'พิพัฒน์' รับประชุมไตรภาคีล่ม เป็นเทคนิคสกัด 'นายจ้าง' ค้านขึ้นค่าแรง
“พิพัฒน์” รับการประชุมไตรภาคีล่ม เป็นเทคนิค เชื่อนายจ้างไม่อยากปรับค่าแรง เหตุภาวะเศรษฐกิจประเทศ ยันสิ้นปี 68 เอสเอ็มอีได้ปรับค่าแรง แจงหากทำให้สำเร็จอาจไม่ถึง 600 บาท
ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา ของนายเซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ถามถึงนโยบายการขึ้นค่าแรง 400 บาท ที่พบว่าไม่สามารถทำได้ ในเดือนต.ค.นี้ พร้อมมองว่าเป็นการวางแผนเล่นละครตบตาผู้ใช้แรงงาน
“พี่น้องผู้ใช้แรงงานฝากผมมาว่า นี่เป็นการเมืองเล่นละครตบตากันใช่หรือไม่ เล่นละครเพื่อบ่ายเบี่ยง การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใช่หรือไม่ การประชุมจึงล่มแล้วล่มอีก ผมขอถามจากใจว่ารัฐมนตรีมีความมุ่งมั่นที่จะปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นเป็น 400 บาทจริงๆ หรือไม่ และปรับขึ้นเมื่อไหร่ และกลุ่มเอสเอ็มอีจะมีการปรับหรือไม่” นายเซีย กล่าว
โดยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ชี้แจงว่าการประชุมไตรภาคี เมื่อ 20 ก.ย.67เพื่อพิจารณาเรื่องค่าจ้างหากขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยที่ผู้เข้าร่วมประชุมไม่ครบ 2 ใน 3 ไม่สามารถที่จะเปิดประชุมได้ ทั้งนี้ประเด็นที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่นอกเหนือสิ่งที่ตนกำกับหรือบังคับได้ หากจะพูดว่าเป็นเทคนิคก็ได้ เพราะหากมีการประชุม ตนเชื่อว่าเราไม่สามารถที่จะหมดได้แต่ถ้ามีการโหวตในวันนั้นฝ่ายนายจ้างยืนยันคัดค้านทั้ง 5 คน
"ผมก็ขอถามสมาชิกว่าถ้ามีการประชุมในวันนั้น ผู้ที่จะเสียหายคือกลุ่มใด แน่นอนว่าอย่างไรฝ่ายนายจ้างก็ไม่อยากขึ้นค่าแรง เพราะสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย สิ่งที่เพิ่มต้นทุนให้กับฝ่ายนายจ้างคือ ดอกเบี้ยที่สูงเกินความจริงนอกเหนือจากอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งผมคิดว่าในรัฐบาลมีหลายฝ่ายที่พยายามจะเจรจา" นายพิพัฒน์ ชี้แจง
รมว.แรงงานชี้แจงด้วยว่าสำหรับไทม์ไลน์ในการที่จะประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้องคำนึงถึงสถานะของผู้ประกอบการหรือสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ หากประกาศไปก็เป็นเพียงลมปาก แต่ถ้าจะทำให้สำเร็จจริงก็อาจจะไม่ถึง 600 บาทได้ แต่ ขอให้มีความก้าวหน้าในการขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่ชาวแรงงานต้องอยู่ให้ได้.
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์