เปิดสาระสำคัญ รฟท.โต้ ‘กรมที่ดิน’ ตั้ง กก.สอบสวนฯ ‘เขากระโดง’ ส่อโมฆะ

เปิดสาระสำคัญ รฟท.โต้ ‘กรมที่ดิน’ ตั้ง กก.สอบสวนฯ ‘เขากระโดง’ ส่อโมฆะ

เปิดสาระสำคัญหนังสือผู้ว่า รฟท.ส่งถึง ‘อธิบดีกรมที่ดิน’ ชี้การตั้งกรรมการสอบสวนฯ ‘เขากระโดง’ เมื่อปี 66 ไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายที่ดิน ส่อเค้า ‘โมฆะ’

ยังเป็นเงื่อนปมที่ยังอีนุงตุงนังต่อเนื่อง กรณี “ที่ดินเขากระโดง” เป็นมหากาพย์ลากยาวมาหลายสิบปี แม้ว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้วว่า ให้ดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินบริเวณ “เขากระโดง” แล้วก็ตาม แต่เมื่อปลายเดือนต.ค.ที่ผ่านมา เรื่องนี้กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง 

พลันที่กรมที่ดินมีหนังสือฉบับลงวันที่  21 ต.ค.2567 ถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำผลประโยชน์ที่ตั้งขึ้นโดยคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินตามมาตรา 61 วรรคสองของประมวลกฎหมายที่ดิน โดยหนังสือกรมที่ดินฉบับดังกล่าวสรุปได้ว่าคณะกรรมการสอบสวนเห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือรับรองสิทธิในที่ดินจนกว่า รฟท. จะมีพยานหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติว่ากรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของ รฟท.

ประเด็นนี้ถูก “พรรคประชาชน” (ปชน.) นำมาขยายความวิพากษ์วิจารณ์ในทันที โดย “จุลพงษ์ อยู่เกษ” สส.บัญชีรายชื่อ ปชน. ชี้ให้เห็นว่า หนังสือของกรมที่ดินดังกล่าว สร้างความงุนงงแก่สังคมอย่างมาก เพราะก่อนหน้านี้ศาลฎีกาเคยตัดสินไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับที่ 842-876/2560 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2560  รวมทั้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาคสาม คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 หมายเลขแดงที่ 1112/2563 ได้วินิจฉัยสอดคล้องกันว่า ที่ดินบริเวณเขากระโดงที่ยังเป็นปัญหาจนถึงปัจจุบันนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท. ปัญหาคือ ทำไมคณะกรรมการสอบสวนที่อธิบดีตั้งขึ้นชุดล่าสุดจึงมีมติดังกล่าวโดยยังไม่เชื่อว่ากรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของ รฟท. ตามที่ศาลฎีกาพิพากษาไว้

ล่าสุด มีความเคลื่อนไหวจาก “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม ในฐานะกำกับดูแล รฟท. สั่งการถึงผู้ว่า รฟท. เร่งยื่นหนังสืออุทธรณ์คำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินทับซ้อนกับที่ดินของ รฟท. บริเวณทางแยกเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ไปยังอธิบดีกรมที่ดิน ตั้งแต่วันที่ 12 พ.ย.2567 ที่ผ่านมา เพื่อคัดค้านกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนตามมาตราที่ 61 มีมติไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินทับซ้อนเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ 

“การรถไฟ ยืนยันว่า ทุกขั้นตอนของการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินเขากระโดงนั้น การรถไฟฯ ปฏิบัติตามกระบวนการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด ด้วยความโปร่งใส และเป็นธรรม” ผู้ว่า รฟท.กล่าว

เรื่องนี้ร้อนถึง กมธ.ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม  สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ ปชน.เป็นประธาน กมธ. ชงเรื่องดังกล่าวหารือในที่ประชุมเมื่อ 13 พ.ย.67ที่ผ่านมา ทว่าไม่สามารถดำเนินการได้เพราะ “องค์ประชุมไม่ครบ” วาระหารือเรื่องนี้จึง “ล่ม”

ประเด็นที่น่าสนใจในหนังสือคัดค้านกรมที่ดินของ รฟท. ระบุถึงกรณีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯของกรมที่ดิน อาจเข้าข่าย “โมฆะ” ได้ เพราะในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ระบุว่า ต้องแต่งตั้งประธานและกรรมการอย่างน้อย 5 คน แต่คำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน เมื่อ 12 พ.ค.2566 กลับแต่งตั้งเพียงแค่ 4 คน ดังนั้นคณะกรรมการสอบสวนฯ เรื่องดังกล่าว จึงไม่อาจพิจารณา หรือมีมติใดๆ ได้ และมติหรือความเห็นใดๆ ที่ออกมาจึงไม่มีผลผูกพัน และไม่อาจบังคับใช้ได้เช่นกัน

โดยในหนังสืออุทธรณ์ของ รฟท. ขยายความเรื่องนี้ไว้ว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ ของอธิบดีกรมที่ดิน เมื่อ 12 พ.ค.2566 นั้น มีการตั้งประธาน และกรรมการแค่ 4 คน ขาดกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทำให้คณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ อธิบดีกรมที่ดินจึงต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ ขึ้นมาดำเนินการใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางต่อไป และคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน และวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้

นอกจากนี้ผู้ว่า รฟท.ยังอ้างถึง พ.ร.บ.หลายฉบับ ตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และยุคหลัง 2475 ว่า รฟท.ได้รับโอนทรัพย์สินทั้งหลายจากกรมรถไฟหลวง รฟท.จึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินในทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดจนทางรถไฟสายนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี รวมทั้งที่ดิน 2 ข้างทางรถไฟในท้องที่ จ.บุรีรัมย์ ตามกฎหมาย ทั้งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ย่อมมีผลผูกพันพลเมืองในราชอาณาจักรไทยเป็นการทั่วไป 

กฎหมายดังกล่าว ยังเป็นพยานหลักฐานยืนยันการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ของที่ดิน รฟท.ตลอดจนตำแหน่งที่ตั้งซึ่งมีความชัดเจนเป็นที่ยุติแล้ว และมีความแน่นอนในนิติฐานะยิ่งกว่าเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ประเภทใด ๆ ตามประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งบัญญัติขึ้นภายหลัง

รฟท.จึงขอให้อธิบดีกรมที่ดิน และผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ ได้โปรดมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน ตามหนังสือกรมที่ดินเมื่อ 21 ต.ค.2567 ดังกล่าว และมีคำสั่งให้กรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดิน ปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลฎีกาในหลายสำนวน โดยการมีคำสั่งเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินทุกแปลงที่ออกทับซ้อนที่ดินกรรมสิทธิ์ของ รฟท. โดยให้ปฏิบัติตามข้อสังเกตของศาลปกครองกลางในคดีดังกล่าวอย่างเคร่งครัดด้วย

ในตอนท้ายหนังสือของผู้ว่า รฟท. ระบุว่า หากพิจารณาแล้วไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิต่างๆ ในที่ดินที่ออกทับซ้อนกับที่ดินของ รฟท. ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่าที่ดินในบริเวณแยกเขากระโดงเป็นที่ดินรถไฟ ขอให้แจ้งยืนยันผลการพิจารณาโดยชัดแจ้งให้ รฟท.ทราบด้วย

ดังนั้นขั้นตอนหลังจากนี้ต้องวัดใจ “อธิบดีกรมที่ดิน” หน่วยงานภายใต้ “กระทรวงมหาดไทย” ที่มี “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กุมบังเหียน ว่าจะกล้าดำเนินการตามที่ รฟท.ร้องขอหรือไม่ 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์