'เท้ง' จ่อคุย 'รัฐบาล-วันนอร์' เร่งเกมรื้อรธน.69 ดันแก้ ม.256 ก่อนประชามติ
"ณัฐพงษ์" มองยังมีทางแก้รธน.ทั้งฉบับ ได้ทันก่อนเลือกตั้ง70 ให้รัฐสภา แก้ม.256 ตั้งสสร. ก่อนทำประชามติ พร้อมมองแก้รธน.รายมาตรา 6 ฉบับ ไม่มีสัญญาณขวางจากพรรครัฐบาล
ที่รัฐสภา นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน ฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่วุฒิสภามีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งคืนหลักเกณฑ์การผ่านประชามติด้วยเสียงข้างมาก2 ชั้นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ว่าประเด็นดังกล่าวเป็นความกังวลว่าจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้น ทำได้ไม่ทันการเลือกตั้ง ปี2570 เพราะเมื่อสว.มีการแก้ไขเนื้อหาต้องส่งให้สภาฯ พิจารณาเพื่อตั้งกรรมาธิการร่วมกัน ดังนั้นจะทำให้กระบวนการทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ จำนวน 3 ครั้งนั้นล่าช้า เพราะต้องรอให้ พ.ร.บ.ประชามติผ่านสภาฯก่อน
นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่าตนมองว่าในกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับยังมีทางทำให้ทันในการเลือกตั้ง 2570 คือ ให้ทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ จำนวน 2 ครั้ง โดยตนจะหารือกับรัฐบาลรวมถึงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ถึงการบรรจุและพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ก่อนโดยไม่ต้องทำประชามติก่อน เพื่อให้กระบวนการทำประชามตินั้นเหลือ 2 ครั้ง
นายณัฐพงษ์ กล่าวด้วยว่าพรรคประชาชนยืนยันถึงการเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา 6 ฉบับ โดยจะพักการแก้ไขประเด็นมาตรฐานจริยธรรม เพราะกังวลว่าจะถูกนำมาปัดตกร่างแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา 6 ฉบับที่เสนอไปก่อนหน้านี้ หากมีประเด็นที่ฝ่ายรัฐบาลไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ดีตนมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายประเด็น 6 ฉบับนั้น หากพรรคการเมืองเห็นว่าเป็นประโยชน์ประชาชนตรงกับกับพรรคประชาชน ไม่มีเหตุผลที่ไม่เห็นด้วย เบื้องต้นคาดว่าในประเด็นดังกล่าวจะพิจารณาได้ในช่วงเดือนต.ค.นี้
เมื่อถามว่าการเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ต้องแสวงหาความร่วมมือกับพรรคร่วมรัฐบาลเพิ่มเติม เช่นพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ไม่ว่าพรรคใดก็ตาม ทั้งรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน รวมมถึงสว. หากเห็นประโยชน์กับเนื้อหาของทั้ง 6 ฉบับ เชื่อมั่นว่าจะได้รับสนับสนุนจากทุกฝ่าย
“ที่ผ่านมาพูดคุยทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน เป็นกระบวนการปกติ ทั้งนี้กรณีที่พักเรื่องแก้ไขประเด็นมาตรฐานจริยธรรมไว้ก่อน ไม่น่าจะเป็นเหตุผลอื่นใดที่ทุกฝ่ายจะไม่เห็นชอบกับร่างแก้ไข 6 ฉบับที่เสนอเพราะเป็นประโยชน์กับประชาชน อย่างไรก็ดีการพูดคุยดังกล่าว ได้คุยกับทั้งระดับพรรค และสส. เบื้องต้นยังไม่เห็นสัญญาณในเชิงไม่เห็นด้วย แต่เป็นเรื่องปกติที่อาจมีเปลี่ยนความเห็นบ้าง ดังนั้นขอให้ติดตามการประชุม ทั้งนี้ตนพูดแทนพรรคอื่นไม่ได้ แต่ขณะนี้ไม่เห็นสัญญาณเชิงไม่เห็นด้วย” นายณัฐพงษ์ กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีที่วิปรัฐบาลขอเลื่อนการพิจารณารายงานของคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ตนมองว่าไม่มีเหตุผลที่จะถอยเนื้อหาดังกล่าว เพราะรายงานของกรรมาธิการนั้นไม่มีผลผูกมัดใดๆ ทั้งนี้ในประเด็นนิรโทษกรรมนั้น พรรคประชาชนมีแนวทางว่า ไม่ว่าเป็นคดีใดต้องได้รับการเยียวยา ได้รับความยุติธรรม และเป็นธรรม.