'ชัยธวัช' ผิดหวังสภาฯตีตกข้อสังเกต 'นิรโทษกรรม' แข่งจงรักภักดีไม่เป็นผลดี

'ชัยธวัช' ผิดหวังสภาฯตีตกข้อสังเกต 'นิรโทษกรรม' แข่งจงรักภักดีไม่เป็นผลดี

แกนนำพรรคส้มแถลงทันควัน 'ชัยธวัช' รับผิดหวัง สภาฯตีตกข้อสังเกตรายงานศึกษา 'นิรโทษกรรม' สะท้อนรัฐบาลขาดเอกภาพ ไม่ยอมออกกฎหมายเอง แต่โยนสภาฯ ลั่นแข่งกันแสดงความจงรักภักดีล้นเกิน ไม่เป็นผลดี

เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2567 ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม นำโดยนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการฯ นายชัยธวัช ตุลาธน ในฐานะกรรมาธิการฯ และ น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคประชาชน ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการฯ แถลงภายหลังที่ประชุมสภามีมติไม่เห็นข้อสังเกตของคณะกรรมการธิการฯ

นายชัยธวัช กล่าวว่า ค่อนข้างน่าผิดหวัง แม้จะเห็นอย่างชัดเจนตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ว่าพรรคร่วมรัฐบาลเองไม่มีเอกภาพในเรื่องการนิรโทษกรรม ซึ่งเมื่อช่วงเช้าของวันนี้ พรรคเพื่อไทยดูเหมือนจะมีมติให้เห็นชอบกับข้อสังเกต แต่สุดท้ายเมื่อผลโหวตออกมา เสียงที่เห็นชอบจำนวน 140 กว่าเสียง น่าจะมาจากพรรคฝ่ายค้านเกือบทั้งหมด เท่ากับว่าสภาจะไม่ส่งข้อสังเกตในรายงานไปให้รัฐบาล ซึ่งข้อเสนอหลายเรื่องมีความสำคัญ และสามารถนำไปใช้ในร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมของรัฐบาลเองได้

นายชัยธวัช กล่าวอีกว่า ผลจากมติวันนี้ ในทางการเมืองสะท้อนว่ามีความไม่แน่นอนอย่างสูง ว่ารัฐบาลนี้จะเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองฉบับของรัฐบาลก่อนการเปิดสมัยประชุมหน้าเองหรือไม่ รวมถึงอาจจะไม่มีมาตรการใดๆ มาคลี่คลายปัญหาความรุนแรงของคดีทางการเมืองในปัจจุบัน และอนาคต อย่างไรก็ตาม ตนในฐานะกรรมาธิการฯ รวมถึง สส.พรรคประชาชน ก็ยังหวังจะเห็นร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเสนอมาเข้าสู่สภาเพิ่มเติม ไม่ว่าจะจากรัฐบาลเอง หรือจากพรรคเพื่อไทย

เมื่อถามว่า สาเหตุของการลงมติไม่เห็นชอบในครั้งนี้ มาจากการนิรโทษกรรมคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และมาตรา 112 ใช่หรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า สาเหตุหลักไม่ได้ตรงไปตรงมาขนาดนั้น เพราะรายงานไม่ได้เป็นการผูกมัดว่า คณะรัฐมนตรีต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบใด เพียงแต่เป็นข้อสังเกตให้รับไปพิจารณา ซึ่งมีหลายทางเลือก โดยสาเหตุน่าจะมาจากปัญหาเอกภาพภายในคณะรัฐมนตรี ซึ่งสะท้อนว่ามีแนวโน้มที่รัฐบาลจะไม่มีร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของรัฐบาลยื่นเข้ามา โดยเมื่อไม่กี่วันก่อน นายกรัฐมนตรีก็พูดในทำนองว่า เรื่องนิรโทษกรรมให้เป็นเรื่องของสภา

"ผมคิดว่ามีนักการเมืองจำนวนหนึ่ง หากอ้างคำพูดของ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ว่า แข่งกันแสดงความจงรักภักดี ผมขอเติมไปด้วยว่า แข่งกันแสดงความจงรักภักดีแบบล้นเกิน ในทางที่ผิด ผมอยากให้นักการเมือง รวมถึงประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่จงรักภักดี และปรารถนาดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ลองพิจารณาอีกมุมหนึ่งว่า ควรใช้โอกาสในการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ซึ่งรวมมาตรา 112 เข้ามาด้วย แต่จะเป็นแบบมีเงื่อนไขหรือไม่อย่างไร ก็แล้วแต่ จะเป็นโอกาสคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา" นายชัยธวัช กล่าว

นายชัยธวัช กล่าวด้วยว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีความคิด ความรู้สึกทางการเมือง ที่ไปเกี่ยวพันกับประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ อยู่ในความขัดแย้งทางการเมืองด้วย โดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร ซึ่งส่วนตัวมองว่า จะส่งผลดีมากกว่า การยืนยันกระต่ายขาเดียว ว่าการนิรโทษกรรมเท่ากับการไม่จงรักภักดี ที่สุดท้ายอาจจะส่งผลกระทบเชิงลบกับสถาบันพระมหากษัตริย์เสียเอง มันเป็นเรื่องง่ายที่จะแข่งกันแสดงความจงรักภักดี แต่การแสดงออกแบบล้นเกินเช่นนี้ คนที่ได้ประโยชน์ คือคนที่แข่งกันเฉพาะหน้า แต่ไม่ต้องมีใครรับผิดชอบ กับผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต" นายชัยธวัช กล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ถ้าไล่เรียงกันชัด ๆ การเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการฯ นี้ขึ้นมา ก็เป็นญัตติของ สส.พรรคเพื่อไทยเอง ทั้งๆ ที่อดีตพรรคก้าวไกลในเวลานั้น มีความเห็นว่า การนิรโทษกรรมสามารถทำได้เลย โดยไม่ต้องศึกษาแนวทางด้วยซ้ำ แต่ในเมื่อเป็นแนวทางของรัฐบาลที่ต้องการให้มีการศึกษาก่อน สุดท้ายพวกเราก็เข้าร่วม ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในปัญหา ว่า ตกลงแล้วรัฐบาลนี้ จะเอาอย่างไร ต่อการนิรโทษกรรม เพราะรัฐบาลเคยพูดว่า ต้องการแก้ไขปัญหาจากนิติสงครามรูปแบบต่างๆ แต่ตกลงแล้ว สถานะของคำพูดที่เคยพูดเอาไว้ จะเป็นอย่างไร เพราะความเชื่อมั่นของประชาชนจะเหลือน้อย เราเองในฐานะพรรคประชาชน ยังยืนยันจะเดินหน้าผลักดันให้เกิดการนิรโทษกรรม เพื่อเป็นทางออกไปสู่การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพราะตอนนี้ก็มีร่างที่นายชัยธวัชเคยได้เสนอไว้