‘ทูตสหรัฐฯ’ ชม ‘อุ๊งอิ๊งค์’ โชว์บทบาท ฟื้นสันติภาพ ใน ‘เมียนมา’

‘ทูตสหรัฐฯ’ ชม ‘อุ๊งอิ๊งค์’ โชว์บทบาท ฟื้นสันติภาพ ใน ‘เมียนมา’

“ทูตสหรัฐฯ” เข้าหารือ “แพทองธาร” ย้ำความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ที่ใกล้ชิด ทั้งด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และการจัดการอุทกภัย ร่วมผลักดันบทบาทอย่างสร้างสรรค์ของกันและกันในการส่งเสริมสันติภาพในภูมิภาค

ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายรอเบิร์ต เอฟ. โกเด็ก (Mr. Robert F. Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย (ทูตสหรัฐฯ) เข้าเยี่ยมคารวะนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้     

นายกรัฐมนตรี ชื่นชมความร่วมมือระหว่าง ไทย-สหรัฐฯ มีความก้าวหน้าครอบคลุมหลากหลายมิติ ซึ่งตนเองมุ่งมั่นเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีทั้งสองประเทศให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังแสดงความเสียใจต่อความสูญเสียจากพายุเฮลีนและพายุมิลตันในสหรัฐฯ ซึ่งไทยประสบปัญหาน้ำท่วมเช่นกันและเข้าใจถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้น 

เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ยืนยันความมุ่งมั่นเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างไทยและสหรัฐฯ ในฐานะพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของกันและกัน ซึ่งทราบมาว่า ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน นายกรัฐมนตรีได้พบหารือกับนายแอนโทนี เจ. บลิงเกน (Antony J. Blinken) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา โดยพูดคุยกันในหลายประเด็น สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างไทยและสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายต่างหารือถึงความร่วมมือไทยและสหรัฐฯ ในประเด็นต่างๆ ดังนี้

- ด้านการบริหารจัดการอุทกภัย  นายกรัฐมนตรีขอบคุณสหรัฐฯ สำหรับการช่วยเหลือในสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ ไทยยินดีที่จะร่วมมือกับสหรัฐฯ ซึ่งมีเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญเพื่อบรรเทาความเสี่ยงจากน้ำท่วม และหวังว่าจะใช้ประโยชน์จากความร่วมมือในกรอบลุ่มแม่น้ำโขง-สหรัฐฯ เพื่อเพิ่มความร่วมมือด้านการจัดการน้ำให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ซึ่งสหรัฐฯ พร้อมทำงานร่วมกับสภากาชาดไทย การให้ความช่วยเหลือผ่านองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐฯ (USAID) การใช้เทคโนโลยีดาวเทียมในการตรวจสอบพื้นที่น้ำท่วม เพื่อช่วยจัดการอุทกภัยในประเทศไทย 

- ด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น ความมั่นคงทางไซเบอร์ และ AI โดยเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าวว่ามีหลายบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ สนใจเข้ามาลงทุนและขยายการลงทุนในไทย โดยจะมีการนำคณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน มาเยือนประเทศไทย เพื่อเป็นกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความตั้งใจในการพัฒนาการศึกษา และการส่งเสริมให้เยาวชนไทยมีโอกาสได้รับทุน หรือเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยน เพื่อสนับสนุนให้นักเรียนไทยได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ เพื่อให้เยาวชนไทยได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและพัฒนาทักษะในสาขาที่ไทยต้องการ ซึ่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ พร้อมสนับสนุน โดยปัจจุบันมีโครงการที่ได้เริ่มดำเนินการอยู่แล้วในการเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยไทยและสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนทุนการศึกษา รวมทั้ง ยังมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะดิจิทัลในประเทศไทยจากบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ อย่าง Apple และ Microsoft อีกด้วย

ระหว่างการพูดคุย เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ยังแสดงความชื่นชมนายกรัฐมนตรีที่มีบทบาทที่แข็งขันในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยเฉพาะการฟื้นฟูสันติภาพและเสถียรภาพมากขึ้นในเมียนมา สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของสหรัฐฯ และพร้อมทำงานร่วมกับไทยในการส่งเสริมสันติภาพในเมียนมา รวมถึงประเด็นอื่นๆ เช่น ทะเลจีนใต้ และความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมทั้งยืนยันที่จะสนับสนุนบทบาทที่สร้างสรรค์ของกันและกัน และพร้อมที่จะทำงานร่วมกัน เพื่อส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคและระดับโลก