ขวางฉีกรธน.60 ต้อนสู่ ‘เดดล็อก’ คงกลไก ‘มรดกคสช.’คุม ‘พรรค-นักการเมือง’

ขวางฉีกรธน.60 ต้อนสู่ ‘เดดล็อก’ คงกลไก ‘มรดกคสช.’คุม ‘พรรค-นักการเมือง’

สัญญาณจาก เกมในวุฒิสภา ฟื้น หลักเกณฑ์ผ่านประชามติ ด้วย "เสียงข้างมาก2ชั้น" สะท้อนให้เห็นว่า "ขั้วอนุรักษ์" ต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ว่ายากแล้ว ทำได้ยากยิ่ง

KEY

POINTS

Key Point :

  • กมธ.วุฒิสภา เสนอแก้ ประเด็นหัวใจของ "กฎหมายประชามติ"  ให้คืน เกณฑ์ผ่านประชามติ ด้วยย เสียงข้างมาก2ชั้น
  • ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นสัญญาณ ขวาง รื้อรัฐธรรมนูญ2560 ของ "ฝ่ายกุมเสียงข้างมากในสว." 
  • ปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่ผ่านมาการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ2560 เกิดในทุกสมัยของฝ่ายนิติบัญญัติ และการขวาง - ห้ามแก้ ก็เป็นฝ่ายชนะทุกครั้ง
  • ส่วนหนึ่งเพราะ "ขั้วอนุรักษ์" ต้องการคง มรดกคสช. ที่เป็นกลไกที่ใช้เพื่อเป็นแต้มต่ออำนาจ คุมนักการเมือง คุมพรรคการเมือง
  • รอบนี้แม้ "ขั้วอนุรักษ์" จะแทบไม่มีบทบาทใน "รัฐสภา" เมื่อวัดจากเสียง ทว่ายังมีเครือข่ายที่ใช้ขวางการรื้อใหญ่รัฐธรรมนูญ อยู่
  • ดังนั้นการฟื้นเกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้น ทำให้การแก้รัฐธรรมนูญ2560 ว่ายยากแล้ว ยากยิ่งไปอีก

สัญญาณต้อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้เข้าสู่ “เดดล็อก” ถูกส่งผ่านมาทาง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่..) พ.ศ…วุฒิสภา

โดยมี พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว.กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เป็นประธาน กมธ. ให้ทบทวนการจัดทำร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ

เจาะไปที่ประเด็นหัวใจหลัก ที่เคยเป็นสารตั้งต้นให้ “ฝ่ายการเมืองในสภาฯ” ต้องเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ 2564 คือ เกณฑ์การผ่านประชามติด้วยเงื่อนไข “เสียงข้างมาก 2 ชั้น”  ทั้งชั้นของ "ผู้ออกมาใช้สิทธิ์ที่ต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์” และ “เสียงเห็นชอบต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียง”

ขวางฉีกรธน.60 ต้อนสู่ ‘เดดล็อก’ คงกลไก ‘มรดกคสช.’คุม ‘พรรค-นักการเมือง’

ผลโหวตข้างมากของกมธ. 17 เสียงเห็นด้วย ต่อ 1 เสียงที่ไม่เห็นด้วย และงดออกเสียง 1

แม้การรื้อเกณฑ์ผ่านประชามติของ “กมธ.วุฒิสภา” จะขีดให้ใช้เฉพาะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเรื่องที่ ครม.เห็นว่ามีเหตุอันสมควร ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่กฎหมายกำหนด ยังใช้เกณฑ์เสียงข้างมากชั้นเดียวแบบมีเงื่อนไข คือ “ผู้มาออกเสียง ซึ่งคะแนนข้างมากนั้นต้องสูงกว่าคะแนนที่ไม่แสดงความคิดเห็น”

ขวางฉีกรธน.60 ต้อนสู่ ‘เดดล็อก’ คงกลไก ‘มรดกคสช.’คุม ‘พรรค-นักการเมือง’

ทว่า การแปรผลที่ได้ คือคงหลักเกณฑ์ที่เป็นเดดล็อก ให้ “การแก้รัฐธรรมนูญ” ที่ว่ายากแล้ว ยิ่งยากขึ้นไปอีก 

มติของ กมธ.ออกมา 17 เสียง บ่งชี้ทิศทางของการโหวตในที่ประชุมวุฒิสภา ในวาระเห็นชอบทั้งฉบับ วันที่ 30 ก.ย. นี้ เพราะ “สว.” ร้อยละ 80 ล้วนสังกัดใน “ขั้วสีน้ำเงิน”

จากสัญญาณที่ส่งผ่านมาจาก “กมธ.วิสามัญ” และเค้าลางของทิศทางการโหวตของ “สว.” ทำให้เห็นเป็นผลเชิงประจักษ์ว่า การรื้อรัฐธรรมนูญ 2560 และยกร่างใหม่ ตามเป้าหมายของ “รัฐบาล-เพื่อไทย” และ “กลุ่มนักการเมืองหัวก้าวหน้า” ส่อจะถูกยื้อออกไป

เนื่องจาก “ขั้วอนุรักษนิยม” และ “ฝั่งหนุนรัฐธรรมนูญ 2560” ไม่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง 

ไล่ย้อนไปตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทุกเครือข่ายจะออกมากระโดดขวางหาก “ขั้วตรงข้าม” ชงวาระรื้อทั้งฉบับ เช่นเดียวกับการขวางรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ที่เริ่มเห็นสัญญาณ ห้ามแตะรัฐธรรมนูญ

ที่สำคัญกลไกของรัฐธรรมนูญ 2560 ยังมีกลซ่อนอยู่ มีเพียงคนร่าง-ค่ายสีน้ำเงิน ที่มองลึกลงไปในกลเกม และสามารถถอดรหัสออกมาได้ สังเกตได้จากการเลือก 200 สว. ที่มีเพียง “ค่ายสีน้ำเงิน” ที่ขนโหวตเตอร์ ไปโหวตคนของตัวเองได้

ต้นทางของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มาจากการรัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดย “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) เมื่อปี 2557 และได้วางเกณฑ์การจัดทำรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุม 10 ประเด็น ไฮไลต์อยู่ที่ 4 ประเด็นได้แก่ 

-ให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและเอกชน และกลไกกำกับควบคุมการใช้อำนาจรัฐ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชน

ขวางฉีกรธน.60 ต้อนสู่ ‘เดดล็อก’ คงกลไก ‘มรดกคสช.’คุม ‘พรรค-นักการเมือง’

-ให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบไม่ให้ผู้เคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่าทำทุจริต ประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด

- ให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะผู้ดำรตำแหน่งทางการเมืองและพรรคการเมือง ปฏิบัติหน้าที่หรือทำกิจกรรมโดยอิสระ ปราศจากการครอบงำหรือชี้นำ โดยบุคคลหรือคณะบุคคลใดๆ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

-ให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการสร้างเสริมความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม และสร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลทุกกระดับ

ต้องยอมรับว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญ 2560 โดย “มีชัย ฤชุพันธุ์” ออกแบบมาให้ไว้อย่างดี เพื่อป้องกัน “บุคคลต้องห้าม” เข้าสู่อำนาจการเมือง และยังซ่อนกลให้ “อำนาจเผด็จการ-ฝ่ายทหาร” มีแต้มต่อในระบบบริหารสูงสุด ผ่านกลไกรัฐราชการ

ขวางฉีกรธน.60 ต้อนสู่ ‘เดดล็อก’ คงกลไก ‘มรดกคสช.’คุม ‘พรรค-นักการเมือง’

โดยเฉพาะกำหนดแผนแม่บทการบริหารประเทศ 20 ปี ผ่านยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ พร้อมออกแบบให้ “เครือข่าย คสช.” มีบทบาทอย่างสูงในกำกับ “รัฐสภา-ฝ่ายบริหาร” ผ่าน “กลไกยุติธรรม” ในรูปแบบของ “องค์กรอิสระ”

แม้ขณะนี้หลายบทบัญญัติที่ถูกเขียนให้เป็น “มรดก คสช.” ในรัฐธรรมนูญจะสิ้นผลไป ตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ เช่น สว.ชุดที่ คสช. แต่งตั้ง อำนาจสว.โหวตเลือกนายกฯ ในรัฐสภา

ทว่า ปัจจุบันยังมีสิ่งที่ “มรดก คสช.”ทิ้งไว้ และคงเป็นกลไกคุม “พรรค-นักการเมือง” เกือบเบ็ดเสร็จ ทั้งประเด็นมาตรฐานจริยธรรมนักการเมือง ให้อำนาจองค์กรอิสระตรวจสอบฝ่ายการเมืองในแง่จริยธรรม-คุณสมบัติ-การปฏิบัติหน้าที่

รวมถึงกำกับการทำงานของฝ่ายบริหาร กำกับนโยบายที่รัฐบาลจะดำเนินการ กำกับการตรากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ของ “สมาชิกรัฐสภา” รวมถึง “ยุทธศาสตร์ชาติ” เป็นกลไกหลัก เพื่อคุมการบริหารประเทศ ผ่าน “รัฐราชการรวมศูนย์”

เมื่อถอดรหัสจากสัญญาณที่ส่งผ่านมาจาก “พรรคการเมือง” ในสภาฯ แม้ทุกพรรคจะเห็นด้วยกับ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านกลไกปลดล็อค มาตรา 256 โดยให้ “ประชาชน” ในนาม สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เป็นผู้ยกร่าง แต่ส่วนใหญ่ของแรงหนุนกลับพบเงื่อนไขที่ต้องไม่แตะหมวด 1 บททั่วไป ที่เป็นหลักการสำคัญของกติกาประเทศ และหมวด 2 พระมหากษัตริย์

ทั้ง พรรคภูมิใจไทย-พรรคพลังประชารัฐ-พรรครวมไทยสร้างชาติ-พรรคประชาธิปัตย์-พรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งการส่งเสียงของพรรคดังกล่าวคือ แรงกดดันต่อการตัดสินใจของธงนำแก้รัฐธรรมนูญจากฝ่ายผู้มีอำนาจ

ในข้อเท็จจริงอาจจะกดดันได้ในเฉพาะช่วงต้นของการริเริ่ม ตามเงื่อนไขที่ต้องขอประชามติจากประชาชน ซึ่งขณะนี้มีคำถามประชามติ ตั้งรอ “ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ” แล้ว ซึ่งคำถามที่ว่านั้น มีเงื่อนไขสำคัญ ไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2

 เมื่อพ้นจากชั้นนี้ และเข้าไปสู่การแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มี “สสร.” มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่มีอะไรการันตีว่า บทบัญญัติที่ห้ามนั้นจะไม่ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลง ในช่วงที่สถานการณ์การเมืองหลังจากนี้ มีแง่มุมที่แหลมคม ซึ่งชวนสังคมยุคใหม่ได้ขบคิด

ขวางฉีกรธน.60 ต้อนสู่ ‘เดดล็อก’ คงกลไก ‘มรดกคสช.’คุม ‘พรรค-นักการเมือง’

ดังนั้น เมื่อไม่มีอะไรการันตีได้ การยับยั้งผ่านการแก้ไขเพิ่มเติม “เกณฑ์ผ่านประชามติ ด้วยเสียงข้างมาก 2 ชั้น” ใน พ.ร.บ.ประชามติ อาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดในยามนี้ แม้ว่าปลายทางของการ ที่ “สว.” ไม่เอาตาม “สส.” รอบนี้ จะทำได้แค่ยื้อเวลา เพราะสุดท้ายฝ่าย สส. ถือไพ่เหนือกว่า “สว.” อยู่ดี

แต่เมื่อพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบ เช่น การทำประชามติ ที่ไม่ทันหรือพร้อมกับการเลือกตั้งใหญ่-การเลือกตั้งสำคัญ จากเดิมที่คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ เล็งเอาไว้ในช่วงเดือน ก.พ. 2568 อาจทำให้ “โหวตเตอร์” ออกมาใช้สิทธิน้อย ซึ่งสุ่มเสี่ยงจะไม่ถึงกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิได้

ถึงแม้จะมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งได้ แต่การตั้งคำถามประชามติที่มีเงื่อนไข อาจเป็นกุญแจล็อกอีกชั้น ที่ทำให้ประชามติเพื่อเห็นชอบ รื้อรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นไปไม่ได้แบบ 100% 

โดยอาจจะทำให้ “รัฐธรรมนูญ2560” ที่เสมือนเป็นคัมภีร์ของฝ่ายอนุรักษนิยม ฝ่ายสนับสนุน ขั้วสีน้ำเงิน เพื่อใช้เอาชนะ “ฝ่ายตรงข้าม” ยังมีฤทธิ์มีเดชต่อไป.