ดึงเกม ‘นิรโทษกรรม’ แก้สมการ แตกหัก ‘พรรคร่วม'

ดึงเกม ‘นิรโทษกรรม’ แก้สมการ แตกหัก ‘พรรคร่วม'

สัปดาห์นี้ สภาฯ จะยังไม่พิจารณารายงานศึกษาการตรากฎหมายยนิรโทษกรรม ที่กมธ.เสนอไว้ ถือเป็นการเลื่อนพิจารณาครั้งที่3 แล้ว ซึ่ง ฝั่งหนุนนิรโทษกรรมคาใจมาก ต่อเกมยื้อรอบนี้ พร้อมตั้งคำถาม "ได้ประโยชน์อะไร"

KEY

POINTS

Key Point :

  • รัฐบาล-เพื่อไทย เลือกดึง การศึกษาแนวทางการตรากฎหมายนิรโทษกรรม ไว้ ยังไม่ให้สภาฯ พิจารณา รวมแล้ว3ครั้ง
  • ทำให้ฝั่งหนุน "นิรโทษกรรม" คาใจเป็นอย่างยิ่ง พร้อมตั้งคำถามที่ไร้คำตอบว่า "ได้ประโยชน์อะไร"
  • แม้ "ชูศักดิ์ ศิรินิล" จะชี้แจงว่า เพื่อหารือทุกฝ่ายให้ตกผลึก เพราะเข้าใจว่ามีร่างนิรโทษกรรมหลายฉบับในวาระ
  • แต่ความคาใจยังไม่คลายปม เพราะ รายงานนิรโทษกรรม ตามสาระไม่เกี่ยวข้องกับการตรากฎหมายและไม่ใช่หลักการันตีว่า สภาฯ จะเลือกตรากฎหมายนิรโทษกรรมแบบใด
  • ขณะนี้ตามวาระ มีร่างนิรโทษกรรม บรรจุ 4 ฉบับ แบ่งชัดๆ คือ เหมารวม ม.112 ของพรรคส้ม-ประชาชน และ ไม่รวม ม.112 ของ "พรรคร่วมรัฐบาล"
  • หาก "เพื่อไทย" ที่เปิดดีลกับ "พรรคส้ม" ไว้ เอาตามแนว "รวมม.112" จะขัดแย้งกับ "พรรคร่วมรัฐบาล" ที่ไม่เอา ม.112 แน่
  • ดังนั้นการยื้อรายงานศึกษา ที่เป็นสารตั้งต้นไว้ก่อน ก็เพื่อชะลอเกมตรากฎหมายนิรโทษกรม และขอเวลาแก้สมการ ความแตกหักในรัฐบาล

วาระที่ “รัฐบาล” ยืนยันชะลอการพิจารณารายงานศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ของกรรมาธิการวิสามัญ ที่มี “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นประธาน นับเป็นครั้งที่ 3 แล้วนั้น

มีนัยสะท้อนว่า ไม่ต้องการสร้างประเด็นที่มีผลกระทบต่อรัฐบาล และนายกฯแพทองธาร ชินวัตร ซึ่งทำหน้าที่ได้ไม่ถึงเดือน

แม้ตัวรายงานที่ กมธ.นิรโทษกรรมเสนอต่อสภาฯ จะไม่ใช่ร่างกฎหมายที่พิจารณาได้ตามกระบวนการ แต่มีความสำคัญต่อการ “เดินหน้า” ในกระบวนการตรากฎหมาย ที่ยามนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีแง่ “การล้างผิดคดีทางการเมือง” หลากหลายมุมมอง และส่อเป็นหัวเชื้อของ “ความขัดแย้ง” ทางการเมืองรอบใหม่

เมื่อต้นสัปดาห์ “ชูศักดิ์” ฐานะตัวแทนรัฐบาล ที่นั่งอยู่ในคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ย้ำถึงเหตุผลที่ยังไม่ถึงเวลาที่ “สภาฯ” จะพิจารณารายงานของกรรมาธิการฯ ว่า “จำเป็นต้องหารือร่วมกันกับทุกฝ่ายให้ตกผลึก เพราะเข้าใจว่า ขณะนี้มีร่างกฎหมายที่พรรคการเมืองต่างๆ เสนอต่อสภาฯไว้ จึงต้องหารือร่วมกัน”

ดึงเกม ‘นิรโทษกรรม’ แก้สมการ แตกหัก ‘พรรคร่วม\'

เป็นการตอกย้ำถึงสถานการณ์ภายใน “รัฐบาล” ที่ขณะนี้มีหลายประเด็น “เห็นไม่ตรงกัน 100%” โดยเฉพาะงานสภาฯ ที่เป็นวาระการเมือง ที่ “พรรคเพื่อไทย” มักเดินหน้า แบบไม่ปรึกษาพรรคร่วมรัฐบาล แถมยังใช้เกมหลังบ้าน เปิดดีลกับ “พรรคประชาชน” มากกว่า กอดคอคุย “พรรคร่วมรัฐบาล”

กับการชะลอถกรายงานของกรรมาธิการนิรโทษกรรม แม้ยังไม่มีแพลนว่า จะนัดหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลคุยในเนื้อหาเมื่อใด ทำให้ถูกตั้งข้อสงสัยจาก “พรรคฝ่ายค้าน” แล้วว่า เป็นการเล่นเกมชิงเหลี่ยม ไม่จริงใจ และทำไปเพื่อยื้อเวลาแก้ปัญหาความเห็นต่างทางการเมือง

เมื่อตรวจสอบประเด็นร่างกฎหมายที่มีสาระเกี่ยวกับการล้างผิดให้กับผู้ที่ต้องคดีทางการเมือง ปัจจุบันพบว่า ถูกบรรจุไว้ในวาระของสภาฯ แล้วทั้งสิ้น 4 ฉบับ คือ 

1.ฉบับของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ชื่อว่า “ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข” มี วิชัย สุดสวาสดิ์ สส.ชุมพร คนสนิทของ “ชุมพล จุลใส” หรือ ลูกหมี แกนนำ กปปส. ซึ่งมีเป้าประสงค์ล้างผิดให้กับ “แกนนำ กปปส.”

2.ฉบับของกลุ่มพรรคเล็ก 1 เสียง ประกอบด้วย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคใหม่ พรรคพลังสังคมใหม่ พรรคท้องที่ไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ ชื่อว่า “ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข”

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาชื่อที่สนับสนุนเสนอร่างฉบับนี้ พบว่า มี สส.ของพรรคประชาธิปัตย์ เช่น บัญญัติ บรรทัดฐาน รวมถึง สส.พรรคประชาชาติ เช่น ซูการ์โน มะทา เลขาธิการพรรคร่วมด้วย

3.ฉบับของพรรคก้าวไกล (เสนอต่อสภาฯ ก่อนพรรคถูกยุบ) มี “ชัยธวัช ตุลาธน” เป็นผู้นำยื่น ชื่อว่า ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง

ดึงเกม ‘นิรโทษกรรม’ แก้สมการ แตกหัก ‘พรรคร่วม\'

และ 4.ฉบับของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 36,723 คน นำโดย “พูนสุข พูนสุขเจริญ” ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ฐานะเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ที่ชื่อว่า “ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน”

สาระสำคัญของ “ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม” ทั้ง 4 ฉบับ มีทั้งจุดที่เห็นตรงกัน และจุดต่างกัน

สำหรับประเด็นที่ตรงกันคือ ให้ตั้งกรรมการกลางเพื่อกลั่นกรองคดีที่สมควรล้างผิด ส่วนห้วงเวลาของการนิรโทษกรรม ที่ให้ตั้งต้นที่การชุมนุมตั้งแต่ปี 2549 แต่ระยะเวลาล้างผิดที่สิ้นสุดนั้น ยังแตกต่างกันคือ “ฉบับพรรครวมไทยสร้างชาติ-กลุ่มพรรคเล็ก” เห็นว่าควรสิ้นสุด 2565 ขณะที่ “ฉบับพรรคส้ม-ประชาชน” ให้กินความถึงวันที่ร่าง พ.ร.บ.ใช้บังคับ

ลักษณะคดีของการนิรโทษกรรม แม้ 4 ฉบับจะกินความถึงคดีทางการเมือง แต่จุดต่างคือ “ฉบับรวมไทยสร้างชาติ-กลุ่มพรรคเล็ก” ไม่ขอให้รวมการกระทำผิดมาตรา 112

ขณะที่ “พรรคส้ม-ประชาชน” ต้องการให้รวมคดีมาตรา 112 แต่ไม่ล้างผิดให้กับ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง ทั้งฐานะผู้สั่งการ หรือผู้ปฏิบัติการที่กระทำเกินสมควรแก่เหตุ คดีความผิดประมวลกฎหมายอาญาที่กระทำผิดต่อชีวิต และผิดมาตรา 113 รวมถึง บุคคลที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ และผู้สนับสนุนในความผิด

ดึงเกม ‘นิรโทษกรรม’ แก้สมการ แตกหัก ‘พรรคร่วม\'

ทั้งนี้ ในร่างกฎหมายที่เสนอโดย “ประชาชน” ยังกำหนดชัด ถึงผลของกฎหมายเพื่อล้างผิดใน 6 กรณีสำคัญ คือ

1.ผิดประกาศ และคำสั่งของ คสช.

2.คดีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ตามประกาศ คสช. ที่ 37/57 และ 38/57 

3.คดีความผิดมาตรา 112 

4.คดีผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 5.คดีผิด พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ.2559

และ 6.คดีตามฐานความผิดที่เกี่ยวโยงกับ 1-5

อย่างไรก็ดี รายละเอียดที่เห็นต่างกันนั้น หากคะเนเกณฑ์การสนับสนุน เชื่อแน่ว่า ฉบับที่เหมาล้างผิดมาตรา 112 นั้น ส่อว่าจะไม่รับหลักการ เพราะพรรคร่วมรัฐบาล เช่น “พรรคภูมิใจไทย-พรรคชาติไทยพัฒนา” ประกาศชัดว่า ไม่สนับสนุน รวมถึงพรรคพลังประชารัฐ

ดึงเกม ‘นิรโทษกรรม’ แก้สมการ แตกหัก ‘พรรคร่วม\'

ดังนั้น ต่อให้มติของสภาฯ จะเห็นด้วยกับรายงานของ “กมธ.นิรโทษกรรม” ที่มีข้อเสนอต่อการล้างผิดมาตรา 112 หลากหลายทางเลือก แต่เป็นคนละเรื่องกับการ “ตรากฎหมาย” 

หาก “เพื่อไทย” ยืนยันตามดีลที่ทำไว้กับ “พรรคประชาชน” และเลือกใช้เป็นทางเพื่อดึงคะแนนนิยม อาจได้เห็นภาพความแตกหักของ “พรรคร่วมรัฐบาล” ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น