'วันนอร์' ย้ำ จริยธรรม คุมนักการเมืองต้องมี แต่ควรปรับให้สมดุล
"ประธานสภาฯ" มองมาตรฐานจริยธรรมนักการเมือง ต้องมีไว้ เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย แต่ควรปรับระบบ-ยึดสมดุล ไม่เคร่งครัดเหมือนผู้พิพากษา
ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ นมะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการลาประชุมของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จากประชุม 95 ครั้ง แต่พบการไม่มาประชุม 84 ครั้ง ที่ถูกมองว่าผิดจริยธรรม ว่า เป็นเรื่องของข้อบังคับและกฎหมาย ที่สส.สามารถทำได้ แต่ตรวจสอบความเหมาะสมได้ เพราะเป็นความรับผิดชอบ ทั้งนี้กรณีเช่นนี้มีน้อย เพราะพรรคการเมืองเข้มงวดให้สส.ลงมติโดยตลอด อย่างไรก็ดีมีเมื่อมีผู้เสนอให้ตรวจสอบต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการจริยธรรมของสภาฯ แต่ขณะนี้ยังทำไม่ได้ เพราะขาดผู้นำฝ่ายค้าน และแม้มีผู้นำฝ่ายค้านแล้วอาจมีปัญหาในเรื่องสัดส่วนของกรรมการที่เปลี่ยนกันใหม่ในของพรรคพลังประชารัฐที่ไม่ชัดเจนว่าอยู่ฝ่ายใด ทั้งนี้ได้ให้ฝ่ายเลขานุการประธานสภาฯ ดำเนินการให้ครบเพื่อเรียกประชุมคณะกรรมการจริยธรรมได้
เมื่อถามว่าการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวจะต้องเรียกเจ้าตัวมาชี้แจงหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า การสอบถามเป็นเรื่องของอนุกรรมการที่จะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม แต่กรรมการไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องมาให้ถ้อยคำ ถ้าเจ้าตัวไม่มาให้ถ้อยคำ ต้องถือเอาตามเหตุการณ์แวดล้อม และคำร้อง ซึ่งคนที่ถูกร้องก็จะเสียเปรียบเอง
เมื่อถามว่าผู้ที่อนุญาตให้ลาได้คือประธานสภาฯข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นายวันมูหะหมัดนอร์ กล่าวว่า ตนมอบให้นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่หนึ่ง เป็นผู้ดูแลเรื่องการลาของสมาชิก ทั้งนี้ยอมรับว่าตามข้อกฎหมายเป็นเรื่องยาก เพราะกำหนดให้สมาชิกลาได้ ถ้าจำเป็น ซึ่งการลาสมาชิกก็บอกว่าจำเป็น ติดภารกิจ หรือไม่สบายก็ต้องมีเหตุผลมา แต่ความเหมาะสมอยู่ตรงไหน ตนคิดว่าประชาชนซึ่งเป็นผู้เลือกสมาชิกคงจะวัดได้
เมื่อถามว่ามองว่ามาตรฐานจริยธรรมของนักการเมืองจำเป็นหรือไม่ ประธานสภาฯ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับความสมดุลกฎหมาย แต่กฎหมายเรื่องจริยธรรมในสังคม อาจจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กร ส่วนของสส.และ สว.ควรต้องมีมาตรฐาน เพื่อประโยชน์ของประชาชน และประชาชนยอมรับได้ หากไม่มีอาจเกิดความวุ่นวายได้ หรือมีแล้วอ่อนเกิน ก็ไม่ดี หรือหากมีแต่เข้มเข้มเกินไป ทำให้ทำหน้าที่ไม่ได้ ไม่มีความมั่นคงในการตัดสินใจทำให้ไม่กล้าทำ จะทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ จึงคิดว่าทุกอย่างอยู่ที่ความสมดุลว่ามีแล้วได้ประโยชน์กับประชาชนหรือไม่ และถ้าไม่มีแล้วประชาชนเสียประโยชน์ก็ควรต้องมี
"ปัจจุบันที่เป็นปัญหาถกเถียงอยู่ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 129 กำหนดว่าให้ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้เขียนมาตรฐานทางจริยธรรม สำหรับศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และให้บังคับถึงคณะรัฐมนตรี(ครม.)และสมาชิกรัฐสภาด้วย กลายเป็นประเด็นว่าเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกอาชีพ ถ้าถามว่าดีหรือไม่ เพราะบางอย่างปฏิบัติแล้วทำให้เกิดความไม่มั่นคง ทำให้ผู้นำรัฐบาลไม่สามารถตัดสินอะไร ได้เพราะกลัวจะถูกถอดถอน แต่มาตรฐานทางจริยธรรม เช่นการไม่โกง ไม่ทุจริต ไม่เอาประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม และควรระบุให้ชัดว่ามาตรฐานของแต่ละอาชีพนั้นควรอยู่ตรงไหน เพื่อให้เหมาะสมกับสถานะของผู้นั้น" นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว
เมื่อถามถึงพฤติกรรมในอดีตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองควรนำมาเป็นหลักเกณฑ์ในเรื่องของจริยธรรมหรือไม่นั้น นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า กรณีที่เกิดปัญหาเพราะเดิมเราไม่มีการกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมที่ชัดเจน แต่ไปตัดสินที่ศาล หากยึดคำพิพากษาของศาล ถือเป็นจริยธรรมของบุคคลทั่วไป แต่สมาชิกรัฐสภาควรมีจริยธรรมระดับหนึ่งไม่เท่ากับคนทั่วไป กรณีกำหนดมาตรฐานทางธรรมสูงเท่าผู้พิพากษา ตนก็คิดว่าเกินไป ซึ่งความจริงมาตรฐานสูงเป็นเรื่องดีแต่ปฏิบัติลำบาก เพราะคนที่เป็นรัฐมนตรีไม่กล้าตัดสินใจ ประชาชนเสียประโยชน์แน่นอน.