เจาะโมเดล ‘ธุรกิจขายตรง’ รู้ทันแชร์ลูกโซ่ หลอกลงทุน
กรณี “ดิ ไอคอน กรุ๊ป” จึงกลายเป็น “บทเรียน” ล่าสุดเกี่ยวกับ “ธุรกิจขายตรง” ที่เกิดขึ้นในไทย ที่ปัจจุบันมีกลุ่มผู้เสียหายเข้าร้องเรียน และเบื้องต้นคาดว่ามียอดความเสียหายหลายร้อยล้านบาทเข้าไปแล้ว
ประเด็น “ดิ ไอคอน กรุ๊ป” ยังคงเป็นเรื่องที่อยู่ในกระแสสนใจจากสังคม พลันที่ “บอสพอล” วรัตน์พล วรัทย์วรกุล เจ้าของ และผู้ก่อตั้งอาณาจักรธุรกิจขายตรงแห่งนี้ เดินสายเข้าพบตำรวจเพื่อให้ถ้อยคำชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น พร้อมทยอยให้สัมภาษณ์สื่อ ผ่านรายการชื่อดัง เคลียร์สารพัดปมที่ค้างคา
ที่ผ่านมา กรุงเทพธุรกิจ นำเสนอข้อมูลด้านธุรกิจ “ดิ ไอคอน กรุ๊ป” ไปแล้วว่า บริษัทแห่งนี้มีรายได้ระหว่างปีงบดุล 2562-2566 กว่า 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ “บอสพอล” นั่งเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างน้อย 6 บริษัท ส่วน “ทีมผู้บริหาร” เช่น “บอสสวย-บอสวิน-บอสหมอเอก-บอสปีเตอร์” ที่ปรากฏชื่อถูกตำรวจเรียกให้ถ้อยคำ มีธุรกิจอีกคนละ 1-3 แห่งเช่นกัน
โดยพฤติการณ์ของ “ดิ ไอคอน กรุ๊ป” ตามที่กลุ่มผู้เสียหายร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ว่า เป็นการชักชวนให้ร่วมลงทุนเพื่อซื้อสินค้าของบริษัท แบ่งเป็น 3-4 ระดับ เช่น ระดับตัวแทนจำหน่าย จ่ายเงิน 2,500 บาท ระดับหัวหน้าทีม จ่ายเงิน 25,000 บาท ตัวแทนดีลเลอร์รายใหญ่ 250,000 บาท เป็นต้น โดยเน้นการหา “ลูกข่าย” มากกว่าการ “ขายสินค้า” โดยเฉพาะเวลาฝึกอบรม เข้าคอร์สเรียน เป็นต้น แต่เบื้องต้น “บอสพอล” ยังคงยืนยันความถูกต้องในการธุรกิจ “ซื้อมา-ขายไป” แห่งนี้อยู่ เพราะบริษัทมีสินค้าจริง มีออเดอร์สั่งสินค้าจริง และขายไปจริง
ปัจจุบันยังคงมีกลุ่มผู้เสียหายทยอยเข้าให้ถ้อยคำ หอบพยานหลักฐานยื่นแก่ตำรวจ และหน่วยงานเกี่ยวข้องมากขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับโยงใยกับ “ฝ่ายการเมือง” แบบอีนุงตุงนัง เพราะปรากฏ “คลิปเสียง” ของ “บอสพอล” ซึ่งเจ้าตัวยอมรับว่าเป็นเสียงของตัวเอง คุยกับ “ชายคนหนึ่ง” ที่ถูกขุดคุ้ยว่าเป็น “นักการเมือง” เรียกรับเงินเพื่อเคลียร์สารพัดปัญหา เดือนละ 1 แสนบาท โดยชายคนนี้ “บอสพอล” ยืนยันว่าไม่ใช่นักการเมือง “ส.” ตามที่บางสื่อพยายามนำเสนอ และเรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2561 แล้ว
อย่างไรก็ดีสื่อหลายแห่งพยายามขุดคุ้ยว่า ชายคนที่ปรากฏในคลิปเสียงคุยกับ “บอสพอล” มีความเป็นไปได้ว่าเคยเป็น “กรรมาธิการ” (กมธ.) คนหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎร จนนำไปสู่ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานสภาผู้แทนราษฎร สั่งตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ยืนยันการแอบอ้างหาผลประโยชน์ต้องมีบทลงโทษ กฎหมายอาญามีอยู่แล้ว ขอให้ได้หลักฐานที่ชัดเจน
ส่วนความคืบหน้าทางคดีล่าสุด พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) แถลงว่า การสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานขณะนี้ รู้สึกพอใจ คดีมีความคืบหน้าไปมาก ส่วนการออกหมายจับต้องรอบคอบ เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาแสดงตัว และมีที่ปรึกษาด้านกฎหมายมาด้วย แต่ตำรวจไม่ได้วิตกกังวลแต่อย่างใด เร่งรวบรวมพยานหลักฐานออกมาจับ และแจ้งข้อกล่าวหาให้ทันภายในเดือนต.ค.นี้
สำหรับ “ธุรกิจขายตรง” ในปัจจุบัน มักถูกสังคมมองเชิงลบ เพราะเกิด “กรณีตัวอย่าง” ขึ้นหลายแห่งว่าเป็นการแฝง “แชร์ลูกโซ่” เข้าไปด้วย โดยธุรกิจประเภทนี้ มักเน้นสร้างเครือข่ายมากกว่าขายของ ให้ชักชวนคนมาร่วมจำนวนมาก แถมได้โบนัสเพิ่ม ถ้าชวนคนมาเป็นสมาชิก ซึ่งเป็นกลโกงที่หลอกให้ประชาชนลงทุนหรือซื้อสินค้า โดยอ้างว่า จะได้รับกำไรจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว มักจะจ่ายเงินให้จริงในระยะแรกเพื่อให้หลงเชื่อ ทั้งที่จริงแล้วไม่ได้ประกอบธุรกิจอะไรเลย เพียงแค่นำเงินของผู้ที่ลงทุนทีหลังมาจ่ายให้กับผู้ที่ลงทุนก่อนเท่านั้น แต่เมื่อถึงจุดที่ไม่สามารถหาสมาชิกใหม่ได้เพิ่มจนไม่สามารถจ่ายเงินได้ หรือได้เงินจำนวนมากเพียงพอแล้ว ก็จะหลบหนีไปสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยแชร์ลูกโซ่ มักแอบอ้างสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ในปัจจุบันยังรวมถึงการลงทุนหุ้น คริปโทเคอร์เรนซี หรือ สินทรัพย์ดิจิทัล ด้วย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์
ที่ผ่านมาในไท ยเกิดปรากฎการณ์ “แชร์ลูกโซ่” ขึ้นหลายแห่ง รวมมูลค่าความเสียหายหลายหมื่นล้านบาท เหตุการณ์ดัง ๆ เช่น “แชร์แม่ชม้อย” ช่วงทศวรรษ 2520 “แชร์ชาร์เตอร์” ช่วงปลายทศวรรษ 2520 เป็นต้น ส่วนแชร์ลูกโซ่ยุคใหม่ที่แฝงมากับการชักชวนลงทุนทำธุรกิจ เช่น แชร์ยูฟัน แชร์ธุรกิจนำเที่ยวเวลท์เอเวอร์ (ซินแสโชกุน) แชร์ Forex-3D เป็นต้น
ทั้งนี้ความแตกต่างระหว่าง “ธุรกิจขายตรง” กับ “ธุรกิจแฝงแชร์ลูกโซ่” ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เตือนไว้ ระบุว่า
1. ให้ผลตอบแทนสูงในเวลาอันสั้น ชวนเชื่อว่าจะได้ผลตอบแทนหรือกำไรจากการลงทุนจำนวนมากอย่างรวดเร็วและง่ายดาย และใช้ เทคนิค กระตุ้นด้วยรูปถ่ายคู่กับเงินก้อนโต หรือรถหรู สร้างความหวังว่าทุกคนเป็นเจ้าของได้ สะกิดต่อมความโลภ ในขณะที่ข้อเท็จจริงคือไม่มีการลงทุนใดที่ให้ผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว และพึงตระหนักว่า การลงทุนที่อาจให้ผลตอบแทนสูง ย่อมมีความเสี่ยงสูงตามมาด้วย
2. การันตีผลตอบแทน บอกว่าจะได้ผลตอบแทนสูงเท่านั้นเท่านี้เป็นตัวเลขแน่นอน เช่น 10% - 15% ต่อสัปดาห์ หรือ 40% ต่อเดือน ในขณะที่ข้อเท็จจริงคือไม่มีการลงทุนไหนที่การันตีผลตอบแทนที่แน่นอนได้ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือคริปโทก็ตาม เพราะราคาจะเคลื่อนไหวจากหลายปัจจัย
3. เร่งรัดให้ตัดสินใจ โดยมักจะเสนอสิทธิพิเศษเฉพาะในช่วงเวลานั้น เช่น วันนี้วันเดียวเท่านั้น เหลือเวลาแค่ 5 นาที หรือเหลือที่ไม่มากแล้ว เพื่อลดโอกาสในการไตร่ตรองของเรา ในขณะที่ข้อเท็จจริงคือต้องทำความเข้าใจสิ่งที่จะลงทุน ไม่ด่วนตัดสินใจลงทุนจากแรงบีบคั้น และโดยหลัก ผู้แนะนำการลงทุนต้องไม่เร่งรัดการตัดสินใจของลูกค้า เพื่อให้เวลาลูกค้าคิดให้ถี่ถ้วน
4. อ้างว่าใคร ๆ ก็ลงทุน ถ้าไม่รีบอาจพลาดตกขบวน หรืออ้างบุคคลที่มีชื่อเสียง เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในการลงทุน ถ้าไม่เข้าร่วมจะตกขบวนความร่ำรวย ในขณะที่ข้อเท็จจริงคือไม่ได้ขึ้นอยู่กับใครมาร่วมลงทุน แต่ขึ้นอยู่กับการลงทุนหรือธุรกิจนั้นมีอยู่จริงและถูกกฎหมายหรือไม่
5. ธุรกิจจับต้องไม่ได้ บอกว่าทำธุรกิจแต่ไม่เห็นสินค้า หรือชักชวนลงทุนในแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ไม่ได้รับอนุญาต อ้างธุรกิจว่าได้รับการรับรอง แต่ไม่สามารถตรวจสอบธุรกิจได้ ซึ่งควรตรวจสอบว่าเป็นธุรกิจถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หากเป็นธุรกิจ ณ ตลาดทุนหรือสินทรัพย์ดิจิทัล ตรวจสอบรายชื่อผู้ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่แอปพลิเคชั่น SEC Check First หรือเว็บไซต์ ก.ล.ต.
ดังนั้นกรณี “ดิ ไอคอน กรุ๊ป” จึงกลายเป็น “บทเรียน” ล่าสุดเกี่ยวกับ “ธุรกิจขายตรง” ที่เกิดขึ้นในไทย ที่ปัจจุบันมีกลุ่มผู้เสียหายเข้าร้องเรียน และเบื้องต้นคาดว่ามียอดความเสียหายหลายร้อยล้านบาทเข้าไปแล้ว อย่างไรก็ดีกลุ่มผู้บริหารที่ถูกแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ยังมิได้ถูกตำรวจตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการ คงต้องรอผลสรุปการสอบสวนกันต่อไป