ยื่น กกต.สอบจริยธรรม 'อิ๊งค์' ปมตั้ง 'ณัฐวุฒิ-หมอเลี้ยบ' ที่ปรึกษานายกฯ

ยื่น กกต.สอบจริยธรรม 'อิ๊งค์' ปมตั้ง 'ณัฐวุฒิ-หมอเลี้ยบ' ที่ปรึกษานายกฯ

'เรืองไกร' ยื่น กกต.สอบ 'นายกฯอิ๊งค์' ปมแต่งตั้ง 'ณัฐวุฒิ-สุรพงษ์' นั่งที่ปรึกษานายกฯ ทั้งที่เคยต้องโทษจำคุก ส่อผิดจริยธรรม-ไร้ความซื่อสัตย์สุจริต ต้องพ้นเก้าอี้หรือไม่ จี้ชงศาล รธน.ชี้ขาด เทียบปม 'เศรษฐา' ตั้ง 'พิชิต'

เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2567 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า วันนี้ตนส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รีบทำการตรวจสอบตามหน้าที่และอำนาจว่า การแต่งตั้งนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 319/2567 ลงวันที่ 16 ก.ย.2567 และการแต่งตั้งนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 348/2567 ลงวันที่ 4 ต.ค.2567 นั้น จะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่

นายเรืองไกร กล่าวว่า ตามแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 21/2567 วันที่ 14 ส.ค.2567 เป็นกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนายกรัฐมนตรี ถูกศาลวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ในฐานะนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5)

นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า กรณีของนายเศรษฐา ต้องพ้นจากตำแหน่งมีมูลเหตุจากการตั้งบุคคลเป็นรัฐมนตรี ทั้งที่บุคคลนั้นเคยถูกศาลมีคำสั่งลงโทษจำคุกมานานแล้ว กรณีดังกล่าว จึงเป็นการวินิจฉัยในทำนองที่ว่า การที่นายกรัฐมนตรีไปตั้งคนที่มีลักษณะเคยต้องโทษจำคุกดังกล่าว จึงถือว่านายกรัฐมนตรีมีความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง 

เมื่อนำแนวคำวินิจฉัยมาเทียบเคียงกับกรณีที่น.ส.แพทองธาร ออกคำสั่งแต่งตั้งนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ซึ่งเคยต้องคำพิพากษาศาลฎีกาให้ลงโทษจำคุกมาแล้ว และกรณีออกคำสั่งแต่งตั้งนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ซึ่งเคยต้องคำพิพากษาศาลฎีกาให้ลงโทษจำคุกมาแล้วเช่นกัน กรณี จึงน่าจะเข้าข่ายเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของน.ส.แพทองธาร สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) ตามมาได้ ตนจึงมีเหตุอันควรขอให้ กกต. รีบทำการตรวจสอบต่อไปโดยด่วน

นายเรืองไกร กล่าวด้วยว่า หาก กกต. ตรวจสอบแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องมีมูล ขอให้ กกต. รีบส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยโดยเร็ว ตามความในมาตรา 170 วรรคสาม พร้อมทั้งมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ตามความในมาตรา 82 วรรคสอง ด้วย