'กมธ.การเมือง' สอบปมตากใบ 'สุณัย แฉหมายอินเตอร์โพล ไม่มีชื่อ 'พิศาล'

'กมธ.การเมือง' สอบปมตากใบ 'สุณัย แฉหมายอินเตอร์โพล ไม่มีชื่อ 'พิศาล'

"กมธ.การเมือง" สว. สอบปมคดีตากใบ เชิญองค์กรสิทธิสากล ร่วมพิจารณา "สุณัย" แฉ หมายอินเตอร์โพล ไม่มีชื่่อ "พิศาล" ซัดเป็นบรรทัดฐาน จนท.รัฐไม่ถูกดำเนินคดี

ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ที่มีนางอังคณา นีละไพจิตร สว. เป็นประธาน เพื่อพิจารณาติดตามเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการลอยนวลพ้นผิด กรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมบริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง และรวมถึง นายสุณัย ผาสุก ผู้แทน Human Rights Watch Asia และ Ms. Katia Chirizzi ผู้แทนข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน สหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชีย และแปซิฟิก ทั้งนี้พบว่า  นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เข้าร่วมรับฟังด้วย 

ในการชี้แจงของ นายชัยชาญ ยมจินดา อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า จากกรณีที่ทางอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 8 คนจากคดีตากใบนั้น  ตนไม่มีสิทธิ์ทำอะไรทั้งสิ้น แม้กระทั่งการสอบสวน นอกจากร่างฟ้อง จนกว่าจะได้ผู้ต้องหาทั้ง 8 คน และรอว่าเมื่อถึงวันที่ 25 ตุลาคม เวลา 16.00 น.ตามเวลาราชการ หากพนักงานสอบสวนสามารถนำตัวผู้ต้องหา 8 คนหรือคนใดคนหนึ่งมา สามารถส่งฟ้องต่อได้  แต่หากเกินเวลาหรือตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคมเป็นต้นไป คดีจะถือว่าขาดอายุความ

"หากคดีขาดอายุ พนักงานอัยการต้องสั่งยุติคดี เพราะไม่สามารถส่งต่อไปที่ศาลได้ และไม่ใช่อำนาจของอัยการปัตตานี แต่ต้องส่งเรื่องไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อให้สั่งยุติคดีอีกครั้ง จากนั้นจึงจะต้องส่งกลับมาที่อัยการปัตตานีเพื่อส่งแก้คดี แล้วแจ้งให้ญาติผู้เสียชีวิตทราบว่าคดีนี้ขาดอายุความแล้ว ไม่สามารถส่งฟ้องศาลได้" นายชัยชาญ กล่าว

ด้าน นายสุณัย กล่าวว่า คดีตากใบเป็นการตอกย้ำว่าประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนขนาดใหญ่โดยเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเมื่อเกิดขึ้นกลับไม่มีการรับผิดชอบจากผู้กระทำ จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมองค์กรแห่งชาติให้ความสนใจและติดตามเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้คดีตากใบยังเป็นความหวังว่าวงจรของการละเมิดสิทธิมนุษยชนขนาดใหญ่ โดยเจ้าหน้าที่รัฐจะสามารถถูกยับยั้งได้

"ผมได้เช็กกับองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรืออินเตอร์โพลแล้ว ไม่พบว่าในฐานข้อมูลของอินเตอร์โพลมีชื่อของพล.อ.พิศาล วัฒนวงศ์คีรี อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย  ซึ่งผลที่ออกมาจะเป็นการตอกย้ำบรรทัดฐานว่า อย่างไรก็ตามเรายังไม่สามารถเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ ส่วนคำพูดที่บอกว่ารับเงินไปแล้วก็จบ ยังไงก็ไม่จบเพราะนั่นไม่ใช่สิ่งทดแทนความยุติธรรม" นายสุณัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในที่ประชุมกมธ. นายรอมฎอน ร่วมตั้งคำถามด้วยว่า  รัฐบาลไทยร้องขอหมายอินเตอร์โพล แค่ 3 คนเท่านั้น โดยไม่ใช่ผู้ต้องหาในคดีตากใบแต่อย่างใด จึงขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบอีกครั้ง จากข้อมูลล่าสุดเท่าที่มี ผู้ต้องหาทั้ง 14 คน เป็นไปได้ว่าจะอยู่สถานที่ไหน ขอให้เปิดเผยมาโดยไม่ต้องกลัวว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี เพราะเวลานี้ประชาชนต้องการรับทราบข้อมูลของผู้ต้องหาทั้งหมด โดยเฉพาะอยู่ต่างประเทศกี่คน ประเทศใดบ้าง อยู่ในประเทศไทยกี่คน  

ทำให้ พ.ต.อ.รังสี มั่นจิตร หัวหน้างานซักถามศูนย์พิทักษ์สันติ สถานีตำรวจภูธรภาค 9 กล่าวว่ายืนยันว่ากองการต่างประเทศได้ออกหมายเลขแล้วเรียบร้อย โดยบุคคล 2 คนที่ออกจากต่างประเทศอย่างถูกต้องคือสหราชอาณาจักรและญี่ปุ่น จึงได้ทำหนังสือถึงสถานทูตแล้ว ส่วนผู้ต้องหาที่เหลือ กองสืบของแต่ละภูมิภาคได้แจ้งกลับมาว่า ไม่ปรากฏพบ คาดว่ามีการหลบหนีผ่านช่องทางธรรมชาติ จึงทำหนังสือถึงกรมศุลกากร ซึ่งระเบียบปฏิบัติต้องอาศัยการประสานกับตำรวจท้องที่นั้นๆ ไม่สามารถจับกุมได้ทันที ส่วนยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ตนยังไม่ทราบ ขณะที่ผู้ต้องหาที่เป็นข้าราชการทหารนั้น ได้ตรวจค้นในค่ายทหารจังหวัดลำปางและแสดงหมายจับแล้ว แต่ไม่ได้พบตัว.