‘ณัฐพงษ์’ โชว์ยุทธศาสตร์ใหม่ ปชน. กาง 3 แผนดึงนิวโหวตเตอร์ ปี 70 กวาด 270 สส.

‘ณัฐพงษ์’ โชว์ยุทธศาสตร์ใหม่ ปชน. กาง 3 แผนดึงนิวโหวตเตอร์ ปี 70 กวาด 270 สส.

‘ณัฐพงษ์’ เล่ายุทธศาสตร์ใหม่ ปชน. ชูแคมเปญ ‘เท้ง ทั่ว ไทย’ แก้โจทย์ใหญ่คนยังไม่รู้จักตัวตน ฝ่าแนวรบท้องถิ่น เก็บคะแนนนิยมสู้ศึกเลือกตั้งปี 70 ตั้งเป้าได้ป๊อปปูล่าร์โหวต 20 ล้านเสียง กวาด 270 สส.เข้าสภาฯ กาง 3 แผนดึงโหวตเตอร์หน้าใหม่เลือกพรรคส้ม

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2567 นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) นายศรายุทธ ใจหลัก เลขาธิการพรรคประชาชน พร้อมด้วยแกนนำพรรค เช่น น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค นายพริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรค ให้สัมภาษณ์สื่อ “เครือเนชั่นกรุ๊ป” ถึงทิศทางยุทธศาสตร์ และนโยบายภาพรวมของพรรคประชาชนหลังจากนี้

โดยนายณัฐพงษ์ ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งถึงผล “นิด้าโพล” ที่คะแนนของ “อุ๊งอิ๊งแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขึ้นอันดับ 1 ส่วน ตนเองอยู่อันดับ 3 ว่า หน้าที่ของพรรคการเมือง วันใดเทรนด์ หรือคะแนนนิยมของพรรคถึงจุดสูงสุด สิ่งที่เราต้องทำคือห้ามประมาท แต่ถ้าอยู่ในแนวโน้มคะแนนลดลง ต้องเก็บฟีดแบ็กมาปรับปรุงตัวเอง จากความสำรวจความเห็นของนิด้าโพล ต้องขอบคุณคนแสดงความเห็น ในฐานะหัวหน้าพรรค จะเก็บความเห็นมาปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า มองย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนผ่านจากพรรคอนาคตใหม่ เป็นพรรคก้าวไกลช่วงแรก คะแนนนิยม ผลการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ทำควบคู่กับคณะก้าวหน้า บรรยากาศคล้าย ๆ ตอนนี้ คะแนนนิยมก็ยังไม่กลับมา จนกระทั่งถึงการเลือกตั้งปี 2566 ฉะนั้นจะเห็นว่า ในปี 2566 พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับหนึ่งได้ เช่นเดียวกันผลโพลที่ออกมา ดังนั้นต้องเก็บฟีดแบ็ก เป็นช่วงเหตุการณ์ บริบทเปลี่ยนแปลงไป ยืนยันไม่กระทบการเมืองภาพใหญ่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

‘ณัฐพงษ์’ โชว์ยุทธศาสตร์ใหม่ ปชน. กาง 3 แผนดึงนิวโหวตเตอร์ ปี 70 กวาด 270 สส.

ส่วนประเด็นที่คนมองว่าไม่มี “แม่เหล็กดึงดูด” อย่างเดิม เช่น สมัยอนาคตใหม่มี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สมัยก้าวไกลมี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นั้น นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า การวิเคราะห์เป็นหน้าที่ของประชาชน หรือนักวิเคราะห์ทางการเมืองต่าง ๆ ตนเป็นผู้เล่นคนหนึ่ง ถ้าให้วิเคราะห์ตัวเอง คงต้องทำงานให้ดียิ่งขึ้น ส่วนปัจจัยที่กระทบคะแนนความนิยม หรือผลการเลือกตั้ง มีหลายปัจจัย เช่น สนามการเลือกตั้งซ่อม หรือเหตุการณ์ยุบพรรคก็ตาม หลายปัจจัยเป็นองค์ประกอบหมด เราคงไม่ได้ลงไปโทษ หรือบอกว่าเป็นเพราะปัจจัยต่าง ๆ แต่สิ่งที่ทำต่อคือยอมรับ และเดินหน้าทำงานต่อ

“สมัยก้าวไกล หรืออนาคตใหม่ ก็มีประเด็นเหล่านี้มาโดยตลอด ถ้าดูเหตุการณ์ต่อเหตุการณ์ ถามว่ามีปัจจัยบ้างหรือไม่ ตอบตามข้อเท็จจริงก็ตอบว่ามีบ้าง แต่ไม่กระทบภาพใหญ่ พอย้อนกลับไปสนามการเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 ก็พิสูจน์แล้ว พอเข้าสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่ แต่ละพรรคเสนอจุดยืนนโยบาย ตรงนั้นคือสนามตัดสิน เพียงแต่วันนี้จนถึงวันนั้น การทำงานปูพื้นของพรรคสำคัญมากกว่า” นายณัฐพงษ์ กล่าว

เมื่อถามย้ำถึงประชาชนบางคนยังไม่ทราบว่า “ณัฐพงษ์” คือหัวหน้าพรรค นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ลองมองย้อนกลับไปสมัยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลใหม่ ๆ ก็เช่นเดียวกัน เป็นข้อเท็จจริง ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประชาชนหาเช้ากินค่ำ ถ้าไม่ได้เข้าสู่โหมดเลือกตั้งทางการ เขาไม่ได้ติดตามข่าวสารมากนัก แต่คนส่วนใหญ่รับรู้แล้วมีพรรคประชาชนเกิดขึ้น แต่คนตามชุมชน ต่างจังหวัด หรือพื้นที่ห่างไกล อาจไม่ได้ติดตามข่าวสารครบถ้วน ตนคงไม่กล้าการันตีว่าคนหลายสิบล้านคนรับทราบข่าวสารหมดแล้ว นี่คือข้อเท็จจริง บริบททางการเมืองหลังถูกยุบพรรค เราจะต้องสื่อสารต่อประชาชนให้มากยิ่งขึ้น

‘ณัฐพงษ์’ โชว์ยุทธศาสตร์ใหม่ ปชน. กาง 3 แผนดึงนิวโหวตเตอร์ ปี 70 กวาด 270 สส.

เมื่อถามถึง “แพทองธาร” คะแนนนำเพราะนโยบายของรัฐบาล เช่น แจกเงินหมื่นบาท หรือ 30 บาทรักษาทั่วประเทศ คิดว่าเกี่ยวหรือไม่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ผลงานอะไรที่รัฐบาลทำได้ดี ย่อมส่งผลคะแนนนิยมขึ้นหรือลงด้วย เป็นเรื่องปกติ ของการทำหน้าที่ ตนขอทำหน้าที่ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน เช่น การอภิปรายเรื่องเปลี่ยนแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต เป็นการแจกเงินสด หรือแม้แต่การลงทุน เราเห็นว่าควรลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาว รวมถึงการกระจายทุนไปต่างจังหวัด พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประชาชน เป็นต้น

ส่วนการปรับยุทธศาสตร์พรรคครั้งใหม่ ชูแคมเปญ “เท้ง ทั่ว ไทย” คาดหวังไว้อย่างไร จะได้ผลหรือไม่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ในฐานะหัวหน้าพรรคเอง สิ่งที่ต้องทำในฐานะหัวหน้าพรรค สิ่งที่ต้องทำคือต้องลงไปเก็บเกี่ยวปัญหา สอบถามประชาชน เพื่อให้มีองค์ความรู้พัฒนานโยบายพรรคได้ดียิ่งขึ้น ในส่วนของลูกพรรค สส.พรรคประชาชนทุกคน สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ วางความเป็นผู้แทนราษฎรให้ชัดเจน คงไม่ได้หมายถึงทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติอย่างเดียว หรือขับเคลื่อนงานในสภาฯอย่างเดียว แต่คือการทำงานในพื้นที่ เวลาประชาชนมีปัญหา ทำอย่างไรให้รับรู้ว่า สส.อยู่กับเขาตลอดเวลา ดังนั้นต้องถอดบทเรียน และสื่อสารกันภายในพรรค ใช้เวลาต่อจากนี้อีก 2 ปีกว่า ๆ ทำอย่างไรให้ สส.เขต และ สส.บัญชีรายชื่อ ใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น เพื่อให้ใกล้ชิดกับโหวตเตอร์อีกกลุ่มที่เขาไม่เคยเลือกเรา ให้มาเลือกเรา

หัวหน้าพรรคประชาชน อธิบายเพิ่มเติมว่า แคมเปญนี้ มีจุดเริ่มต้นที่เขตบางแค กทม. เพราะตนเคยเป็น สส.บางแค มาก่อน หลังจากนั้นกลางเดือน ต.ค. 2567 จะไปภูเก็ต กระทั่งจนถึงสิ้นปี 2567 จะไป 20 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาค โดยเดินสายทำภารกิจหลายอย่างไปพร้อมกัน ทั้งไปดูปัญหา การสร้างพรรค รวมถึงการทำการเมืองท้องถิ่นด้วย ทำพร้อม ๆ กันไปทุกเรื่อง

ส่วนจะทำอย่างไร และใช้เวลาแค่ไหน ในการทำให้คะแนนนิยมของตัวเอง และพรรคประชาชนกลับมาเหมือนยุคอนาคตใหม่ และก้าวไกล นายณัฐพงษ์ กล่าว่ว่า อาจตอบในแง่เวลาได้ไม่ชัด เพราะเมื่อไหร่เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง หรือมีการยุบสภาฯ พรรคประชาชนเดินหน้าเต็มที่อยู่แล้ว แต่ถ้าพูดถึงไทม์ไลน์ปกติ ช่วงเวลา 2-3 ปีต่อจากนี้ก่อนปี 2570 ตนต้องร่วมมือกับนายศรายุทธ ใจหลัก เลขาธิการพรรค ในการแก้โจทย์หลายเรื่องของพรรค เช่น อาจมีประชาชนไม่รับทราบข่าวสาร เราต้องทำงานในพื้นที่กับประชาชนมากขึ้น ทำอย่างไรโหวตเตอร์เดิม ไม่เคยโหวตให้พรรคเรามาก่อน มาโหวตเรามากขึ้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เราอาศัยการทำงานในพื้นที่ 

นอกจากนี้ทำอย่างไรให้การเลือกตั้งปี 2570 เราได้รับความนิยมเกินครึ่งหนึ่ง ยกตัวอย่าง เราต้องการคะแนนป๊อปปูล่าร์โหวต 20 ล้านเสียง จะทำให้ได้ สส.บัญชีรายชื่อ เพิ่มเติมอีก 50 ที่นั่ง ดังนั้นถ้าเป้าหมายการเลือกตั้งปี 2570 ของเราคือนำ สส.เข้าสภาฯ 270 คน จะต้องหา สส.เขตให้ได้ 220 คน หากเทียบกับปัจจุบันที่มี สส.เขตราว 100 กว่าคน ดังนั้นต้องหาเพิ่มอีก 100 กว่าคนเพื่อให้ครบ 220 คน 

“เราต้องทำงานในพื้นที่มากขึ้น เราจะหวังจากคะแนนเสียงเดิมของพรรคไม่ได้ เราต้องขยายฐานความนิยม จากอุบัติเหตุทางการเมือง จากก้าวไกล มาพรรคประชาชน ไม่ว่าปัจจัยอะไรก็ตามแต่ ในช่วงสั้น ๆ ที่ไม่ได้ต่อเนื่อง หน้าที่ของพรรคประชาชน คือต้องลงไปทำงานให้ต่อเนื่องขึ้น” นายณัฐพงษ์ กล่าว

เมื่อถามว่า บางคนติดภาพจำของพรรคว่า เน้นเรื่องนโยบายแก้ไขมาตรา 112 แก้อำนาจองค์กรอิสระ ถ้าหากพรรคปรับเปลี่ยนนโยบาย หรือผ่อนปรน จะลดภาพจำของโหวตเตอร์อีกฝั่งให้มาเลือกเราได้หรือไม่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ต้องอธิบายก่อนว่า ตั้งแต่ก้าวไกล ถึงพรรคประชาชน เราไม่เคยโฟกัสเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ยกตัวอย่าง 300 นโยบาย เราเสนอหมดทั้งแพ็คเกจ ไม่เคยโฟกัสเรื่องใดเป็นหลัก 

ยุทธศาสตร์ทำงานต่อจากนี้ คือการเข้าถึงโหวตเตอร์กลุ่มอื่นที่ไม่เคยเลือกเรา แบ่งเป็น 3 ข้อ 

1.ทำหน้าที่ในพื้นที่ ทำอย่างไรรักษาเขตเดิม แล้วขยายเขตใหม่ได้ 

2.การสื่อสาร ทุกครั้งมีคอมเมนต์ไปยังรัฐบาล เราต้องมีข้อเสนอที่ดีกว่า เพื่อจะได้สื่อสารโหวตเตอร์อีกกลุ่มว่า เราไม่ใช่ฝ่ายแค้น แต่เป็นฝ่ายค้านเชิงรุก เพื่อพิสูจน์ว่าวันหนึ่งหากเราเป็นรัฐบาล เราพร้อมส่งมอบนโยบายอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ให้ประชาชนได้มากขึ้น 

3.การรักษาจุดยืนทางการเมือง ตรงไปตรงมา เคยพูดอย่างไรก่อนหาเสียง หลังหาเสียงก็ทำแบบนั้น และรักษาอุดมการณ์แบบเดิม 

“เมื่อใดที่เสียข้อ 3.ไป ฐานโหวตเตอร์ที่เติบโตมากับเรา ก็สูญเสียไปด้วย ดังนั้นเราไม่ได้โฟกัสนโยบายใดนโยบายหนึ่ง จะรักษาไว้หรือไม่ หรือละทิ้งดี ไม่ได้เป็นเรื่องเราไปติอย่างเดียว แต่เราต้องมีข้อเสนอด้วย รวมถึงการทำงานในพื้นที่ ทั้งหมดสำคัญไม่แพ้กัน ต้องทำพร้อมกันหมด” นายณัฐพงษ์ กล่าว

เมื่อถามย้ำถึงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในส่วนแก้การผูกขาดจริยธรรมนั้น นายณัฐพงษ์ อธิบายว่า สิ่งที่เราสื่อสารมาตลอดคือ เราไม่ได้ยกเลิกเรื่องนี้ แต่เราพักไว้ก่อน เพราะช่องทางการแก้ อาจต้องรอแก้ทั้งฉบับ หรือรอบริบทการเมืองเหมาะสม สาเหตุที่พัก ถ้าไปดูแพ็คเกจที่เราเสนอแก้รัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา มีทั้งหมด 7 แพ็คเกจ โดยอีก 6 แพ็คเกจ เป็นเรื่องสำคัญ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งนั้น เช่น ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร คุ้มครองสิทธิประชาชน ทำอย่างไรให้พรรคการเมืองเกิดง่าย อยู่ได้ ตายยาก ก็อยู่ในนั้น จึงสำคัญทั้งสิ้น ถ้าเรายังเดินหน้าเรื่องนี้ ที่ต้องการยกเลิกการผูกขาดมาตรฐานจริยธรรม ไว้กับศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ เกรงว่าฝ่ายรัฐบาลจะเอาเรื่องนี้เป็นข้ออ้างล้ม 6 แพ็คเกจที่เหลือ

“เมื่อประเมินบริบททางการเมืองตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อไทย หรือภูมิใจไทยเอง ประกาศถอยหมดแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราคิดว่าสำคัญไม่แพ้กัน เป็นตัวอย่างที่ดี เราไม่ได้โฟกัสเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อีก 6 เรื่องก็มีประโยชน์เช่นกัน เราจึงพักเรื่องนี้ไว้ก่อน แล้วเดินหน้าต่ออีก 6 เรื่องที่เหลือ” หัวหน้าพรรคประชาชน กล่าว

นายณัฐพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่เราเสนอ ในร่างแก้ไขมาตรฐานจริยธรรม และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา เราไม่ได้แก้ให้นักการเมืองอย่างเดียว เราแก้จริยธรรมทุกองค์กร ทำอย่างไรให้เรื่องนามธรรม เป็นรูปธรรม แต่ละองค์กรกำหนดกติกากันเอง ตรวจสอบกันเอง ในฐานะนักการเมืองที่มาจากประชาชน คนที่จะตัดสินนักการเมืองก็คือประชาชน ผ่านการเลือกตั้งในครั้งต่อ ๆ ไป