'นิกร'เชื่อ กมธ.ร่วม ถกประชามติ ทันก่อนปิดสมัยประชุม เหตุมีปัญหามาตราเดียว

'นิกร'เชื่อ กมธ.ร่วม ถกประชามติ ทันก่อนปิดสมัยประชุม เหตุมีปัญหามาตราเดียว

“นิกร”เชื่อ กมธ.ร่วมถกประชามติ ทันก่อนปิดสมัยประชุม หากตกลงกันได้ เหตุมีปัญหาแค่มาตราเดียว ชี้หากสส.ยืนตามร่างเดิม อาจมีปัญหาระหว่างสองสภา การแก้รธน.จะยากขึ้น เตรียมเสนอ ทางออกสายกลาง

เมื่อวันที่ 12 ต.ค. นายนิกร จำนง กรรมาธิการ(กมธ.)ร่วมกัน เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ…จาก พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีที่วุฒิสภา ยังไม่ส่งชื่อสว.ร่วม เป็นกมธ.ฯ อาจทำให้การพิจารณาล่าช้าว่า เนื่องจากทางวุฒิสภางดการประชุมทำให้เกิดความล่าช้าเพราะในวันที่ 30 ตุลาคมก็จะปิดสมัยประชุมแล้ว ทั้งนี้ความเห็นที่มีการเสนอให้มีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ แต่เมื่อพิจารณาดูเหตุผลแล้วถ้าจะเปิดวิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ก็คงไม่เพียงพอ และถึงจะเปิดสมัยวิสามัญได้เวลาก็ไม่พอทำประชามติทันในการเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือนกุมภาพันธ์ 68 เมื่อไม่ทันก็กลายเป็นปลายเปิด ไม่มีธง ไม่มีเป้าหมาย ซึ่งคณะรัฐมนตรี(ครม.)จะต้องไปกำหนดวันทำประชามติเอาเอง

นายนิกร กล่าวต่อว่า เมื่อไม่ทันแล้วในทางการเมืองก็เหมือนเรื่องปล่อยจอย ปล่อยเลยตามเลย เพราะไม่มีธง ไม่มีเป้าหมาย ก็จะเกิดเหตุการณ์ว่าทางสภาผู้แทนราษฎร อาจจะรอให้ครบ 6 เดือน และที่จะเจรจาต่อรองกันก็ไม่มีเหตุต้องเจรจา เพราะไม่ต้องรีบแล้ว หมายถึงว่าทางสภาผู้แทนราษฎรอาจจะยืนตามร่างของตัวเอง หากเป็นอย่างนั้นไม่ว่าอย่างไรก็ตามก็เชื่อว่าผ่าน แล้วให้ครม. กำหนดวันทำประชามติเอง จะทำให้ต้องจ่ายงบประมาณการจัดทำประชามติเต็ม 3 พันกว่าล้านบาท และคนออกมาใช้สิทธิ์เท่าไหร่ก็ได้อย่างไรประชามติก็ผ่านอยู่แล้ว แต่หากเป็นแบบนี้และถ้าไปถึงตรงนั้นก็แสดงว่ามีปัญหากับวุฒิสภา คล้ายๆกับมีการหักกันซึ่งจะทำให้คุยกันยากหากการทำประชามติผ่านแล้วทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพราะต้องกลับมาแก้มาตรา 256 อยู่ดี ซึ่งต้องใช้เสียงสว.สนับสนุนบางทีความขัดแย้งตรงนี้เท่ากับทั้งสองสภาหักกัน ซึ่งจะทำให้ยากมากที่จะได้เสียงสว.1 ใน 3 หากไม่ได้ตรงนี้ก็จะทำให้แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้เลย แม้แต่มาตราเดียวก็แก้ไม่ได้

“ ดังนั้นจึงเห็นว่าในขณะนี้ถ้ามีการจูนกันอย่างเร่งด่วนเพราะถือว่าเรากลับไม่ได้แล้วสัปดาห์หน้าวุฒิสภาก็ไม่มีประชุมอยู่แล้ว และหากวันที่ 21 ต.ค. ที่ประชุมวุฒิสภาเคาะชื่อ กมธ.ร่วมฯ แล้วส่งมาที่สภาผู้แทนฯในวันเดียวกัน ก็สามารถนัดประชุมได้ในวันที่ 22 ต.ค. ในส่วนที่ 23 ต.ค. แม้จะเป็นวันหยุด กมธ.ฯก็สามารถประชุมได้ วันที่ 24 ต.คงก็พิจารณาเสร็จ เพราะมีมาตราเดียวถ้าตกลงกันได้ก็จบ”นายนิกร กล่าว

เมื่อถามว่ามองว่าทางวุฒิสภาจะยื้อหรือไม่เพราะทางพรรคภูมิใจไทยก็ดูจะไปทางวุฒิสภา นายนิกร กล่าว่า ตนคิดว่าไม่มีใครยื้อเพราะไม่รู้จะยื้อไปทำไม ทำให้เสียหายกันทุกฝ่าย ไปขึงจนตึงอาจทำให้มีปัญหาระหว่าง 2 สภาได้ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้ แต่เป็นเรื่องของการไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ซึ่งจะนำไปสู่เรื่องอื่น และไม่เป็นผลดีต่อระบบนิติบัญญัติของประเทศ 

ต่อข้อถามว่ามองว่าพรรคร่วมรัฐบาลต้องพูดคุยกับพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ นายนิกร กล่าวว่า เขาจะใช้ตรงนั้นเป็นเครื่องมือเขาถือว่ากมธ.ร่วมฯ เป็นทูตสันทวไมตรี คือเป็นทูตของทุกฝ่ายแล้วที่จะคุยกัน ไม่เช่นนั้นเราจะไปคุยกันที่ไหน ก็จะกลายเป็นว่าพรรคการเมืองไปแทรกแซงโดยเฉพาะวุฒิสภาแต่ในข้อเท็จจริงอาจจะรู้จักกันอยู่แต่ทุกอย่างจะต้องจบที่กมธ.ร่วมฯ จบตรงอื่นไม่ได้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าเวลาจะเหลือน้อยตนก็ยังมีความหวังอยู่ เพราะผลเสียรออยู่ข้างหน้าเยอะมาก ไม่ใช่เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญอย่างเดียวแต่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ของทั้ง 2 สภา และจะมีปัญหาตามมาอีกมา

“หากทำอย่างไรกฎหมายประชามติก็ออกมาไม่ทันก็นำไปสู่การที่สภาผู้แทนราษฎรจะยืนตามที่เคยเสนอไว้ได้แต่ก็จะเป็นปัญหาข้างหน้าอีกเพราะกลายเป็นว่าเราไม่คุยกันเลยเท่าเรามองข้ามวุฒิสภาไปเลยก็ทำให้มีปัญหา ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าเรามองไกลๆก็น่าจะคุยกันได้ คงจะต้องถอยกันทั้ง2 ฝ่าย และในวุฒิสภาเขาไม่น่ากลัวอะไร เขายังมีดาบ 1ใน 3 อีกเล่มหนึ่ง ดังนั้นผมจะเสนอทางออกสายกลางต่อ กมธ.ร่วมฯ เพื่อให้การพิจารณาเสร็จก่อนวันที่ 30 ต.ค. เป็น 1 ใน 3 ของผู้มีสิทธิ ใช้เป็นเสียงข้างมาก โดยจะต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ หรือประมาณกว่า 18 ล้านคน ก็น่าจะมีน้ำหนักที่เป็นเสียงเกณฑ์ขั้นต่ำตามสมควร”นายนิกร กล่าว