนูญฝั่งฝ่ายค้าน

เอฟเฟกต์ แก้‘จริยธรรม’ สะเทือน‘ความไว้ใจ’พรรคร่วม

ในการประชุมวงนั้น “ภราดร” บอกว่า ตอนนั้นยังมีสถานะเป็นวิป ได้แสดงความเห็นท้วงติงว่า กระแสสังคมจะไม่เอาด้วย เพราะเป็นการแก้เพื่อตัวเอง แต่ในวงหารือนั้น กลับตอบกลับมาว่า “จะอธิบายกับสังคมได้”

เท่ากับแสดงให้เห็นว่า “พรรคเพื่อไทย” ไม่ฟังเสียงทักท้วงของ “พรรคร่วมรัฐบาลเบอร์หนึ่ง” อย่างภูมิใจไทย แม้แต่น้อย และหันไปแตะมือกับ “พรรคประชาชน” เดินหน้าเรื่องนี้

เมื่อพิจารณาในเนื้อหาของเรื่องนี้ อาจจะมองได้ว่า “เพื่อไทย” และ “พรรคประชาชน” มีผลประโยชน์ร่วมกัน

ทั้งในแง่ของการ เปิดช่องคัมแบ็ก-ฟื้นบทบาท บทเวทีการเมืองอย่างเปิดเผย ของ “ทักษิณ ชินวัตร” และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

เอฟเฟกต์ แก้‘จริยธรรม’ สะเทือน‘ความไว้ใจ’พรรคร่วม

ต่อเรื่องนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า นายกฯ “แพทองธาร ชินวัตร” กำลังถูกจับจ้องจาก “ฝ่ายตรงข้าม” ที่ต้องการเล่นงานในประเด็น “มาตรฐานจริยธรรม” เหมือนกับ “เศรษฐา ทวีสิน” ที่พ้นเก้าอี้นายกฯ ด้วยเหตุ “มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง”

ตามมาตรฐานจริยธรรมฯ ที่ใช้บทกำกับ “นักการเมือง” นั้นมีข้อห้ามคบค้ากับคู่กรณี ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติ หรือผู้มีชื่อเสียงทางเสื่อมเสีย ที่กระทบต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่

ดังนั้นหากหั่นมาตรา 160 ว่าด้วยคุณสมบัติรัฐมนตรี ในแง่ที่ต้องถูกกำกับโดยมาตรฐานจริยธรรม จึงอาจเปิดช่องหายใจให้ “คนเบื้องหลัง” รัฐบาลแพทองธาร ออกมาอย่างสง่างาม

เอฟเฟกต์ แก้‘จริยธรรม’ สะเทือน‘ความไว้ใจ’พรรคร่วม

ขณะที่ ในแง่ของ “พรรคประชาชน” ที่จะได้ประโยชน์ต่อการแก้เรื่อง “จริยธรรม” เพื่อปลดล็อก “44 สส.พรรคประชาชน” ที่อยู่ระหว่างตรวจสอบปมผิดจริยธรรม ต่อ “ป.ป.ช.” เพราะเนื้อหาที่แก้ไขของ “พรรคเพื่อไทย” นั้นมีบทให้ ริบอำนาจ “ป.ป.ช.” เช่นเดียวกันกับร่างของ “พรรคประชาชน”

จึงเรียกได้ว่า การเปิดดีลแบบนี้ เท่ากับ “ผลัดกันเกาหลัง” เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และเมื่อพิจารณาบนเงื่อนไขของการแก้รัฐธรรมนูญ ที่ต้องอาศัยเสียง ได้เห็นพ้องต้องกันทั้ง “สส.” ฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน และ “สว.” 

เอฟเฟกต์ แก้‘จริยธรรม’ สะเทือน‘ความไว้ใจ’พรรคร่วม

จะเห็นชัดว่า การจับมือ “เพื่อไทย-พรรคประชาชน” คือการวางหมาก ที่ไม่ต้องอาศัยเสียงพรรคร่วมรัฐบาลอื่น

จึงไม่แปลกที่ “พรรคร่วมรัฐบาล” จะระแวง และเร่ิมไม่ไว้ใจ "เพื่อไทย"

น่าจับตาว่า ความไม่ไว้ใจนี้อาจส่งผลใดต่อการทำงานร่วมกันในสภาฯ จนขยายวง ถึงขั้นเขย่าเสถียรภาพรัฐบาลหรือไม่.