'ณัฐพงษ์' ชำแหละปมค่าไฟแพง จี้นายกฯ แก้ไข

'ณัฐพงษ์' ชำแหละปมค่าไฟแพง จี้นายกฯ แก้ไข

'ณัฐพงษ์' นำทีม ปชน.ชำแหละค่าไฟแพง เรียกร้องนายกฯ ยุติขบวนการฟอกเขียวนายทุน จี้เลิกโครงการซื้อโรงไฟฟ้าหมุนหมุนเวียน หากเดินหน้าเตรียมสูญเงินกว่าแสนล้านในสัญญา 25 ปี ลุยเปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ให้เอกชนที่ถูกกีดกันฟ้องศาลปกครอง

เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2567 ที่อาคารอนาคตใหม่ พรรคประชาชาชน (ปชน.) นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน และนายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน แถลงข่าวหัวข้อ Policy Watch : ขบวนการค่าไฟแพง กำลังจะถูกสานต่อโดยรัฐบาลเพื่อไทย

โดยนายศุภโชติ กล่าวว่า ต้องย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติหรือ กพช. ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นเป็นประธาน มีมติรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด สำหรับปี 2565-2573 ตามแผนพลังงานชาติฉบับปี 2018 ปรับปรุงครั้งที่ 1 รวมไปถึงกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแต่ละประเภทขึ้น เช่น รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ 2.17 บาทต่อหน่วยหรือจะเป็นการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ 3.1 บาทต่อหน่วย โดยพ่วงท้ายแถมมาด้วยว่า สามารถเปลี่ยนแปลงปริมาณและเงื่อนไงการรับซื้อได้ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนอัตราที่รับซื้อได้ 

พอมติ กพช. ออกมาแบบนี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)  ก็รับลูกด้วยการออกหลักเกณฑ์จัดหาพลังงานสะอาดจำนวน 5,203 MW เมื่อวันที่ 30 กันยายนปีเดียวกัน ซึ่งหลักเกณฑ์ที่ออกมาก็ระบุไว้ว่า จะไม่มีการประมูลเรื่องราคากัน การจัดหาไฟฟ้ารอบแรกยังไม่เสร็จสิ้นยังไม่ได้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือก แต่วันที่ 9 มีนาคม 2566 กพช.ภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ก็มีมติทิ้งทวนว่า จะจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นอีกกว่า 3,600 MW แล้วก็ยังบอกว่า ยืนยันจะให้ใช้อัตราการรับซื้อเดิม 

\'ณัฐพงษ์\' ชำแหละปมค่าไฟแพง จี้นายกฯ แก้ไข

“หลังจากนั้นไม่กี่วันผลการคัดเลือกของรอบแรกจำนวน 5,203 MW ก็ประกาศออกมาว่า ใคร บริษัทไหน ได้โครงการอะไรบ้าง จำนวนเท่าไหร่ ซึ่งก็ต้องบอกว่า เกิดปัญหาเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นทั้ง ระยะเวลาการเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าร่วมค่อนข้างสั้นทำให้บางบริษัทนั้นไม่มีเวลาที่เพียงพอในการเตรียมเอกสาร รวมไปถึงที่สำคัญที่สุดก็คือ ไม่มีการออกประกาศหลักเกณฑ์มาล่วงหน้าว่า จะให้คะแนนกันอย่างไรทำให้มีคนเข้าร่วมรู้สึกว่า พวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงมีการฟ้องร้องกันมากมาย” นายศุภโชติ กล่าว

นายศุภโชติ กล่าวอีกว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง.ที่มีรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ได้มีมติปรับปรุงหลักเกณฑ์ การจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรอบเพิ่มเติมจำนวน 3,600 MW แต่ไม่แน่ใจว่า มีการปรับปรุงอย่างไรจึงทำให้มีการล็อกโควตากว่า 2,100 MW ให้กับผู้ที่เคยยื่นเข้ามาในรอบ 5,200 MW เมื่อตอนปี 2565 เท่านั้น และเมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมาทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานก็มีการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรอบเพิ่มเติมตามมติ กบง.

“กระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้นตลอด 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ถ้าทุกท่านได้มีโอกาสลองไปดูในรายละเอียดจะเห็นได้ว่า มันเป็นกระบวนการที่ทำกันมาหลายรัฐบาลและกำลังจะถูกสานต่ออีกครั้งในรัฐบาลแพทองธาร” นายศุภโชติ กล่าว

\'ณัฐพงษ์\' ชำแหละปมค่าไฟแพง จี้นายกฯ แก้ไข

นายศุภโชติ กล่าวสรุปว่า จากการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรอบนี้นั้น ได้สรุปข้อพิรุธออกมาทั้งหมดจำนวน 5 ข้อที่ทำให้พี่น้องประชาชนนั้นเสียผลประโยชน์และต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้น คือ 

ประการที่ 1  ด้วยโครงสร้างของประเทศไทยทุกการรับซื้อไฟฟ้าของรัฐทุกสัญญาสัมปทานที่รัฐให้เอกชนจะกลายเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชนทุกคน ถ้ามีการซื้อไฟแพงต้นทุนค่าไฟของพี่น้องประชาชนก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ปกติแล้วเวลาเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มจะมีการให้เอกชนแข่งกันเสนอราคา ที่ตัวเองสามารถทำได้เข้ามาให้รัฐเป็นคนตัดสิน ใครที่สามารถทำราคาได้ถูกที่สุดก็จะเป็นผู้ชนะไป เช่น รัฐกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้า จากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ 2.17 บาท ต่อหน่วย และเปิดให้เอกชนเสนอราคาว่าพวกเขาสามารถทำราคาที่ถูกกว่านี้ได้เท่าไร บางคนสามารถทำได้ที่ราคา 1.9 บาทหรือบางคนทำราคาได้ที่ 1.7 บาท ต่อหน่วยคนที่เสนอราคาได้ถูกที่สุดคือ 1.7 บาทต่อหน่วยก็จะเป็นผู้ชนะไป กลไกแบบนี้ก็จะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชนทั้งหมดลดลง แต่จากการที่รัฐรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนในรอบนี้ แต่ไม่มีประมูลแข่งขันให้ได้ราคาที่ดีที่สุดนั้นประชาชนคนจะต้องเป็นคนแบกรับการจ่ายค่าไฟแพงขึ้น 

ประเด็นที่ 2 คือ การรับซื้อไฟฟ้าทั้ง 2 รอบกำหนดเงื่อนไขกีดกัน รัฐวิสาหกิจ อย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ออกจากกระบวนการรับซื้อไปเลย ทั้งๆ ที่ กฟผ.เคยพิสูจน์ว่า ทำโครงการโซลาร์ลอยน้ำ (Floating Solar) ที่เขื่อนสิรินธร ได้ในปี พ.ศ. 2564 และมีต้นทุนไฟฟ้าอยู่ที่ 1.5 บาท/หน่วย แต่ถูกกีดกันออกจากการรับซื้อในรอบนี้คนที่สามารถผลิตของถูกได้ ท่านไม่เอา แต่รัฐบาลกลับยินดีประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ที่ 2.2 บาท/หน่วย เมื่อปี 2565 และ 2567 ก็ยังคงใช้ราคาเดิมซึ่งก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าแปลกใจว่า ในเมื่อรัฐวิสาหกิจ อย่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตสามารถทำราคาได้ถูกกว่าทำไมถึงไม่ยอมให้เข้าร่วมกระบวนการการคัดเลือกในรอบนี้

ประเด็นที่ 3 คือ การรับซื้อไฟฟ้าทั้ง 2 รอบไม่มีการประกาศหลักเกณฑ์ในการให้คะแนนที่ใช้ในการคัดเลือกก่อนเลย ตั้งแต่ในรอบปี 2565 และ รอบปี 2567 นี้ก็เช่นกันก็ยังไม่มีการประกาศหลักเกณฑ์ในการให้คะแนนให้เอกชนรู้ก่อนได้เลยว่า เขาควรจะเตรียมโครงการยังไงเพื่อที่จะทำให้ชนะการคัดเลือกเลยทำให้มีช่องโหว่ในการตัดสินและผู้ประเมินก็สามารถใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจเพื่อเข้าข้างใครก็ได้ ในรอบที่ผ่านมาปี 2565 พอกระบวนการแบบนี้ออกมาก็มีคนไม่พอใจ มีคนไปฟ้องร้องกันเหมือนที่ผมได้พูดไปจนเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2566 ศาลปกครองได้ระบุในคำแถลงว่า “กระบวนการคัดเลือกไม่มีความโปร่งใสและยุติธรรมจะเป็นเหตุให้ประเทศชาติเสียผลประโยชน์ได้

\'ณัฐพงษ์\' ชำแหละปมค่าไฟแพง จี้นายกฯ แก้ไข

และก็เป็นแบบนั้นจริงๆ ผลลัพธ์ในรอบ 2565 ก็คือมีกลุ่มทุนพลังงานกลุ่มเดียวได้รับเป็นผู้คัดเลือกสูงถึง 58% หรือ 3,000 MW จากการรับซื้อทั้งหมด 5,203 MW นี่อาจจะเป็นคำตอบของเหตุผลทั้งหมดว่า ทำไมรัฐบาลถึงไม่เปิดประมูลเรื่องราคา เวลาจะรับซื้อไฟฟ้าทำไมถึงกีดกันรัฐวิสาหกิจออกและทำไมถึงไม่มีหลักเกณฑ์ในการให้คะแนนสำหรับคัดเลือก ทั้งหมดก็เพื่อที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนพลังงานใช่หรือไม่ ทั้ง ๆ ที่หลักเกณฑ์อันนี้มันมีมาปัญหามาตั้งแต่การคัดเลือกใน รอบปี 2565 แต่รัฐบาลก็ยังคงเลือกที่จะเดินหน้ารับซื้อพลังงานสะอาด จำนวนกว่า 3600 MW เหมือนเดิม โดยยังคงใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับรอบ ปี 2565 ที่มีประเด็นปัญหาเหมือนเดิม
 
ประเด็นที่ 4 คือ จากการรับซื้อ 3,632 MW นี้ จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก 2,168 MW และกลุ่มที่ 2 คือ ที่เหลือกลุ่มที่เป็นปัญหา คือ กลุ่มแรก 2,168 MW ได้มีการกำหนดเงื่อนไขผู้ที่จะเข้าร่วมการคัดเลือกว่า ให้เฉพาะคนที่เคยผ่านการคัดเลือกรอบแรกเมื่อปี 2565 เท่านั้น เหมือนเป็นการล็อคมงไว้แล้วไม่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาแข่งขันในการรับซื้อไฟฟ้าของกลุ่มนี้เลยด้วยซ้ำ

ในประเด็นนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมามีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ได้มีการพูดถึงหลักเกณฑ์ที่จะใช้ในการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรอบ 3600 MWนี้ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลทางด้านพลังงาน ได้มีการท้วงติงในเรื่องนี้ไปแล้วว่า การคัดเลือกรอบ 5,203 MW จบลงไปแล้ว ไม่ควรนำมาเกี่ยวกัน เพราะฉะนั้นการที่ ล็อกโควตาให้แค่เฉพาะคนบางกลุ่ม ไม่เปิดให้ผู้เล่นใหม่เข้าร่วมด้วยอาจเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้เข้าร่วมรายอื่นๆ ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ

\'ณัฐพงษ์\' ชำแหละปมค่าไฟแพง จี้นายกฯ แก้ไข

คำถามที่สำคัญในประเด็นนี้ก็คือ ทำไมในเมื่อมันมีการท้วงติงจากหน่วยงานอย่าง กกพ. แต่รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานถึงยังเดินหน้ามติออกมาเพื่อล็อคโควต้าให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอีกไม่ยอมเปิดให้ผู้เข้าแข่งขันรายใหม่เข้าร่วม หรือที่รัฐมนตรีไม่ยอมฟังความเห็นของ กกพ. เพราะ รู้อยู่แล้วว่ากลุ่มทุนพลังงานไหนจะได้และต้องการล็อคโควต้าให้รายเดิม ใช่หรือไม่

ประการที่ 5 การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพิ่มอีกถึง 3,632 MWโดยไม่มีความจำเป็น ไม่ได้หมายความว่า เราไม่ต้องการพลังงานสะอาดในประเทศ ประเทศเราจำเป็นต้องการไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเป็นจำนวนมาก แต่ปัญหามันอยู่ที่วิธีการจัดหา ถ้าเป็นกระบวนการจัดหาแบบที่ผมพูดมาทั้งหมดว่า มันจะทำให้ภาระของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น จากการที่ไปซื้อไฟแพงมาก ๆ มาจากเอกชนหรือมาจากกลุ่มทุนพลังงาน กระบวนการแบบนี้ไม่ควรทำ

เรามีวิธีการแบบอื่นที่จะทำให้ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ โดยไม่เป็นภาระต่อพี่น้องประชาชน อย่าง Direct PPA หรือการที่อนุญาตให้ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดขายไฟฟ้าให้กับผู้ซื้อไฟฟ้าได้โดยตรง โดยจ่ายค่าเช่าระบบสายส่งของการไฟฟ้า วิธีนี้ดีกว่า เพราะจะไม่เป็นภาระกับประชาชนผู้ผลิตไฟกับผู้ซื้อไฟเจรจาขายไฟกันเอง โดยที่รัฐไม่จำเป็นต้องไปกำหนดราคาให้เขา ถ้าเจ้าของโรงไฟฟ้าอยากขายแพงก็ไม่มีใครซื้อ หรือต่อให้ซื้อกันแพงมาก ๆ คนที่แบกรับต้นทุนก็คือผู้ประกอบการรายเดียว ไม่ใช่ประชาชน ซึ่ง Direct PPA นั้นสอดคล้องและตรงกับความต้องการของเอกชนที่ต้องการไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากกว่า

มติ กพช. มิ.ย. 2567 ก็พึ่งอนุมัตินโยบาย Direct PPA ให้มีการซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงได้ ถึง 2,000 MW เพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการที่ต้องการไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดอยู่แล้ว แทนที่รัฐจะประกาศรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดจำนวน 3,632 MW เอง รัฐควรจะไปเพิ่มปริมาณสำหรับ Direct PPA แทนจาก 2,000 MW ก็เพิ่มเป็น 5,600 MW ดีกว่าตรงกับเป้าหมายมากกว่า ไม่เป็นภาระผู้บริโภค

ข้อพิรุธทั้ง 5 ข้อที่เกิดขึ้นกับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรอบเพิ่มเติมปี 2567 จำนวนกว่า 3,600 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ราคารับซื้อที่แพงเกินไปจะส่งผลต่อต้นทุนค่าไฟของพี่น้องประชาชน หรือเป็นการกีดกันการแข่งขันไม่ให้ผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาดพลังงาน รวมไปถึงรัฐบาลมีทางเลือกอื่นในการจัดหาพลังงานสะอาดเพิ่มเติม โดยไม่เป็นภาระของประชาชนอย่าง Direct PPA ทั้งหมดนี้ก็น่าจะเป็นเหตุผลที่เพียงพอในการยกเลิกการจัดหาพลังงานสะอาดจำนวน 3,600 MW ในปี 67 นี้ ยกเลิกหรือหยุด 

\'ณัฐพงษ์\' ชำแหละปมค่าไฟแพง จี้นายกฯ แก้ไข

แม้ว่า การประกาศรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดทั้งรอบ 5,200 MWหรือรอบใหม่ 3,600 MW จะเริ่มต้นโดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แต่ตามเงื่อนไขของการรับซื้อระบุชัดเจนว่า กพช. ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้นมีอำนาจในการยกเลิกการรับซื้อได้ก่อนการลงนามซื้อขายไฟฟ้าหรือแม้แต่การออกมติใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การรับซื้อ กำหนดราคารับซื้อใหม่ที่เป็นธรรมก็สามารถทำได้ แต่รัฐบาลเศรษฐาก็ไม่ยอมทำอะไรก็เดินหน้าลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชนเรื่อยมา ทั้ง ๆ ที่ มีข้อพิรุธในหลายประการที่ได้กล่าวไป และรัฐบาลแพรทองธาร ก็กำลังจะสานต่อ ขบวนการค่าไฟแพงอีกครั้ง 

ขณะที่นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า มีข้อเรียกร้องที่อยากส่งไปยังนายกรัฐมนตรีในฐานะเป็นประธาน กพช.ที่มีอำนาจเต็มในการหยุดยั้งขบวนการที่พวกเราตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นขบวนการขูดรีดประชาชน เป็นขบวนฟอกเขียวเอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มธุรกิจหรือไม่ ซึ่งต้องย้อนมาดูโจทย์ใหญ่ในช่วง 10 ที่ผ่านมา ในขณะที่ประชาชนมีหนี้สินล้นพ้นตัว ตัวเลขหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ 90 % ต่อ GDP ซึ่งมีหนี้สินสูงถึง 6 ล้านล้านบาท แต่เจ้าสัว 50 คนแรกรวยขึ้นกว่า 2 ล้านล้านบาท ตัวเลขนี้กำลังสะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เพิ่มช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำมากขึ้นทุกวัน 

นายณัฐพงษ์ กล่าวอีกว่า พรรคประชาชนไม่ได้ค้านทุน ตราบใดที่กลุ่มสามารถส่งออกสินค้าและบริการที่เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับระบบเศรษฐกิจไทย ดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศกลับเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ในประเทศพวกเราสนับสนุนและเป็นหน้าที่ของรัฐบาลทุกชุดที่จะต้องสนับสนุนกลุ่มทุนเหล่านั้นให้เติบโตในเวทีโลก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ ก็คือกลุ่มทุนที่เอารัดเอาเปรียบและสูบเลือดสูบเนื้อประชาชน แล้วถ่างช่องว่างช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำมากขึ้นทุกวัน ซึ่งกลุ่มทุนพลังงานก็เป็นกลุ่มทุนเหล่านั้นทำให้ประชาชนเสียค่าไฟที่แพงกว่าความเป็นจริง แต่เงินทุกบาททุกสตางค์นั้นกลับกำลังไหลกลับเข้าสู่กระเป๋าเจ้าสัว 

นายณัฐพงษ์ กล่าวด้วยว่า สิ่งนี้เป็นที่พรรคก้าวไกลจนถึงพรรคประชาชนสื่อสารมาโดยตลอด คือ แผนพลังงานแห่งชาติมีการวางแผนการผลิตไฟฟ้าที่สูงเกินกว่าความจำเป็น ถึง 49 % ของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ยกตัวอย่าง ในเดือน กันยายนที่ผ่านมามีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 7 ใน 13 โรงที่ไม่ได้เดินเครื่องการผลิต แต่ประชาชนทุกคนยังต้องเสียค่าไฟให้กับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่องเหล่านั้นถึง 2,400 ล้านบาท หากลองหารจำนวนครัวเรือนในประเทศไทย แปลว่า ในเดือนกันยายนที่ผ่านมาบ้านทุกหลังกำลังจะต้องเสียค่าไฟเกินกว่าความเป็นจริงเดือนละ 100 บาทต่อหลังเรือนไปเข้ากระเป๋าเจ้าสัวอย่างไม่มีความจำเป็น 

\'ณัฐพงษ์\' ชำแหละปมค่าไฟแพง จี้นายกฯ แก้ไข

หัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลอยากสนับสนุนพลังงานสะอาดหรือสัญญาซื้อขายโดยตรงสามารถทำได้โดยตรงอยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องให้สัญญาสัมปทานที่ไม่มีการประมูลแบบนี้ ซึ่งรัฐบาลทั่วโลกกำลังรับซื้อพลังงานสะอาดที่ถูกกว่า แต่รัฐบาลไทยกลับกำลังมอบสัมปทานให้กับเจ้าสัวกลุ่มทุนพลังงานในประเทศ​ ยกตัวอย่างในพลังงานแสงอาทิตย์ ตอนนี้ กฟผ.มีโครงการโซล่าลอยน้ำที่ผลิตได้ที่ต้นทุนหน่วยละ 1.50 บาท แต่ กกพ.กลับให้รัฐบาลรับซื้อพลังงานแสงอาทิตย์ในราคาหน่วยละ 2.20 บาท แพงกว่ากันถึงหน่วยละ 70 สตางค์ 

“นี่คือสิ่งหนึ่งที่กำลังสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลในปัจจุบันกำลังใช้นโยบายของรัฐในการให้สัมปทานที่ไม่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เพื่อที่จะเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนบางกลุ่มหรือไม่” นายณัฐพงษ์ กล่าว  

หัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวอีกว่า เราได้คำนวณออกมาว่า เฉพาะ 3,600 MW จะทำให้ประชาชนต้องรับซื้อพลังงานเกินจริงถึง 4,162 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นตลอดอายุสัมปทาน 25 ปีจะเป็น 104,050 ล้านบาท ถ้านายกฯ ไม่ออกมาหยุดยั้งขบวนการที่สูบเลือดสูบเนื้อประชาชนแบบนี้ อีก 25 ปีข้างหน้า คนไทยจะมอบเงินออกกระเป๋าที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวไปเข้ากระเป๋าเจ้าสัวอย่างไม่มีความจำเป็น 

สำหรับ 5,200 MW ซึ่งสัมปทานสิ้นสุดไปแล้ว เราได้คำนวณเฉพาะในส่วนของไฟฟ้าพลังงานลมและพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ก็เกิดความเสียหายไปแล้ว 9 หมื่นกว่าล้านบาทตลอดอายุสัญญาสัมปทาน 25 ปี 

ส่วน 3,600 MW อีกแสนกว่าล้านเรายังสามารถหยุดยั้งได้ อยู่ที่เจตจำนงค์และการใช้อำนาจที่ถูกต้องของรัฐบาลชุดนี้ รวมถึงนายกฯ ที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะขบวนการเกิดขึ้นตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ส่งผ่านมายังรัฐบาลเศรษฐาจนถึงรัฐบาลแพทองธาร ซึ่งพวกเราได้อภิปรายเรื่องนี้ต่อ นายกฯ ในการแถลงงบประมาณไปแล้ว นายกฯ ก็อยู่ ดังนั้นจึงปฏิเสธว่า ไม่รับรู้ไม่ได้ และอยากย้ำอีกครั้งว่า นายกฯ เป็นประธาน กพช.ที่มีอำนาจเต็มในการหยุดยั้งขบวนการนี้ 

“นายกฯ สามารถหยุดยั้งขบวนการสูบเลือด สูบเนื้อประชาชนได้ทันที ข้อแรก อยากให้ยกเลิกการซื้อโรงไฟฟ้าหมุนเวียน ยุติการดำเนินการสัมปทานไฟฟ้าหมุนเวียน 3,200 MW ส่วนที่สอง คือ สัญญาสัมปทาน 5,200 MW ไปแล้ว ตอนนี้เหลืออยู่ประมาณ 2,000 MW ที่ยังไม่เซ็นสัญญาลงนามให้เริ่มการรับซื้อไฟฟ้าและสร้างโรงไฟฟ้า โดยตามเงื่อนไขของ กพช. ระบุไว้ชัดเจนว่า ถ้ายังไม่มีการเซ็นสัญญาเป็นอำนาจเต็มของ กพช.ที่จะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหรือยกเลิกโครงการได้ ดังนั้นในฐานะผู้นำฝ่ายค้านจึงอยากจะส่งต่อข้อเรียกร้องให้ดำเนินการทั้งสองข้อนี้โดยเร็ว” นายณัฐพงษ์ กล่าว

นายณัฐพงษ์ กล่าวด้วยว่า พรรคประชาชนอยากจะเชิญชวนประชาชนให้ร่วมกันติดตามวาระนี้อย่างจริงจัง ให้เป็นวาระทางสังคมเพื่อยุติกระบวนการแสนกว่าล้านบาท อย่าให้ขบวนการแบบนี้เดินหน้าต่อไปอีก ทั้งนี้พรรคยินดีเป็นเจ้าภาพให้เอกชนที่เสียประโยชน์จากการเข้าร่วมขอรับสัมปทานและมีการกีดกันการประมูล ถ้าเสียประโยชน์สามารถติดต่อมาที่พรรคประชาชน เพื่อฟ้องร้องศาลปกครองเพื่อยุติขบวนการนี้อย่างถึงที่สุด