‘เพื่อไทย’ถอยครึ่งซอย ปมเสี่ยง ‘แก้รัฐธรรมนูญ’ ผวากับดักการเมือง

‘เพื่อไทย’ถอยครึ่งซอย ปมเสี่ยง ‘แก้รัฐธรรมนูญ’ ผวากับดักการเมือง

ชั่วโมงนี้ “เพื่อไทย”จำเป็นต้องพักยกการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราปมจริยธรรม โดยถอยครึ่งซอยเพื่อดูทิศทางลมไว้ก่อน แม้เกมนี้จะต้องเสียเหลี่ยม-เสียรังวัด ก็ต้องยอม

KEY

POINTS

  • "เพื่อไทย" ยอมถอยครึ่งซอย ไม่ดันทุรังเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ภายหลัง "พรรคร่วมรัฐบาล" ส่งสัญญาณถอย
  • ทางหนึ่งมีปมเสี่ยงเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อาจจะเปิดช่องให้ "ฝ่ายค้าน-ฝ่ายแค้น" ร้องเรียนจนเกิดความเสี่ยง
  • อีกทางหนึ่งการที่ "ค่ายแดง" มีดีลลับขอเสียงจาก "ค่ายส้ม" ทำให้ "เครือข่ายอนุรักษ์นิยม" หวาดระแวง

“พรรคเพื่อไทย” จุดพลุแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราได้เพียงไม่กี่สัปดาห์ สุดท้ายต้องพับแผนกลับบ้าน ภายหลังมีเสียงท้วงติงจาก “แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล” อาจจะเข้าทาง “ฝ่ายค้าน-ฝ่ายแค้น” โดยเฉพาะ “ทีมบ้านป่า”

โดยก่อนหน้านี้ “เพื่อไทย” เตรียมลุย 6 ประเด็น ประกอบด้วย 

1.กำหนดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. ซึ่งห้ามบุคคลที่ต้องโทษจำคุกโดยพ้นโทษไม่ถึง 10 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง

2.คุณสมบัติของรัฐมนตรี กรณีมีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ แก้ไขให้เป็น “ไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ประจักษ์ว่าไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต” กรณีไม่มีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง แก้ไขให้ชัดเจนว่า “ต้องเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในศาลฎีกา” และกรณีไม่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอลงโทษ แก้ไขให้เป็นเหตุความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 แทน

3.กลุ่มมาตราที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต และจริยธรรมที่กำหนดเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรี

4.มติของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยคดีต่างๆ ที่กำหนดให้ถือเสียงข้างมาก ให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

5.อำนาจของ ป.ป.ช. ที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีของ สส. ต้องส่งให้ศาลฎีกาในประเด็นมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ แก้ระยะเวลาการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 5 ปี แต่ไม่มีการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง 6.การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรรมนูญ ซึ่งเติมความเป็นวรรคสอง ให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับฉบับใหม่สามารถทำได้

มีความเคลื่อนไหว ก่อนที่“บิ๊กเนมค่ายแดง”จะสั่งลุยแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ได้ปรึกษาหารือกับ“บิ๊กพรรคร่วมรัฐบาล” เรียบร้อยแล้ว โดย“หัวหน้าค่ายน้ำเงิน”เป็นคนแรก ที่เสนอให้แก้ปมจริยธรรม ก่อนที่ทุกพรรคจะเห็นพ้องต้องกัน

ฝั่ง “บิ๊กเนมค่ายแดง” เคลื่อนเกมเร็ว-เคลื่อนเกมแรง ไม่รอสัญญาณจากใคร จุดพลุแก้ 6 ประเด็นในทันที แต่คล้อยหลังไม่ถึงสัปดาห์กลับมีสัญญาณจาก “คนพิเศษ” ส่งสัญญาณให้ “หัวหน้าค่ายน้ำเงิน” ออกมาคว่ำ การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา

อีกทางหนึ่ง “เครือข่ายอนุรักษนิยม” มีความกังวลดีลไม่ลับของ “เพื่อไทย” กับ “พรรคประชาชน” ในการจับมือกัน เพื่อขอเสียงโหวตให้รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อเกิดดีลนี้ จึงไม่แปลกที่ค่ายน้ำเงินจะมีปฏิบัติการล้มกระดาน

ทำให้พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคชาติไทยพัฒนา ต่างส่งคีย์แมนของพรรคมาขย่ม“พรรคเพื่อไทย” แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการแก้ปมจริยธรรม

โดยภายหลังการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 24 ก.ย. “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร เรียกคุยหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ใช้เวลาหารือเกือบ 1 ชั่วโมง จากนั้นมีการประชุม สส.พรรคเพื่อไทยต่อ โดย “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แจ้งล้มเลิกการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา

อย่างไรก็ตาม “พรรคร่วมรัฐบาล” ให้เหตุผล กลัวจะมี “มือมืด” ร้องปมขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามมาตรา 114 โดยระบุไว้ว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงําใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์”

หากย้อนไปในปี 2564 “พลังประชารัฐ” เคยเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 ว่าด้วยข้อห้าม สส. สว.ยุ่งเกี่ยวกับการแปรญัตติ งบประมาณเพื่อตนเอง และมาตรา 185 ห้าม สส. ก้าวก่ายแทรกแซงการโยกย้าย ข้าราชการ

ทว่า มีการอภิปรายของ สส.และ สว. อย่างเข้มข้น ส่วนใหญ่ชี้ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง ให้มีผลประโยชน์ได้เสีย

โดยมติรัฐสภารับหลักการ 334 เสียง (ไม่มีสว.รับหลักการตามเงื่อนไข) ไม่รับหลักการ 199 เสียง งดออกเสียง 173 (สว. + สส.ภูมิใจไทย)

กรณีดังกล่าว เป็นบรรทัดฐานที่วางเอาไว้ หากจะแก้ไขปมจริยธรรม ก็จะถูกส่ง “ศาลรัฐธรรมนูญ” ให้ตีความทันทีว่า เป็นการกระทำเข้าข่ายขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่

ชั่วโมงนี้ “เพื่อไทย”จำเป็นต้องพักยกการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราปมจริยธรรม โดยถอยครึ่งซอยเพื่อดูทิศทางลมไว้ก่อน 

แม้เกมนี้จะต้องเสียเหลี่ยม-เสียรังวัด ก็ต้องยอม เพราะสถานการณ์ของเพื่อไทยในฐานะแกนนำ ถึงจังหวะที่“พรรคร่วมรัฐบาล”จับมือกันแน่น ย่อมมีโอกาสลุกลามบานปลาย จนเอาไม่อยู่