เขากระโดง... ละครโรงใหญ่ คนไทยหลงเกม?

เขากระโดง... ละครโรงใหญ่  คนไทยหลงเกม?

มหากาพย์ "ที่ดินเขากระโดง" ศาล - องค์กรอิสระ ชี้ขาดมาแล้ว ครอบคลุม 5,083 ไร่ ถ้าหน่วยงานรัฐแกล้งตาใสกันต่อไป ก็จะต้องไปเริ่มฟ้องกันใหม่ หรือไม่ก็ต้องยอมรับมติของกรมที่ดิน ส่วนที่ฟ้องต่อสู้กันมานานนับสิบปี ก็เป็นอันไร้ผล เรากำลังดู “ละครโรงใหญ่” อยู่หรือไม่

KEY

POINTS

  • องค์กรอิสระ และศาล ชี้ขาดทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายมาแล้วว่า ที่ดิน 5,083 ไร่ บริเวณเขากระโดง คือที่ดินรถไฟ

  • ส่งนอมินีที่ครอบครองที่ดินในเขตเขากระโดง ยื่นฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อให้ออกโฉนดให้ ผลคือแพ้ทุกศาล โดยมีคำพิพากษาศาลฎีกา ยืนยันว่าที่ดิน 5,083 ไร่ คือ “ที่รถไฟ”

  •  

    มติของกรมที่ดิน กลายเป็นคำสั่งทางปกครองใหม่ ที่ไปลบล้าง หรือขัดกับคำพิพากษาของศาลเดิม โดยมีช่องทางตามกฎหมาย มาตรา 61 ของประมวลกฎหมายที่ดินรองรับด้วย หนำซ้ำมตินี้อาจถือได้ว่า “เป็นที่สุด” เปลี่ยนแปลงไม่ได้ มติของกรมที่ดิน กลายเป็นคำสั่งทางปกครองใหม่ที่ไปลบล้าง หมายถึงกรมที่ดินเองก็ไม่มีหน้าที่ต้องทำอะไรต่อ

     

“มหากาพย์ที่ดินเขากระโดง” ผมขอสรุปให้ฟังง่ายๆ ให้เข้าใจง่ายๆ กับข้อสังเกตใหม่ของว่า เรากำลังดู “ละครโรงใหญ่” ที่เขาแสดงให้คนไทยชมอย่างตื่นตาตื่นใจอยู่หรือเปล่า

ก่อนอื่นต้องย้อนกลับไปที่ “ความจริงมีหนึ่งเดียว” นั่นก็คือ เขากระโดง = ที่ดินรถไฟ

เหตุผล...

องค์กรอิสระ และศาล ชี้ขาดทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายมาแล้วว่า ที่ดิน 5,083 ไร่ บริเวณเขากระโดง คือที่ดินรถไฟ

องค์กรที่เคยชี้แล้ว ได้แก่ คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมการ ป.ป.ช. คำพิพากษาศาลฎีกา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คำพิพากษาศาลปกครองกลาง

ทั้งหมดนี้คือการรับรู้ของสังคม ว่ามีการชี้ขาดมาแล้ว โดยครอบคลุมที่ดินทั้งผืน 5,083 ไร่

ฝ่ายค้านในสภาชุดที่แล้ว ก็เคยเอาแผนที่มากางให้เห็นชัดๆ ว่า ที่ดินของนักการเมืองตระกูลดังบุรีรัมย์ ล้วนอยู่ในเขตเขากระโดงทั้งสิ้น

มหากาพย์เขากระโดง...

1.ส่งนอมินีที่ครอบครองที่ดินในเขตเขากระโดง ยื่นฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อให้ออกโฉนดให้

ผลคือแพ้ทุกศาล โดยมีคำพิพากษาศาลฎีกา ยืนยันว่าที่ดิน 5,083 ไร่ คือ “ที่รถไฟ”

ปัจจุบันนอมินีรายนี้ถูกการรถไฟฯ บังคับคดี ถึงขั้นส่งมอบที่ดินพิพาทคืน พร้อมวางเงินใช้หนี้จำนวน 4.8 ล้านบาทเศษเรียบร้อยแล้ว (โดยหลัก เวลารุกที่หลวง หรือที่รถไฟฯ การจะย้ายออกต้องเสียค่าขนย้าย และค่าใช้จ่ายอื่นๆ)

คำถามคือ เหตุใดการรถไฟฯจึงไม่ฟ้องขับไล่ผู้ถือครองที่ดินแปลงอื่นๆ ในเขากระโดง เหมือนกรณีนี้ และอีกหลายกรณีที่แพ้คดีกับการรถไฟฯ เนื่องจากศาลฎีกาพิพากษาครอบคลุมไปแล้วว่า ที่ดินทั้งผืน 5,083 ไร่ เป็น ที่รถไฟ

เขากระโดง... ละครโรงใหญ่  คนไทยหลงเกม?

 

2.ต่อมาเมื่อตระกูลการเมืองตระกูลหนึ่ง คุมการรถไฟฯ

ฝ่ายค้านในยุคนั้นเรียกร้องให้ การรถไฟฯ ฟ้องขับไล่ผู้ครอบครองที่ดินแปลงอื่นๆ ในเขตกระโดง โดยยึดคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นหลักฐานอ้างอิง

แต่การรถไฟฯ ยุคที่ถูกคุมโดยนักการเมืองตระกูลหนึ่ง อ้างว่า คำพิพากษาผูกพันเฉพาะคู่ความ และการรถไฟฯ ไม่ฟ้องประชาชน (ทำนองว่าเป็นคนดี เป็นหน่วยงานรัฐที่ดี) ไม่อยากมีคดีกับประชาชน

ทั้งๆ ที่จากการตรวจสอบปัญหาการรุกที่รถไฟทั่วประเทศ การรถไฟฯ ฟ้องขับไล่ทุกแห่ง ที่เห็นชัดๆ คือ ย่านมักกะสัน กลางกรุงเทพฯนี่เอง

เมื่อเจอกระแสกดดันหนักเข้า การรถไฟฯไปทำหนังสือแจ้งกรมที่ดิน ให้เพิกถอนโฉนดและหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดินแทน แต่กรมที่ดินไม่ยอมปฏิบัติตาม เกี่ยงว่าเป็นหน้าที่ของการรถไฟฯ ที่สามารถไปฟ้องบังคับคดีเองได้ (เป็นการยืนยันทางอ้อมว่า การรถไฟฯมีหน้าที่ไปฟ้องบังคับคดีกับที่ดินแปลงอื่นๆ และสามารถทำได้เลย แต่กลับไม่ทำ)

สุดท้ายการรถไฟฯ หันไปฟ้องศาลปกครองแทน เพื่อให้ศาลสั่งกรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ (ทั้งๆ ที่การรถไฟฯฟ้องขับไล่เองได้เลย)

เขากระโดง... ละครโรงใหญ่  คนไทยหลงเกม?

3.เมื่อตระกูลการเมืองตระกูลเดิม เปลี่ยนมาคุมกรมที่ดิน

ศาลปกครองสั่งให้กรมที่ดินตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 พร้อมชี้ชัดว่า คำพิพากษาศาลฎีกา อ้างยันกับผู้ครอบครองที่ดินแปลงอื่นได้

แปลไทยเป็นไทยก็คือ ข้อพิพาทเรื่องนี้จบแล้ว ให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดและหนังสือแสดงสิทธิ์ ตามคำพิพากษา

แต่กรมที่ดินตั้งคณะกรรมการขึ้นมา อาศัยช่องว่างจากมาตรา 61 ที่เปิดให้มีการยื่นหลักฐานโต้แย้งได้จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

 จู่ๆ กรมที่ดินก็อ้างว่า การรถไฟฯ ไม่มีหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับแนวเขตที่ดินของตัวเอง และแผนที่ที่ใช้ ไม่ใช่แผนที่ดั้งเดิมตอนประกาศเขตรถไฟที่เขากระโดงเมื่อร้อยกว่าปีก่อน

สรุปกรมที่ดินจึงไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ใครเลย (ข่าวว่าเป็นเอกสารสิทธิ์และการถือครองที่ดินของตระกูลการเมืองชื่อดังเป็นหลัก)

อันตรายที่จะเกิดขึ้น...

1.การรถไฟฯ ก็ยังทำตาใส ไม่ฟ้องขับไล่คนที่รุกที่หลวง แต่จะไปอุทธรณ์มติของกรมที่ดิน(ที่ไม่เพิกถอน) ทำให้เสียเวลามากขึ้นไปอีก

2.ถ้าการรถไฟฯอุทธรณ์แล้ว กรมที่ดินไม่สนใจ จะทำอย่างไร

เพราะมติของกรมที่ดิน กลายเป็นคำสั่งทางปกครองใหม่ที่ไปลบล้าง หรือขัดกับคำพิพากษาของศาลเดิม โดยมีช่องทางตามกฎหมาย มาตรา 61 ของประมวลกฎหมายที่ดินรองรับด้วย หนำซ้ำมตินี้อาจถือได้ว่า “เป็นที่สุด” เปลี่ยนแปลงไม่ได้ หมายถึงกรมที่ดินเองก็ไม่มีหน้าที่ต้องทำอะไรต่อ

งานนี้ถ้าหน่วยงานรัฐแกล้งตาใสกันต่อไป ก็จะต้องไปเริ่มฟ้องกันใหม่ หรือไม่ก็ต้องยอมรับมติของกรมที่ดิน ส่วนที่ฟ้องต่อสู้กันมานานนับสิบปี และที่องค์กรต่างๆ ชี้ขาดเรื่องนี้มานานเกือบ 30 ปี ก็เป็นอันไร้ผล

คำถามทิ้งท้าย...เรากำลังดูละครโรงใหญ่กันอยู่หรือเปล่า?