‘พท.’เบรก ‘แก้กฎหมาย’ มีแต่ ‘ได้’ ไม่มี ‘เสีย’

‘พท.’เบรก ‘แก้กฎหมาย’ มีแต่ ‘ได้’ ไม่มี ‘เสีย’

เกมแก้รัฐธรรมนูญ รวมถึง ดัน ร่าง กม.นิรโทษกรรม ต่อสภาฯ ของ "เพื่อไทย" ยามนี้ถูกเบรก เพราะตระหนักในสัญญาณพิเศษ ที่ส่งผ่านมาจาก "สว." การเล่นบทไม่ "ปะทะ" องค์รวมแล้วดูเป็นผลดี ไม่มีเสีย ต่อ "เพื่อไทย-รัฐบาลอิ๊งค์"

KEY

POINTS

Key Pont

  • ความพยายามรื้อ "รัฐธรรมนูญ" ของพรรคเพื่อไทย ที่เปิดดีลกับ  "พรรคประชาชน" ต้องสะดุด หลัง "วุฒิสภา" เปิดเกมขวาง หลังพลิกลำ ฟื้นเกณฑ์ประชามติ ด้วย เสียงข้างมาก 2 ชั้น
  • สัญญาณนี้ บ่งบอกถึง "ฝ่ายค้าน" ที่แฝงอยู่ในขั้วรัฐบาล และส่อลามไปถึง การทำร่างกฎหมายสำคัญ ที่มีผลต่อการเมือง เช่น "กฎหมายนิรโทษกรรม"
  • "เพื่อไทย" ตระหนักดีว่า สถานการณ์นี้ไม่ควร "ปะทะ" ส่งผลให้ต้องชะลอ ถก รายงาน กมธ.นิรโทษกรรม ของสภาฯ ที่เป็นสารตั้งต้น ของ "กฎหมายนิรโทษกรรม" ออกไป
  • งานนี้ ดูตามเนื้อผ้า เกมเบรกแก้กฎหมาย "เพื่อไทย" ไม่มีเสีย เพราะต่อให้ไม่แก้รัฐธรรมนูญหรือ เข็น "พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" ทั้งที่มีเสียงในสภาฯ เป็นต่อ พ่วงแรงหนุนจาก "พรรคประชาชน" พวกเขายังถือไพ่เหนือกว่าใครๆ ในสมรภูมิการเมือง
  • และอาจเป็นสิ่งที่ดีในห้วงนี้ เพื่อโอบอุ้ม รัฐบาล - แพทองธาร ชินวัตร ให้อยู่อย่างเข้มแข็ง และทำงานเรียกเรตติ้ง สะสมคะแนนนิยมการเมืองไปยาวๆ

กรณีที่ “พรรคเพื่อไทย” ฐานะแกนนำรัฐบาล แตะเบรกเกมแก้กฎหมาย ทั้ง “ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม รายมาตรา” กรณีที่เกี่ยวกับมาตรฐานจริยธรรม และคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

รวมไปถึง “รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม” ของกรรมาธิการฯ ที่มี “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นประธาน กมธ. ซึ่งรายงานนี้ถือเป็น “สารตั้งต้น” ที่นำไปสู่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในสภาผู้แทนราษฎร

ถือเป็นความตระหนักใน “สัญญาณ” พิเศษ ที่ส่งผ่านออกมาจากกลไกนิติบัญญัติ ที่ยังมีผู้เห็นต่าง และหากดันทุรังต่อไป อาจกระทบต่อความมั่นคงของ “รัฐบาล-แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ที่ทุกองคาพยพของ “เพื่อไทย” ต้องร่วมกันปกป้อง ดุจไข่ในหิน

‘พท.’เบรก ‘แก้กฎหมาย’ มีแต่ ‘ได้’ ไม่มี ‘เสีย’

สำหรับสัญญาณพิเศษ ที่ว่านั้นคือ กลไกของ “วุฒิสภา” ที่มาจากการเลือกกันเอง และดูเหมือนจะไร้จุดยึดโยงกับฝ่ายผู้มีอำนาจสูงสุดใน “ฟากบริหาร” 

ทว่า การโหวตด้วยมติข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง ให้ “ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ” กลับไปใช้เกณฑ์ผ่านประชามติ ในประเด็น “แก้รัฐธรรมนูญ” ด้วยเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น ทั้ง “ชั้นผู้ออกมาใช้สิทธิต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ” และ “ชั้นของเสียงเห็นชอบต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ”

เท่ากับว่า ความปรารถนา “ขวางการรื้อรัฐธรรมนูญ 2560” ที่เป็น “มรดกของ คสช.” ยังแฝงในฝั่งของผู้มีอำนาจ และใน "บางพรรคการเมือง”

ดังนั้น เมื่อกลไกแก้รัฐธรรมนูญ ที่ต้องอาศัยเสียงเห็นพ้องต้องกันของ “สส.- สว.” ตามเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนด สว.ต้องลงมติรับหลักการ ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 67 เสียง ของ สว.ที่มี 200 คน จึงเป็นสัญญาณที่สื่อให้เห็นถึง “เกมยากที่จะเข็นแก้กฎหมายแม่บท” ให้สำเร็จได้

สัญญาณขวางที่ถูกส่งมา ไม่กระทบเฉพาะ “แก้รัฐธรรมนูญ” เท่านั้น ยังลามไปถึง “กฎหมายนิรโทษกรรม” ที่ “พรรคเพื่อไทย” เตรียมเสนอต่อสภา

แน่นอนว่า หาก “บางพรรคการเมือง” ที่คุมเสียงข้างมากในวุฒิสภา ไม่เอาด้วย เป็นความเสี่ยงที่ “กฎหมายสำคัญ” ที่มีนัยทางการเมือง อาจถูกเตะตัดขาได้ในชั้นของ “วุฒิสภา”

จะว่าไปแล้ว “เกมแก้กฎหมาย” ของ “พรรคเพื่อไทย” หากยืนยันเดินหน้า ย่อมผ่านไปได้ เพราะดูตามตัวเลขคณิตศาสตร์ในสภาฯ พรรคเพื่อไทยกุมเสียง สส.ฝั่งรัฐบาลสูงสุด 142 เสียง และยังมีเสียงสนับสนุนจาก “กลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า-พรรคเล็ก” อีก 25 เสียง นอกจากนั้นยังมีแรงหนุนจาก “พรรคประชาชน” ฐานะฝ่ายค้านที่มี สส.มากสุดในสภาฯ 143 คน

‘พท.’เบรก ‘แก้กฎหมาย’ มีแต่ ‘ได้’ ไม่มี ‘เสีย’

เหตุที่ “พรรคประชาชน” สนับสนุนนั้น มาจากประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ-ตรากฎหมายนิรโทษกรรม คือ กฎหมายการเมืองที่ถูกวางให้เป็นตัวช่วยเรียกเรตติ้งในการเลือกตั้งที่ผ่านมา

ดังนั้น กรณีที่ “พรรคเพื่อไทย” เลือกแนวทางเล่นแบบไม่ปะทะ กับ “สว.” หรือ “บางพรรคที่ร่วมรัฐบาล” ใช่ว่าจะเป็นผลเสียในทางการเมืองเสมอไป เพราะรู้อยู่แล้วว่า หากเลือกทางนี้ พวกเขายังเป็นผู้ถือไพ่ที่เหนือกว่าใคร ทั้งไพ่ที่รักษาความมั่นคงของรัฐบาล และไพ่ที่ได้เปรียบ “คู่แข่งทางการเมือง​" โดยเฉพาะ “พรรคประชาชน”

กับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลัง “พ.ร.บ.ประชามติฉบับแก้ไข” ซึ่งเป็นบันไดก้าวแรกของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดย “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ที่ สว.ฟื้นปม “เสียงข้างมาก 2 ชั้น” ล็อกการแก้รัฐธรรมนูญไว้ ที่พอประเมินผลได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย “ประชาชน” ของ “ประชาชน” นั้น มีไม่ทันใช้ในการเลือกตั้งปี 2570

‘พท.’เบรก ‘แก้กฎหมาย’ มีแต่ ‘ได้’ ไม่มี ‘เสีย’

ล่าสุด มีความพยายามหาทางให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็ว โดยแกนนำพรรคประชาชน ทั้ง “ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ - พริษฐ์ วัชรสินธุ” เผยถึงแนวทางว่า ลดจำนวนทำประชามติ จาก 3 ครั้ง คือ ก่อนแก้มาตรา 256 - หลังแก้มาตรา 256 เปิดทางให้มี สสร. - หลังสสร. ทำร่างฉบับใหม่เสร็จ ให้เหลือ 2 ครั้ง โดยตัดครั้งก่อนแก้มาตรา 256 ออกไป 

พร้อมทั้งขยายการกดดันผ่านเครือข่ายประชาชน ในนามกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ หรือ Con for All ที่เตรียมยื่นหนังสือเร่งรัดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต่อ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา วันนี้ (3 ต.ค.67)​ เพื่อให้บรรจุวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ให้รัฐสภาพิจารณา หลังจากที่เมื่อต้นปี “พรรคเพื่อไทย-พรรคประชาชน” ยื่นเนื้อหาไว้แล้ว

‘พท.’เบรก ‘แก้กฎหมาย’ มีแต่ ‘ได้’ ไม่มี ‘เสีย’

ครั้งนั้นเป็นการใช้เหลี่ยมเล่ห์ทางกฎหมาย เพื่อหาทางไปสู่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ให้ตีความเกี่ยวกับจำนวนครั้งที่ทำประชามติ ด้วยเหตุที่ “ประธานรัฐสภา” ไม่บรรจุเรื่องในวาระประชุมให้

แม้ว่า “รัฐสภา” จะลงมติให้ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ แต่คำวินิจฉัยเมื่อ เม.ย.2567 กลับได้ผลลัพธ์ คือ ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องด้วยมติเอกฉันท์ และแปลความ ย้ำคำวินิจฉัย ที่ 4/2564 เมื่อ 11 มี.ค.64 ที่ว่า “การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ต้องถามความเห็นชอบประชาชนเสียก่อน

ดังนั้น ความพยายามเร่งเกมของ “พรรคประชาชน-กลุ่มประชาชนฯ” สุดท้ายอาจวนกลับไปจุดเดิม คือ “รอทำประชามติ” ขณะที่ “พรรคเพื่อไทย” แม้เกมแก้กฎหมาย จะไม่เร่ง พวกเขาไม่ได้เสียหายอะไร แถมเป็นผลดีด้วยซ้ำ กับ เสถียรภาพของรัฐบาล และอยู่ได้ยาวนาน เพื่อปั่นเรตติ้ง - โกยคะแนนนิยม จากผลงานรัฐบาล

ส่วนกติกาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งแฝงใน “รัฐธรรมนูญ 2560” แม้ยังมีฤทธิ์มีเดช ยี่ห้อ “เพื่อไทย” ก็ไม่เคยกลัว.

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์