'อธิบดีขนส่งทางบก' สั่งตั้ง กก.ชุดพิเศษ ขีดเส้น2สัปดาห์รู้ผล เหตุ รถบัสมรณะ
“อธิบดีกรมการขนส่งทางบก” เผย ตั้งกรรมการชุดพิเศษ สอบหลักเกณฑ์ปฏิบัติของจนท. ตรวจสภาพรถ-ถังแก๊ส ถูกต้องหรือไม่ ขีดเส้น 2 สัปดาห์
ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณากรณีเหตุไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษา ของ โรงเรียนในจ.อุทัยธานี เกิดเพลิงไหม้ เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งได้เชิญ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และคณะ เข้าชี้แจง
โดยนายชีพ น้อมเศียร ผู้อำนวยการสำนักวิศวกรรมยานยนต์ ให้ข้อมูลว่า จากการตรวจสภาพรถ พบว่า ประตูด้านหลังฝั่งขวา คันโยกที่ใช้เปิดปิดภายในตัวรถยังใช้งานได้ปกติ และรถที่เกิดเหตุเป็นรถโดยสารชั้นเดียว พื้นที่ด้านล่างใช้เก็บสัมภาระ นอกจากนี้ ยังพบว่าล้อรถไม่ได้มีการระเบิด ซึ่งพบถังก๊าซ 11 ถัง และมีท่อก๊าซหลุดเป็นเหตุให้เกิดก๊าซรั่ว รวมถึงพบว่าเพลาล้อหน้าหักครูดกับถนน ซึ่งอยู่ระหว่างกรมการขนส่งทางบกกับกองพิสูจน์หลักฐานร่วมกันวิเคราะห์สรุปหาสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดเหตุเพลิงไหม้ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะแถลงให้ทราบต่อไป
ทั้งนี้กมธ. ได้ซักถามในรายละเอียดในหลายประเด็น เช่นการดัดแปลงรถ การติดตั้งถังก๊าซที่เกินกว่าจดแจ้ง รวมถึงการตรวจสภาพรถว่าได้เกิดขึ้นจริงหรือไม่
โดยนายจิรุตม์ ชี้แจงว่ากระทรวงคมนาคมได้มี 5 ข้อสั่งการ ได้แก่
1.สั่งการให้เรียกรถโดยสารสาธารณะทั้งประจำทางและไม่ประจำทางที่ใช้ก๊าซ CNG มาตรวจสภาพภายใน 60 วัน จำนวน 13,426 คัน
2.ยกระดับมาตรฐานการประกอบการขนส่งรถโดยสารไม่ประจำทางทั้งระบบ ซึ่งมีความหละหลวมมากกว่ารถโดยสารประจำทาง
3.ประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการและสถานศึกษาทั่วประเทศ เพื่อขอความร่วมมือกรณีมีความจำเป็นต้องใช้รถนำนักเรียนหรือผู้สูงอายุนอกพื้นที่ ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยของรถก่อนเดินทางทุกครั้ง
4.ออกกฎหมายเพิ่มเติมเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตให้มีพนักงานประจำรถ ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการเผชิญเหตุและการช่วยเหลือผู้โดยสารในเหตุการณ์วิกฤติ
5.ออกกฎหมาย เพื่อให้ผู้ประกอบการต้องแนะนำข้อมูลและแนวทางเผชิญเหตุฉุกเฉินในการใช้บริการเหมือนบนสายการบิน
"ส่วนการติดตั้งถังก๊าซเกินกว่าที่จดทะเบียนไว้ 5 ถัง จากที่จดทะเบียนไว้ 6 ถังรวมเป็น 11 ถัง ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการของกรมและเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังตรวจสอบเรื่องนี้ เพื่อดูว่าใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ในส่วนของผู้ประกอบการบริษัทชินบุตร พบว่า ใบผู้ประกอบการขนส่ง มีรถในกำกับดูแล 2 คัน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือคันที่ประสบอุบัติเหตุ เบื้องต้นทางกรมการขนส่งได้ระงับใบประกอบอนุญาต เพราะรถอีกคันก็ไม่สามารถใช้งานได้ และอยู่ระหว่างการตรวจสอบเพราะมีลักษณะรถที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งขนส่งจังหวัดได้ออกคำสั่งให้เอารถมาตรวจ ที่จังหวัดลพบุรี เพราะมีเครื่องมือที่พร้อมกว่าซึ่งคาดว่าน่าจะนำเข้ามาตรวจประมาณ14.00 -15.00 น." นายจิรุตม์ กล่าว
ทั้งนี้ นายจิรุตม์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม อีกว่า สำหรับการตรวจสอบสภาพรถ ผู้เชี่ยวชาญจากกรมการขนส่งทางบก ได้สํารวจพื้นที่ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดจากการสอบสวนได้ ส่วนการดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกอบการ เจ้าของรถ ผู้ขับรถ วิศวกรผู้ตรวจสอบการทดสอบถังแก๊ส รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบของ จ.สิงห์บุรี ตอนนี้ได้ดำเนินการในเบื้องต้นกับผู้ที่เกี่ยวข้องไปแล้ว คือ พักใช้ใบอนุญาตของผู้ประกอบการ ในระหว่างการสอบสวน รวมถึงพักใช้ใบอนุญาต และใบรับรองของผู้จัดการด้านความปลอดภัย ที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยรายวันของบริษัทด้วย
อธิบดีกรมขนส่งทางบก กล่าวต่อว่าส่วนวิศวกรผู้รับรองการทดสอบถังแก๊ส ขณะนี้ได้ดำเนินการโยกย้ายให้ออกจากพื้นที่ มาช่วยราชการที่กรม และได้ส่งคณะกรรมการสอบสวน เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ ส่วนกรอบเวลาการสอบสวนเรื่องที่เกิดขึ้นนั้น จะเป็นไปได้ปฏิบัติตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่
"ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เรื่องวิธีปฏิบัติหลักเกณฑ์ ว่ามีใครหลวมตรงไหน และกำหนดให้รายงานภายใน 2 สัปดาห์นี้ ส่วนเรื่องการสอบสวนเป็นหน้าที่ของอาญา ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่ของกรมขนส่งทางบกจะมีส่วนรู้เห็นในการดัดแปลงรถหรือไม่ ผมยังไม่ทราบ ขอให้เป็นเรื่องของการสอบสวน" อธิบดีกรมขนส่งทางบก กล่าว.