'วันนอร์' หวัง กมธ.ร่วมสส.-สว. ยึดประโยชน์ เร่งหาจุดลงตัว แก้กม.ประชามติ

'วันนอร์' หวัง กมธ.ร่วมสส.-สว. ยึดประโยชน์ เร่งหาจุดลงตัว แก้กม.ประชามติ

"ประธานรัฐสภา" เชื่อ "กมธ.ร่วม" ระหว่าง สส.-สว.​ หาจุดร่วมแก้กม.ประชามติ ปมหลักเกณฑ์ผ่านประชามติแก้รธน.ได้ แนะยึดประโยชน์ชาติ ส่วนตัวหนุนทำประชามติ รธน. 3รอบ

ที่ สปป.ลาว นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวถึง กรณีที่วุฒิสภาส่งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ให้สภาฯพิจารณาหลังจากที่แก้ไขประเด็นเกณฑ์ผ่านประชามติเรื่องแก้รัฐธรรมนูญด้วยเสียงข้างมาก 2 ชั้น ว่า  ขณะนี้เหลือเวลาเพียง 2 สัปดาห์ ก่อนปิดสมัยประชุม ดังนั้นสภาฯ ต้องเร่งพิจารณาว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขของวุฒิสภาหรือไม่ หากไม่เห็นด้วยต้องตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันสองสภาเพื่อพิจารณา ตนเห็นว่าควรได้ข้อยุติในเบื้องต้นภายในสมัยประชุมนี้ เพื่อจะใช้เวลาในช่วงสมัยประชุมในการพิจารณาหาข้อยุติ

"ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยตั้งคณะกรรมาธิการร่วม โดยเมื่อเมื่อมีการแก้ไขก็มักจะใช้กันไปก่อน เว้นแต่มีข้อขัดแย้งกันจริงๆ ซึ่งแล้วแต่วิปรัฐบาลจะเลือกใช้วิธีใด เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน แต่สิ่งสำคัญกฎหมายการทำประชามติจะต้องมี และทางออกที่ดีที่สุด เพื่อประโยชน์ของประชาชนควรจะต้องมีการประนีประนอม แทนที่จะไปนับหนึ่งใหม่ แต่ขณะเดียวกันจะต้องมีความสมดุลในการใช้อำนาจของแต่ละฝ่ายด้วย" นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว

ประธานรัฐสภา กล่าวโดยเชื่อว่าการแก้ไขเรื่องดังกล่าวนั้นไม่ยาก หากคุยกันบนความปรารถนาดี และความหวังดีต่อประเทศชาติ   แต่ละฝ่ายควรถอยคนละก้าวสองก้าวเพื่อประโยชน์สูงสุดที่จะได้กับประชาชน ดังนั้นการเสียเวลาคุยกัน เพื่อให้จบโดยมีเป้าหมายคือทำประชามติให้ได้แก้รัฐธรรมนูญให้ได้ดีกว่า

เมื่อถามว่าขณะนี้วิปรัฐบาลยืนยันที่จะให้กลับไปใช้ร่างของสภาผู้แทนราษฎร นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ตนเดาไม่ถูกเนื่องจากวิปรัฐบาลจะต้องฟังเสียงของแต่ละพรรคการเมืองด้วย

เมื่อถามถึงข้อถกเถียงว่าจะต้องทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ 2 รอบหรือ 3 รอบ นั้น นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ยังไม่มีข้อยุติและไม่มีใครบอกได้ว่า จะต้องทำกี่รอบเพราะเคยถามไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้วแต่ศาลไม่ตอบ แต่ขอให้ไปดูคำวินิจฉัยก่อนหน้านี้ ว่าชัดเจนแล้ว จึงทำให้ เกิดการตีความ ที่แตกต่างว่า ต้องทำกี่รอบ โดยส่วนตัวมองว่าทำ 3 รอบ ไม่มีความเสี่ยงเพราะหากทำ 2 รอบเสร็จแล้วหากมีคนไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ถึงขณะนั้นไม่ทราบว่าศาลจะตีความอย่างไร.